โรงพยาบาลรามาธิบดี และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก Rangueil University Hospital ประเทศฝรั่งเศส ร่วมกันปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัด (Robotic Assisted Kidney transplantation) สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในผู้ป่วยทั้งหมด 3 ราย
หุ่นยนต์ผ่าตัดปลูกถ่ายไต หรือ Robotic Assisted Kidney transplantation ได้ถูกคิดค้นออกมานานแล้วนับ 10 ปี ซึ่งปัจจุบันได้เกิดความสำเร็จขึ้นแล้วในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มศูนย์เพื่อความเป็นเลิศ และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก Rangueil University Hospital ประเทศฝรั่งเศส
วันที่ 10 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น 5 อาคารสิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะภายใต้กลุ่มศูนย์เพื่อความเป็นเลิศ จัดงานแถลงข่าว “ความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัด” (Robotic Assisted Kidney transplantation) 3 ราย เป็นครั้งแรกของประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัดเป็นความก้าวหน้าของวงการแพทย์ด้านศัลยกรรมด้วยหุ่นยนต์ ทำให้การปลูกถ่ายไตประสบความสำเร็จ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนางานด้านนี้ จึงจัดสรรงบประมาณซื้อหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด da Vinci Xi มาใช้ในการผ่าตัดต่างๆ เช่น การผ่าตัด ปลูกถ่ายไต ผ่าตัดมะเร็งไต มะเร็งต่อมลูกหมาก และอวัยวะในช่องท้อง เป็นต้น โดยต้องการเป็นผู้บุกเบิกงานด้านปลูกถ่ายอวัยวะด้วยหุ่นยนต์ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ศาสตราจารย์ นายแพทย์อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
...
รองศาสตราจารย์ ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในการดำเนินกิจกรรม โดยจุดประสงค์หลักของความร่วมมือภายใต้โครงการ MFA-MU Capacity Building for Medical and Health Science Education Hub ร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศนั้น มุ่งเน้นในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อการมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ”
โครงการความร่วมมือ MFA-MU นี้ ยังช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ และศักยภาพ เพิ่มเติมของบุคลากรไทย ผ่านการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ (Knowledge Transfer) ในสาขาวิชาที่ยังต้องการการสนับสนุน และเพื่อให้สามารถนำมาขยายผลในวงกว้างต่อสังคม เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในเวทีระหว่างประเทศด้วย ซึ่งเป็นการทูตเพื่อการพัฒนา (Development Diplomacy) และการทูตเชิงเวชการ (Medical Diplomacy) ของไทย
โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนั้นยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรที่ได้รับองค์ความรู้และนำเทคนิควิธีการที่ทันสมัยไปขยายผล และถ่ายทอดให้กับกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ Medical Diplomacy ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในสาขาการแพทย์และการสาธารณสุข
ความร่วมมือดังกล่าวได้เริ่มต้นขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2564 และดำเนินการมาแล้วเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี โดยมหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นถึงการอุทิศตนเพื่อให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะในด้านการปลูกถ่ายไต ซึ่งเป็นการแพทย์ขั้นสูง
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ หัวหน้าศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "เราเป็นศูนย์ปลูกถ่ายไตที่ให้บริการปลูกถ่ายไตมากที่สุดในประเทศโดยทำการปลูกถ่ายไตสำเร็จมาแล้วกว่า 3,000 ราย และมีผู้ป่วยมารอรับการปลูกถ่ายไตมากที่สุด"
"ปัจจุบันทำการปลูกถ่ายไตในคนไข้ทุกสิทธิ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคมและสิทธิข้าราชการโดยเท่าเทียมกัน ทั้งยังเป็นสถาบันพี่เลี้ยง และฝึกอบรม ดูงานด้านการปลูกถ่ายไตให้กับโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ มีการพัฒนาการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ปลูกถ่าย 2 ไตในคนไข้คนเดียว การผ่าตัดปลูกถ่ายไต ข้ามหมู่เลือด การปลูกถ่ายตับอ่อนพร้อมไต และเป็นศูนย์ฝึกอบรมการปลูกถ่ายไตและตับอ่อนให้แก่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับในอนาคตการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในประเทศไทย จะมีบทบาทมากขึ้น ถึงแม้ค่าชุดเครื่องมือยังคงมีราคาสูง ทางมูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงได้ตัดสินใจให้ทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดปลูกถ่ายไตแก่ผู้ป่วย ความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัดที่โรงพยาบาลรามาธิบดีนับเป็นก้าวย่างสำคัญของการปลูกถ่ายอวัยวะโดยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"
ศาสตราจารย์ นายแพทย์กิตติณัฐ กิจวิกัย ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โ รงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง ผลกระทบและข้อแตกต่างระหว่างการผ่าตัดโดยแพทย์ และหุ่นยนต์ผ่าตัดว่า
“การปลูกถ่ายไตแบบเปิดแผลกว้าง เป็นวิธีปกติที่ใช้กันมานาน 70 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีการปลูกถ่ายไตครั้งแรกของโลก สำหรับการนำหุ่นยนต์มาใช้ช่วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเริ่มครั้งแรกที่ประเทศอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยในปัจจุบันการปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ทั่วโลก มีจำนวนเพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรปรวมถึงประเทศเกาหลีใต้ แต่ยังไม่เคยมีการผ่าตัดวิธีนี้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อน นวัตกรรมการผ่าตัดปลูกถ่ายไตโดยใช้หุ่นยนต์ผ่านกล้อง ช่วยทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำทั้งในคนปกติและคนอ้วน โดยเฉพาะการผ่าตัดในบริเวณช่องท้องที่ลึก รวมทั้งแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว การผ่าตัดวิธีนี้ช่วยลดความเจ็บปวด ลดการเสียโลหิต และลดโอกาสการเกิดน้ำเหลืองขังเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด และมีภาวะแทรกซ้อนจากแผลน้อยกว่า”
...
“การใช้หุ่นยนต์ช่วยปลูกถ่ายไต สามารถลดความจำเป็นของการใช้หลอดเลือดที่ยาวจากไตของผู้บริจาค ทำให้มีความปลอดภัยของผู้บริจาคไตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการใช้หุ่นยนต์ช่วยทำให้ศัลยแพทย์สามารถเย็บต่อหลอดเลือดในบริเวณลึกได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ศัลยแพทย์ต้องมีความชำนาญในการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐพล อาภรณ์สุจริตกุล ศัลยแพทย์หลอดเลือดและปลูกถ่ายอวัยวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริม
การทำงานของทีมคณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้ทำการผ่าตัดร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก Rangueil University Hospital ประเทศฝรั่งเศส สำหรับผลลัพธ์การปลูกถ่ายไตด้วยหุ่นยนต์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า ผู้ป่วยทั้ง 3 ราย มีวันเฉลี่ยนอนโรงพยาบาลประมาณ 9 วัน โดยไตทำงานได้ดี มีค่าซีรั่มครีเอตินินเท่ากับคนปกติ
ทั้งนี้ในการดำเนินการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนา ต่อยอด และเรียนรู้ทั้งทางเทคนิค และการติดตามผลการรักษาของผู้ป่วยอยู่อย่างต่อเนื่องในอนาคตต่อไป
ภาพ : istock