ชาสมุนไพรเป็นที่นิยมทั่วโลก ไม่เพียงแต่รสชาติและให้ความสดชื่น แต่ยังมีสรรพคุณเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่สารประกอบประเภทหนึ่งที่เรียกว่าลิพิด (lipids) ในชาสมุนไพร หมายถึงกรดไขมัน หรือสารชีวโมเลกุลที่ไม่ละลายในน้ำ โดยทั่วไปแล้วมักไม่ได้รับการตรวจสอบว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญของชาสมุนไพร

เมื่อเร็วๆนี้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด เผยผลวิจัยในวารสาร Food Chemistry ระบุโมเลกุลที่แตกต่างกัน 341 ชนิดจากไขมัน 5 ประเภทในชาสมุนไพร 4 ชนิดที่มีถิ่นกำเนิดในญี่ปุ่นและบริโภคกันแพร่หลายมาตั้งแต่โบราณเนื่องจากมีคุณสมบัติบำบัดโรค ได้แก่ โดกุดามิ (Dokudami) หรือพลูคาว, คุมะซาสะ (Kumazasa), ซุกินะ (Sugina) หรือหญ้าหางม้า และโยะโมะงิ (Yomogi) โดยประโยชน์ทางยาที่เกิดจากชาสมุนไพรเหล่านี้และชาสมุนไพรอื่นๆ มีทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านน้ำตาลในเลือด ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านไวรัส ฯลฯ

ไขมันในชาถูกแยกและระบุโดยการใช้เทคนิคการวิเคราะห์สมัยใหม่ 2 แบบรวมกันคือ เทคนิค HPLC (High Performance Liquid Chromatography) และ linear ion trap-Orbitrap mass spectrometry การวิเคราะห์เผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของไขมันในชาทั้ง 4 ชนิด แต่ละประเภทมีไขมันที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น กรดไขมันสายสั้นที่เรียกว่า short-chain fatty acid esters of hydroxy fatty acids (SFAHFAs) ซึ่งบางตัวไม่เคยพบในพืชมาก่อน โดย SFAHFAs ที่ตรวจพบในชาอาจเป็นแหล่งใหม่ของกรดไขมันสายสั้น ซึ่งเป็นสารที่จำเป็นต่อการรักษาสุขภาพของลำไส้ และการค้นพบ SFAHFA ใหม่ๆเหล่านี้อาจเปิดช่องทางใหม่ในการวิจัยต่อไปในอนาคต.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่

...