วิธีการบริหารความสัมพันธ์ต่าง Generation ในองค์กร ซึ่งเป็นหนึ่งในเคล็ดลับแห่งความสำเร็จ ผ่านแนวคิดของ พชร อารยะการกุล (โบ๊ท) ผู้บริหารสูงสุด บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในการบริหารนำพาองค์กรคนรุ่นใหม่ สู่ความเข้มแข็ง

เรื่องของ Generation (เจเนอเรชัน) กลายเป็นประเด็นสำคัญของสังคมมนุษย์ในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด และทุกคนต้องปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันให้ได้ เพราะพฤติกรรมของกลุ่มคนในแต่ละช่วงวัยจะเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ เหตุการณ์สำคัญทางสังคม เทคโนโลยี ค่านิยม ที่พบเจอเข้ามาเป็นตัวกำหนด 

เหตุผลทั้งหมดทำให้แต่ละกลุ่มช่วงอายุต่างมีความคิดที่หลากหลาย และไม่เหมือนกัน ซึ่งแต่ละช่วงวัยมีจุดแข็ง จุดอ่อน และความคิดที่แตกต่างกันออกไป อาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจ หรือเกิดความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถปรับตัวเข้าหากันได้ในแต่ละเจเนอเรชัน จนนำพามาซึ่ง ‘ความขัดแย้ง’ ที่เห็นกันอยู่มากมายในปัจจุบัน 

ความแตกต่างของเจเนอเรชัน จึงเป็นหัวข้อสำคัญ ข้อหนึ่งในการทำงานร่วมกันในองค์กร โดยความหลากหลายนี้ เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ดูแล และบริหารองค์กร ต้องมีแผนรับมือ และวิธีการจัดการ กับความต่างของเจเนอเรชัน เพื่อให้องค์กรได้เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันให้ได้ เพื่อให้ความหลากหลายจากคนเหล่านี้ขับเคลื่อนต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

ความแตกต่างนี้ มองในข้อดีอาจทำให้องค์กรมีความหลากหลายทางความคิด ไม่ว่าจากประสบการณ์ที่เคยเจอ หรือประสบการณ์ความคิดใหม่ๆ ที่ทำให้องค์กรขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว แต่ในทางกลับกัน ความต่างของเจเนอเรชัน หากจัดการได้ไม่ดี อาจทำให้เกิดปัญหาได้ เนื่องจากการปรับตัวที่เข้ากันได้ มีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันได้ อาจนำพามาซึ่งปัญหา และรอยร้าวขององค์กรได้ในอนาคต

...

ประเด็นเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจในยุคปัจจุบัน โดยทางทีมงานไทยรัฐออนไลน์ได้มีโอกาส พูดคุยกับ โบ๊ท พชร อารยะการกุล ผู้บริหารสูงสุด บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทคนรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจด้านการปรึกษากลุยทธ์ และการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งด้านธุรกิจ และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการสร้างสรรค์และนำเสนอบริการ 

แน่นอนว่า บริษัท บลูบิค กรุ๊ป เป็นหนึ่งในธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่ถูกขับเคลื่อน โดย โบ๊ท พชร นักธุรกิจไฟแรง เจเนอเรชันวาย (Generation Y) ที่คอยบริหารอยู่เบื้องหลังที่นำพาบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดดสู่ความสำเร็จ 

ทั้งหมดนำพามาซึ่งความสนใจ ในการจัดการ และการบริหารความสัมพันธ์ของคนในองค์กรบลูบิค ที่รวมพนักงานหัวกระทิในด้านต่างๆ ที่นอกจากมากความสามารถแล้ว ยังมีกลุ่มคนที่หลากหลายเจเนอเรชัน อยู่ร่วมกันในองค์กรด้วย โบ๊ท พชร อารยะการกุล มีแนวคิด และการจัดการอย่างไร

จุดแข็งในการทำงานของคนในแต่ละ Generation 

CEO บลูบิก เล่าถึงมุมมองความแตกต่างของเจเนอเรชัน ว่า “แน่นอนทุก Generation มีความแตกต่างอยู่แล้ว เพราะในแต่ละช่วงวัยก็จะมีจุดแข็ง และจุดอ่อน ที่ไม่เหมือนกัน”

“ยกตัวอย่าง เช่น คนที่อาจจะอยู่ในยุค Baby Boomer หรือ Gen X เขาอาจจะมีความทุ่มเทให้กับองค์กรค่อนข้างเยอะ เพราะเขามองถึงความมั่นคงของการทำงานเป็นหลัก ซึ่งนี่คือ จุดแข็ง ที่นำพาองค์กรไปในทิศทางที่ดีได้ เพราะคนกลุ่มนี้ เขาสามารถที่จะโฟกัสในงานที่เขาทำได้ในระยะยาว รวมทั้งยังเป็นกำลังสำคัญให้กับบริษัทในการทำงานในระยะยาวได้” โบ๊ท พชร กล่าว

ผู้บริหารสูงสุด บริษัท บลูบิค กรุ๊ป กล่าวต่อว่า “นอกจากนี้เจเนอเรชันที่เป็นคนรุ่นใหม่ ก็มีจุดแข็งที่น่าสนใจ แน่นอนเขาอาจจะเป็นคนที่รักอิสระมากกว่าคนรุ่นก่อน แต่กลุ่มคนเหล่านี้ มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่เป็นเลิศ พวกเขาพยายามสร้างวิธีการทำงานแปลกใหม่ที่มุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ และมักจะสร้างตะลึงให้กับบริษัทเป็นประจำ”

สรุปได้ว่า จุดแข็ง และจุดอ่อนของคนในแต่ละเจเนอเรชัน สามารถสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้ เช่น Baby Boomers หรือ Gen X อาจทุ่มเทให้กับองค์กร มุ่งมั่นทำงาน มุ่งเน้นความมั่นคง หรือคนเจเนอเรชันใหม่ๆ ที่รักอิสระ คิดสร้างสรรค์ มุ่งเน้นผลลัพธ์ 

เห็นได้ว่าความแตกต่างของเจเนอเรชันนี้ เมื่อมาอยู่ในองค์กรเดียวกัน สามารถช่วยกันกลบจุดอ่อนของกันและกันได้เป็นอย่างดี สามารถสอนประสบการณ์ในการทำงานให้แก่กันได้ ซึ่งหากมองในภาพรวม ทั้งหมดเป็นผลดีอย่างมากต่อองค์กร เพราะการทำงานเป็นทีมระหว่างคนต่างเจเนอเรชันซึ่งนี่แหละคือ พลังขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าอย่างแท้จริง

...

การบริหารความสัมพันธ์ระหว่าง Generation ในองค์กร

จากคำตอบข้างต้น ทำให้ทีมงานไทยรัฐออนไลน์ ต้องการที่จะทราบถึงวิธีการบริหารความสัมพันธ์ของบุคคลต่างวัย ที่เป็นพลังขับเคลื่อนองค์กรที่สำคัญ โบ๊ท พชร แห่ง Bluebik มีแนวทาง และวิธีบริหารความสัมพันธ์ระหว่าง เจเนอเรชัน ในองค์กรนี้อย่างไร

โบ๊ท Bluebik เล่าถึงวิธีการบริหารความสัมพันธ์นี้ว่า “ข้อแรก คือ เราก็ต้องให้ทุกคนเข้าใจถึงความแตกต่างของเจเนอเรชัน ตรงนี้ก่อน รวมถึงเข้าใจจุดแข็งจุดอ่อนซึ่งกันและกัน ทั้งหมดต้องเกิดขึ้นโดยไม่มีการแบ่งแยกช่วงอายุ หรือว่าเจเนอเรชันไหนเป็นเจเนอเรชันจะดีที่สุด”

“ข้อที่ 2 ผมมองว่า ตัวผู้นำต้องเป็นแบบอย่างที่ดี และต้องแสดงให้เห็นการว่าเราสามารถอยู่ร่วมกับทุกๆ เจเนอเรชันได้ เพราะถ้าเราเป็นแบบอย่างที่ดีในองค์กรได้ คนที่เหลือในองค์กรทั้งหมด จะเกิดการปรับตัว และทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างวัยได้เช่นกัน”

“ส่วนข้อที่ 3 ผมคิดว่าเรื่องที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือต้องหากิจกรรมต่างๆ ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละเจเนอเรชัน โดยที่กิจกรรมเหล่านี้ต้องเคารพถึงสิทธิ และเสรีภาพของแต่ละช่วงอายุด้วย เพราะแต่ละคนก็อาจจะมีความคิดที่ไม่เหมือนกับเรา โดยกิจกรรมเหล่านี้ มันอาจจะเป็นกิจกรรมที่คนในองค์กรมีความสนใจร่วมกัน หรืออะไรต่างๆ ให้เขาเกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รู้จักกันมากขึ้น” 

“โดย 3 ข้อหลักๆ ที่ผมกล่าวไปทั้งหมด เป็นสิ่งที่องค์กรของเราได้ลงมือทำ  หรือซึ่งองค์กรส่วนใหญ่ก็มีกิจกรรมพวกนี้ทำ และคำนึงถึงกัน เพื่อที่จะดึงความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชันออกไป และนำพามาซึ่งศักยภาพที่หล่อหลอมมาเป็นความสามัคคีแทน” โบ๊ท พชร CEO แห่ง Bluebik กล่าว

...

แนวทางการบริหาร จัดการความสัมพันธ์ระหว่างวัยของบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด จะใช้การสื่อสาร และทำความเข้าใจจุดแข็ง-จุดอ่อนของแต่ละเจเนอเรชัน ทั้งนี้ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์และส่งเสริมให้พนักงานเพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานที่เคารพความแตกต่างและส่งเสริมความสามัคคี โดยมีผู้นำองค์กรเป็นแบบอย่างที่ดีในการอยู่ร่วมกันกับทุกเจเนอเรชัน

ข้อดีของความสัมพันธ์ต่าง Generation ในองค์กร

แน่นอนว่าหากคนในองค์กรสามารถทำงานร่วมกันระหว่างเจเนอเรชั่นได้อย่างเต็มที่ และมองไปในภาพเดียวกัน ก็จะสามารถขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าได้ในระยะยาว โดย โบ๊ท พชร เล่าถึงมุมมองของข้อดีเหล่านี้ว่า “ค่านิยมของแต่ละเจเนอเรชันเนี่ยถ้าเรามองในภาพรวม ก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง อย่างที่กล่าวไป คือ เจเนอเรชันเก่าๆ มักจะมององค์กรเนี่ยเป็นสถาบันที่เขาจะอยู่ในระยะยาว ข้อดีก็คือ ความภักดี และก็มีความต่อเนื่องในการทำงาน ยืนระยะได้”

“ขณะที่คนที่เจเนอเรชันใหม่ที่มีจำนวนมากขึ้น ก็มีความรู้ในการต่อยอดขององค์กรจะมีเพิ่มขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาอย่างมากมาย สร้างความรู้ ประสบการณ์ใหม่ให้องค์กรได้ ยังไม่รวมถึงเรื่องไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ”

...

“ทั้งหมดหากเกิดความสัมพันธ์ระหว่างเจเนอเรชันที่ดี ค่านิยมเรื่องของช่วงวัยก็จะหมดไป กลายเป็นการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันแทน คนรุ่นเก่าก็จะคอยมอบแง่คิดที่ดี และประสบการณ์ ส่วนคนรุ่นใหม่มอบความรู้ ไอเดียใหม่ให้คนรุ่นก่อนเกิดการเรียนรู้ และต่อยอดได้ ทุกอย่างเสมือนพลังแฝงที่คอยขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างลงตัว เกิดเป็นผลลัพธ์ที่พนักงานทุกเจเนอเรชัน รู้สึกผูกพันกับองค์กร, เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้อย่างสำเร็จ” โบ๊ท พชร อารยะการกุล ผู้บริหารสูงสุด บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด กล่าวทิ้งท้าย

ประวัตโบ๊ท พชร อารยะการกุล ที่หลายคนสงสัยว่าคือใคร

โบ๊ท พชร อารยะการกุล เป็น CEO ของ Bluebik Group (บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด) บริษัทของคนรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจด้านการปรึกษากลุยทธ์ และการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดถึง 6,600 ล้านบาท ซึ่งให้บริการกลยุทธ์ด้านธุรกิจการจัดการนวัตกรรม และเทคโนโลยีให้แก่องค์กรดังในประเทศไทยอยู่มากมาย

พชร อารยะการกุล เป็นบุตรคนโต และเติบโตมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจขายกล้องและธุรกิจ IT Hardware อยู่แล้ว โดยเขาสนใจสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับดิจิทัล ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาสนใจในการเขียนโปรแกรม และการเขียนเว็บ HTML และลงมือทดลองเขียนโปรแกรมมามากกว่า 10 ปี จนได้มาเลือกเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่ง โบ๊ท พชร เคยคว้ารางวัลด้านเขียนโปรแกรมมาหลากหลายเวที รวมถึงได้แชมป์เขียนซอฟต์แวร์ระดับประเทศมาแล้ว

นอกจากนี้ พชร อารยะการกุล ยังมีดีกรีปริญญาโทในสาขาบริหารธุรกิจ กลยุทธ์การตลาด และการเงินที่ Kellogg School of Management, Northwestern University ในประเทศสหรัฐอเมริกา สายการเรียนนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขารู้จักธุรกิจด้านการปรึกษากลุยทธ์ และการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี จนกลายมาเป็นบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด ที่รู้จักกันอยู่ในปัจจุบัน

ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี