ทำความรู้จักการตกหลุมอากาศ และระดับความแปรปรวนอากาศที่เกิดจากการเดินทางโดยเครื่องบิน ในเหตุการณ์ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ321 ที่ลงจอดฉุกเฉินที่สุวรรณภูมิ เหตุจากสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง จนมีผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นอันตรายที่สามารถเกิดขึ้นได้

วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 จากกรณีที่มีรายงานว่า เกิดเหตุเครื่องบินโดยสารของ สายการบิน สิงคโปร์แอร์ไลน์ บนเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER เที่ยวบิน SQ321 ที่มีผู้โดยสารทั้งหมด 211 คน และลูกเรือ 18 คนบนเครื่อง ได้ลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งมีผู้บาดเจ็บกว่า 20 ราย และเสียชีวิต 1 ราย 

โดยทางสิงคโปร์แอร์ไลน์ ได้ออกมาชี้แจงว่า เที่ยวบิน Singapore Airlines เที่ยวบิน SQ321 ที่เดินทางจากลอนดอน (Heathrow) มายังสิงคโปร์ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2024 พบ “สภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง” ระหว่างเส้นทาง เครื่องบินจึงเบี่ยงไปยังกรุงเทพฯ และลงจอดเวลาที่สนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 15.45 น. ตามเวลาท้องถิ่นในวันที่ 21 พฤษภาคม 2024

เครื่องบินตกหลุมอากาศคืออะไร

เครื่องบินตกหลุมอากาศ (Air Pocket) คือ หนึ่งในเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยผู้โดยสารจะรู้สึกเหมือนกับว่าเครื่องบินจะมีการส่าย สั่น และตกลงไปจากระดับการบินเดิมเล็กน้อย ซึ่งหากอากาศมีการแปรปรวนอย่างรุนแรงจะทำให้เกิดความเสียหายได้ 

หลุมอากาศ เกิดจากอากาศส่วนบน และอากาศส่วนล่าง มีความเร็ว และความหนาแน่นในการทำให้เครื่องบินโดยสารเคลื่อนที่แตกต่างกัน เมื่อเครื่องบินเคลื่อนที่ผ่านอาจทำให้เกิดการกระทบ สั่นสะเทือน เหมือนตกหลุม จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้บ่อย เมื่อเครื่องบินโดยสาร บินเข้าไปใกล้รอยต่อระหว่างขอบนอกของกระแสลมกรด (Jet Stream) กับบริเวณสภาพอากาศปกติ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้

...

กระแสลมกรด คือ แถบกระแสลมแรงที่เคลื่อนที่ในเขตโทรโพพอส (เขตแนวแบ่งเขตระหว่างชั้นโทรโพสเฟียร์ กับชั้นสตราโตสเฟียร์) ซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อย และมักจะเกิดร่วมกับ กระแสลมกรด ที่เรียกว่า บริเวณความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส หรือ Clear air turbulence (CAT) ทำให้เครื่องบินจะเกิดการโยนตัวอย่างทันที หรือ ‘การตกหลุมอากาศ’ ซึ่งมีระดับความรุนแรงของความปั่นป่วนนี้อาจอยู่ในขั้นปานกลางถึงขั้นรุนแรง

ระดับความรุนแรง : ความแปรปรวนอากาศ

  • ความรุนแรง ระดับเล็กน้อย : สภาพอากาศเกิดความแปรปรวนเล็กน้อย ผู้โดยสารจะต้องรัดเข็มขัด และอยู่กับที่ โดยสิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินจะไม่ขยับ และอยู่นิ่งกับที่ 
  • ความรุนแรง ระดับปานกลาง : สภาพอากาศเกิดความแปรปรวน โดยผู้โดยสารจะต้องรัดเข็มขัด และอยู่กับที่ ความรุนแรงนี้อาจทำให้ผู้โดยสารอาจถูกโยนตัวเป็นครั้งคราว แม้รัดเข็มขัด และสิ่งของในเครื่องบินอาจเคลื่อนที่ได้
  • ความรุนแรง ระดับรุนแรง : สภาพอากาศเกิดความแปรปรวน ทำให้นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้ชั่วขณะหนึ่ง ผู้โดยสารจะถูกโยนตัวขึ้น - ลง อย่างรุนแรง ขณะรัดเข็มขัด พร้อมกับสิ่งของต่างๆ อาจถูกโยนขึ้น และลอยตัวในอากาศได้
  • ความรุนแรง ระดับรุนแรงมากที่สุด : หนึ่งในระดับที่เกิดขึ้นน้อยมาก ทำให้สภาพอากาศเกิดความแปรปรวน ทำให้นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้เลย เครื่องบินถูกโยนขึ้น - ลง อย่างรุนแรง และอาจสร้างความเสียหายต่อตัวเครื่องบินได้

โดยทางกรมอุตุนิยมวิทยาการบิน กล่าวถึง อันตรายของ CAT (Clear Air Turbulence) ว่า “หากเครื่องบินที่กำลังทำการบินในอากาศ โดยเฉพาะเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ทำการบินในระดับสูงๆ เมื่อเครื่องบินเข้าสัมผัสกับบริเวณของ CAT จะประสบกับความปั่นป่วนของอากาศ เกิดการสั่นสะเทือนของเครื่องบินอย่างรุนแรง ทำให้ผู้โดยสารตกใจ บางครั้งหากรุนแรงในระดับมากที่สุด ทำให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องบินและผู้โดยสารบาดเจ็บได้”

ดังนั้นก่อนทำการบินทุกครั้ง นักบิน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการบินจะต้องศึกษาตำแหน่งของ CAT ให้ละเอียดจากเอกสารประกอบการบิน (Flight folder) และข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว หรือลดความรุนแรงของ CAT เพื่อให้เกิดความสะดวก ความสุข ความปลอดภัยและความมีประสิทธิภาพของการบิน และผู้โดยสาร

ทาง Singapore Airlines ได้กล่าว แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต สิ่งสําคัญของเราคือการให้ความช่วยเหลือที่เป็นไปได้ทั้งหมด แก่ผู้โดยสาร และลูกเรือทุกคนบนเครื่องบิน โดยทางสายการบินกําลังทํางานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในประเทศไทย เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่จําเป็น และส่งทีมไปยังกรุงเทพฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม

ภาพ : istock