ข้าวสารเก็บได้นานแค่ไหน เชื่อว่านี่เป็นคำถามที่หลายคนก็คงอยากรู้ว่าอาหารหลักที่เรากินกันเป็นประจำทุกวันนี้มีอายุในการเก็บรักษาได้นานแค่ไหน และถ้าหากเก็บนานถึง 10 ปีแล้วยังกินได้ไหม คุณค่าทางอาหารและโภชนาการจะยังดีเหมือนเดิมหรือเปล่า

ข้าวสารเก็บได้นานแค่ไหน

บริษัท ยูนิเกรน จำกัด ผู้ผลิตข้าวสารแบรนด์ธรรม ได้ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับข้าวสารว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีวันหมดอายุ สามารถเก็บรักษาได้นาน และยังสามารถนำมาหุงกินได้ตามปกติ หากมีการเก็บรักษาที่ถูกวิธี

ส่วนการที่บนหน้าถุงบรรจุภัณฑ์ข้าวสารระบุวันที่หมดอายุเป็นระยะเวลา 1 ปีหลังจากวันผลิต หมายถึงช่วงเวลาที่ข้าวสารคงคุณภาพไว้ได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็น กลิ่นหอม สีของเมล็ดข้าว และถ้าหากเกินระยะเวลาที่หมดอายุไปแล้ว ข้าวสารก็ยังสามารถนำมาหุงสุกกินได้เหมือนเดิม เพียงแต่กลิ่นหอม และความนุ่มของเมล็ดข้าวจะลดลง

ข้าวสาร 10 ปี ยังกินได้ไหม

หากนำข้าวสารที่เก็บไว้เป็นเวลานานถึงขั้น 10 ปีแล้ว จะยังสามารถนำมาหุงกินได้ตามปกติหรือไม่ ในกรณีนี้ต้องสังเกตสีและกลิ่นของข้าวสารนั้นก่อนว่ายังมีความปกติ ไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น สีเปลี่ยนไป มีเชื้อรา กลิ่นเหม็นหืน มาเจือปนในข้าวสารหรือเปล่า หากทุกอย่างยังปกติดีก็สามารถนำข้าวสาร 10 ปีมาหุงรับประทานต่อได้

หากสีและกลิ่นของข้าวสาร 10 ปี ยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิมก็สามารถนำมาหุงรับประทานได้ตามปกติ (ภาพจาก iStock)
หากสีและกลิ่นของข้าวสาร 10 ปี ยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิมก็สามารถนำมาหุงรับประทานได้ตามปกติ (ภาพจาก iStock)

...

เช่นเดียวกับข้าวกล้อง หากเก็บไว้นานจนเกินอายุที่กำหนด กลิ่นและสีก็จะเปลี่ยนไป บ้างก็สีคล้ำ บ้างก็มีกลิ่นหืน ซึ่งปัจจัยแวดล้อม ทั้งความชื้น และแสงแดด ก็ส่งผลกระทบกับข้าวได้ ทำให้ข้าวไม่น่ากินเหมือนตอนที่ซื้อมาใหม่ๆ

วิธีเก็บข้าวสารให้อยู่ได้นาน

สำหรับวิธีเก็บข้าวสารให้อยู่ได้นานโดยที่คุณภาพไม่เสียไป ข้าวหงษ์ทองได้แนะนำไว้ดังต่อไปนี้

1. ห้ามวางถุงข้าวตากแดด

การวางข้าวสารไว้ในพื้นที่ตากแดด จะยิ่งทำให้ข้าวสารมีอายุการใช้งานที่น้อยลง ข้าวใหม่จะเปลี่ยนสภาพให้ข้าวเก่าไวขึ้น ทำให้สีของข้าวสารจากสีขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง รวมถึงกลิ่นหอมของข้าวจะลดลง

2. ห้ามวางใกล้ที่ชื้น 

อย่าวางข้าวสารไว้ในพื้นที่ชื้น หรือใกล้แหล่งน้ำ เพราะความชื้นจะทำให้เกิดเชื้อรา และแบคทีเรียในเมล็ดข้าว ส่งผลให้ข้าวเกิดการเน่าเสีย

3. ควรเก็บข้าวสารในพื้นที่สะอาด

ควรจัดเก็บข้าวสารในพื้นที่ที่สะอาด หากพื้นที่จัดเก็บมีความสกปรกอาจเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด เช่น มด หนู แมลงสาบ ตะขาบ และอื่นๆ สัตว์เหล่านี้นอกจากจะทำลายข้าว และถุงข้าวแล้ว ยังเป็นอันตรายต่ออีกคนด้วย เพราะก่อให้เกิดเชื้อโรคปะปนมากับข้าวสารได้

4. เมื่อเปิดใช้แล้วควรบริโภคให้หมดภายใน 1 เดือน 

ข้าวสารจะมีประสิทธิภาพที่สุดเมื่อเปิดหุงใหม่ๆ แต่ถ้าหากเวลาผ่านไปเกิน 1 เดือน ประสิทธิภาพ ความหอม ความนุ่ม จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ถ้าหากกินไม่หมดจริงๆ ควรจัดเก็บในถังข้าวสารอย่างมิดชิด

5. เก็บข้าวสารในตู้เย็น

การเก็บข้าวสารในตู้เย็น เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีสุด เพราะความเย็นจะช่วยคงความสดใหม่ของข้าว ช่วยรักษาคุณภาพของข้าวได้นานยิ่งขึ้น โดยวิธีนี้เหมาะกับการเก็บข้าวหอมมะลิใหม่