ใครบ้างไม่อยากมีความสุข? คนส่วนใหญ่พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้มีความสุข แต่จริงๆแล้วกลับคลุมเครือไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะพบกับ “ความสุขที่แท้จริง” ผลลัพธ์ที่ได้กลายเป็นความพยายามที่ไร้ความหมาย เจอแต่ความสุขปลอมๆจนออกนอกเส้นทางแห่งความสุขไปเรื่อยๆ
ในฐานะจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์ชื่อดังของญี่ปุ่น “ชิอน คาบาซาวะ” นำประสบการณ์กว่า 3 ทศวรรษจากการคลุกคลีกับผู้ที่มีอาการไร้สุข มาศึกษาค้นคว้าและถ่ายทอดเป็นทฤษฎีใหม่ “พีระมิดสามสุข” คู่มือสร้างสุขที่ใช้ได้จริงและเข้าใจง่ายที่สุด โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของประสาทวิทยาศาสตร์และจิตเวช เพื่อพาทุกคนไปลากเส้นเชื่อมต่อความสุขให้ถูกต้อง โดยไม่เสียเวลาออกนอกเส้นทางไปเรื่อยๆ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ชีวิตที่เกิดสมดุลอันยอดเยี่ยม ทั้งด้านสุขภาพ, ความสัมพันธ์ และความสำเร็จ
ขณะที่มีความสุขเกิดอะไรขึ้นในสมองเราบ้าง จากการค้นคว้าพบว่า เวลารู้สึกมีความสุขจะมีสารแห่งความสุขหลั่งออกมากว่า 100 ชนิด แต่มีเพียง 3 ชนิดเท่านั้นที่เป็นส่วนประกอบของความสุขในชีวิตประจำวันที่ควรให้ความสนใจ ได้แก่ เซโรโทนิน, ออกซิโตซิน และโดพามีน
ฐานพีระมิดสามสุข “ความสุขแบบเซโรโทนิน (serotonin) ความสุขด้านสุขภาพ” คือความสุขจากการมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ เป็นสภาวะที่เกิดอารมณ์ความรู้สึกทั้งสบายใจ, สดใส และสดชื่น โดยปกติเซโรโทนินจะหลั่งออกมาในสภาวะที่จิตใจสงบนิ่ง, ไม่คิดฟุ้งซ่าน, มีสติ หรือ สภาวะที่เข้าสู่โหมดสมาธินั่นเอง เช่น ความรู้สึกสดชื่นหลังออกกำลังกายก็จัดว่าเป็นความสุขแบบเซโรโทนิน หรือการออกไปเดินเล่นท่ามกลางท้องฟ้าแจ่มใสในตอนเช้า แล้วรู้สึกสดชื่น อารมณ์เบิกบานสบายใจ นั่นแหละเซโรโทนินหลั่งออกมา
...
ตรงกันข้ามถ้าปริมาณของสารเซโรโทนินลดต่ำลง เราจะควบคุมอารมณ์ความรู้สึกไม่ได้ ทำให้หงุดหงิด, อารมณ์เสียง่าย และขี้โมโห สุดท้ายถ้าเซโรโทนินลดลงจนถึงจุดต่ำสุดอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าเกิดความรู้สึกหม่นหมอง, หดหู่มืดมน, ไม่อยากทำอะไร, ไม่อยากเจอหน้าใคร และไร้เรี่ยวแรงกำลังใจ เลวร้ายสุดถึงขั้นหมดอาลัยตายอยากไม่อยากมีชีวิตอยู่ ความสุขแบบเซโรโทนินเป็นพื้นฐานพีระมิดที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นรากฐานของความสุขแบบอื่นๆ ถ้าสามารถคว้าความสุขแบบเซโรโทนินมาอยู่ในมือ จนร่างกายและจิตใจมั่นคงและสงบนิ่งได้แล้ว ก็จะปูทางไปสู่พีระมิดขั้นต่อไปได้สบายๆ
กลางพีระมิด “ความสุขแบบออกซิโตซิน (oxytocin) ความสุขด้านความสัมพันธ์” คือความสุขจากความรักความผูกพัน, มิตรภาพ, ความสัมพันธ์กับผู้อื่น และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นความสุขที่ต้องมีผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบความรัก, ความสัมพันธ์ในครอบครัว, มิตรภาพ ระหว่างเพื่อนฝูง, เพื่อนร่วมงาน, เพื่อนร่วมกิจกรรม,กลุ่มก๊วนชุมชน หรือแม้แต่ความรู้สึกผ่อนคลายเวลาที่อยู่กับสัตว์เลี้ยงก็ถือเป็นความสุขแบบออกซิโตซิน การมีความสุขแบบออกซิโตซินช่วยให้งานคืบหน้าว่ากันว่า 90% ของความเครียดในที่ทำงานเกิดจากความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน และบรรยากาศในการทำงาน อย่าโดดเดี่ยวตัวเอง หรือทำตัวแปลกแยกจากสังคม เพราะจะเป็นบ่อเกิดของการทำร้ายสุขภาพ และขาดความสุขแบบออกซิโตซิน ทำให้เชื่อมต่อกับผู้คนไม่ได้
ยอดพีระมิดสามสุข “ความสุขแบบโดพามีน (dopamine) ความสุขจากความสำเร็จ” เป็นความสุขจากการบรรลุเป้าหมายในสิ่งที่ปรารถนา ไม่ว่าจะเป็น การได้ทรัพย์สินเงินทอง, ได้ของที่โหยหา, ได้เลื่อนตำแหน่งได้ขึ้นเงินเดือน, ได้มีชื่อเสียงและเกียรติยศ คือความรู้สึกลิงโลดใจเวลาถึงเส้นชัย และตะโกนออกไปว่าสำเร็จแล้ว! ด้วยความที่ “มีราคาต้องจ่ายเสมอ” จากการไขว่คว้าความสุขแบบโดพามีน เมื่อได้มันมาจึงเกิดความดี๊ด๊าปรีดาเป็นพิเศษ กระนั้น โดพามีนเป็นสารเคมีแบบ “ขออีก ขออีก” เวลาที่ได้มาแล้วแต่ยังอยากได้อีก แปลว่าโดพามีนกำลังหลั่งออกมา ข้อดีของโดพามีนคือทำให้เกิดพลังใจอยากเพียรพยายามไม่ถอยเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ฝันไว้ แต่ด้านมืดของโดพามีนคือมีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการเสพติด ทั้งเสพติดการช็อปปิ้ง, ติดการพนัน, ติดเกม, ติดมือถือ, ติดเหล้า, เสพติดความสำเร็จ ก็ล้วนแต่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ
กุญแจของการบรรลุ “ความสุขที่แท้จริง” คือการเรียงลำดับความสุขของชีวิตให้ถูกต้อง จิตใจที่ดีจะอยู่ในร่างกายที่แข็งแรงเท่านั้น ลงทุนกับสุขภาพตัวเอง สะสมความสุขแบบเซโรโทนินไว้เยอะๆ เมื่อรากฐานของพีระมิดความสุขมั่นคงแล้ว เป้าหมายบนยอดพีระมิดจะใหญ่แค่ไหนก็คว้ามาครองได้สบายๆ.
มิสแซฟไฟร์
คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม