มวยปล้ำ เป็นความบันเทิงแขนงหนึ่งของโลกใบนี้ ครองใจผู้คนได้ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งในสหรัฐอเมริกา ลากยาวมาจนถึงประเทศไทย ผ่านนักมวยปล้ำที่มีชื่อเสียงในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็น ฮัลค์ โฮแกน (Hulk Hogan), เบร็ต “เดอะ ฮิตแมน” ฮาร์ต (Bret “The Hitman” Hart), ริค แฟลร์ (Ric Flair), ชอว์น ไมเคิลส์ (Shawn Michaels), ดิ อันเดอร์เทคเกอร์ (The Undertaker), สโตน โคลด์ สตีฟ ออสติน (Stone Cold Steve Austin), เดอะ ร็อก (The Rock), ทริปเปิล เอช (Triple H) กระทั่งส่งไม้ต่อมายังยุคของเดฟ บาติสตา (Batista), แรนดี ออร์ตัน (Randy Orton) และจอห์น ซีนา (John Cena)

วงการมวยปล้ำเป็นที่ชื่นชอบของคนทั้งโลก โดยในต่างประเทศ และในประเทศไทยล้วนอยู่ในจุดสูงสุดในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน นั่นคือ ช่วงทศวรรษ 90s ต่อด้วยทศวรรษ 2000s 

หากคุณเป็นแฟนมวยปล้ำชาวไทย ชื่อของ “น้าติง” นับเป็นชื่อแรกๆ ที่อยู่คู่กับวงการมวยปล้ำ เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การดูมวยปล้ำ” ในประเทศไทย มีรสชาติมากที่สุด เพราะน้าติงนี่แหละ

กาลเวลาข้ามผ่านมายังปี 2024 คงไม่ต้องอธิบายให้มากความแล้ว มวยปล้ำคือการแสดงที่นักมวยปล้ำเจ็บตัวจริงๆ โดยมีการเล่าเรื่องจากการใช้ไมโครโฟนของนักมวยปล้ำที่ออกมาปะฉะดะเชือดเฉือนกันด้วยคำพูด และการเล่าเรื่องในลักษณะการปล้ำบนเวที ซึ่งมีการกำหนดตัวผู้ชนะเอาไว้ รวมถึงการใช้สื่ออย่างโซเชียลมีเดีย เข้ามาประกอบเป็นหนึ่งในเนื้อหา เพื่อสานต่อเหตุการณ์ เกิดการปูเนื้อเรื่องเป็นซีรีส์ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

...


เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แฟนมวยปล้ำได้มีโอกาสรับชม Premium Live Event ของ WWE ในศึก Elimination Chamber 2024 แบบเกือบสดทางฟรีทีวีช่อง Mono29 โดยมีบรรยายไทยด้วยเสียงที่คุ้นเคยของน้าติง และสุ้มเสียงใหม่แต่ลงตัวเมื่อจับคู่กับน้าติง นั่นคือ ปอ-วสุ กลิ่นเกษร บุตรชายของน้าติง นั่นเอง

การกลับมาของ “มวยปล้ำ” ในรูปแบบของฟรีทีวี สะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งว่า มวยปล้ำกำลังกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งในประเทศไทย ผู้คนที่ครั้งหนึ่งเคยดูมวยปล้ำแล้วก็เลิกกลับไป มีจำนวนไม่น้อยที่เริ่มกลับมาดูมวยปล้ำมากขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างปี 2023 มายังปี 2024

สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร มวยปล้ำยังคงสนุกตื่นเต้น มีความเหมือนหรือแตกต่างจากอดีตมากน้อยแค่ไหน นี่คือบทสัมภาษณ์ที่ออกรสออกชาติ ราวกับถูกส่งมาจากสังเวียนมวยปล้ำของ วสุ กลิ่นเกษร 

วสุ กลิ่นเกษร นักพากย์มวยปล้ำ
วสุ กลิ่นเกษร นักพากย์มวยปล้ำ

เราเริ่มต้นถามว่ามวยปล้ำซึ่งเป็น Sport Entertainment ที่มีการวางคิว วางบท และกำหนดตัวของผู้ชนะเอาไว้แล้ว ความสนุกในการดูมวยปล้ำของวสุ คืออะไร เขาเล่าว่า เรื่องนี้อาจต้องเปลี่ยนมายด์เซต (Mindset) สักนิดหนึ่ง คือมวยปล้ำไม่ใช่กีฬาที่ชัดเจนขนาดนั้น เป็นคนละแบบกับกีฬาฟุตบอลที่สู้เพื่อชัยชนะ แต่มวยปล้ำเป็นการต่อสู้เพื่อตัวเอง เป้าหมาย หรือจุดยืนบางอย่าง มีความเป็นมนุษย์ อยากให้ลองนึกภาพในลักษณะที่เราดูละครจะดีกว่า

“เราต่างรู้ว่าโรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ไม่ใช่ไอรอน แมน แต่เราก็ยังอินกับการแสดงของเขา มวยปล้ำก็เป็นแบบนั้น ความสนุกคือการทำให้เราได้ติดตามทั้งเนื้อเรื่อง ได้ดูโชว์สตั๊นต์แมน อัดกันจริง เจ็บกันจริง เล่นกันถึงพริกถึงขิง ใช้ร่างกายสร้างความบันเทิงให้กับคนดู มีความเป็นมนุษย์เข้ามาผสม” 

เมื่อมวยปล้ำเป็นสตั๊นต์โชว์ที่มีเนื้อเรื่อง ความเก่งกาจของนักมวยปล้ำผู้ชมจะรับรู้ได้อย่างไรว่า นักมวยปล้ำคนใดมีฝีมือ เก่งจริง ไม่ได้เก่งแค่ในบท เราถาม “เรื่องนี้มีหลายแบบมากๆ นักมวยปล้ำบางคนพูดเก่ง การพูดดึงดูดคน สร้างเสน่ห์ให้คนหลงรัก เชื่อมั่นในตัวเขาได้ มีพลังในการพูด หรือวลีเชื่อมถึงคนดู หรือภาษามวยปล้ำเรียกว่าสกิลไมค์ เช่น เดอะ ร็อก, จอห์น ซีนา หรือฮัลค์ โฮแกน” 

อันที่จริง เดอะ ร็อก ในช่วงแรกก็ไม่ได้เป็นนักมวยปล้ำที่ปล้ำเก่งมากนัก แต่เวลาผ่านไป ฝีมือการปล้ำก็พัฒนาขึ้น เช่นเดียวกับจอห์น ซีนา ซึ่งเราสามารถกล่าวได้ว่า เขาเก่งในระดับที่คนดูพอรับได้

ประเภทต่อมา เป็นนักมวยปล้ำที่ปล้ำเก่ง แต่การใช้ไมโครโฟนไม่ได้ดีมาก จึงต้องมีผู้จัดการที่พูดเก่งๆ คอยเป็นปากเป็นเสียงให้ นักมวยปล้ำในกลุ่มนี้ก็จะเป็นบร็อค เลสเนอร์ เป็นต้น

สุดท้ายเป็นกลุ่มนักมวยปล้ำที่เก่งทั้งการปล้ำบนเวที และสกิลไมโครโฟน ประเภทนี้เก่งรอบตัว เอาอยู่ทั้งในบทและการแสดงจากฝีมือการปล้ำ นักมวยปล้ำกลุ่มนี้ วสุชี้ไปที่ โคดี โรดส์, เบร็ต “เดอะ ฮิตแมน” ฮาร์ต, ชอว์น ไมเคิลส์ และเซธ โรลลินส์ เป็นต้น

...

“จริงๆ ยังมีอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่เก่งสักอย่าง แต่สมาคมมวยปล้ำต้องการผลักดัน เพราะมองเห็นว่าหน่วยก้านดี อยากให้เป็นหน้าเป็นตาของสมาคม ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย คือ โรมัน เรนส์ ที่มีท่ามวยปล้ำ 4-5 ท่า แต่ชนะได้เรื่อยๆ หรือโอมอส และโซโล ซิโกอา” 

แล้วดูอย่างไรว่านักมวยปล้ำคนนี้เก่ง ในเมื่อทุกอย่างเป็นเรื่องของบทบาท วสุขยายความให้ฟังว่า “อยู่ที่ว่าการปล้ำของเขาดูเก่ง ดูแกร่งหรือไม่ ขณะเดียวกันคนที่ปล้ำเก่งก็ต้องทำให้คู่ปล้ำปลอดภัยด้วย มีเคมีที่เข้าขา และทำแมตช์การปล้ำออกมาให้สนุก” 

เขาเล่าตัวอย่างให้ฟังว่า ในตอนที่เซธ โรลลินส์ ต้องมาเจอกับโอมอส ซึ่งเป็นนักมวยปล้ำยักษ์ใหญ่สูง 7 ฟุต ที่ปล้ำไม่ได้เรื่อง พูดก็ไม่เป็น แต่เซธ โรลลินส์ กลับทำให้แมตช์การปล้ำให้ดูมีความสนุก ให้แฟนมวยปล้ำได้ลุ้นอยู่บ้าง “นี่แหละความเก่งของนักมวยปล้ำที่มีความสามารถ” 

แอลเอ ไนต์
แอลเอ ไนต์

อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะช่วยผลักดันนักมวยปล้ำคนหนึ่งๆ ให้รุดไปข้างหน้า ไม่ได้มีแค่เรื่องของฝีมือการปล้ำ และไมค์สกิลที่ดี แต่ยังขึ้นอยู่กับ “การผลักดัน” ของสมาคมด้วย เขามีความเห็นว่า นักมวยปล้ำต้องมีกระแสนิยมเสียก่อน แฟนๆ ต้องรัก นักมวยปล้ำอย่างแอลเอ ไนต์ (LA Knight) ฝีมือการปล้ำธรรมดามาก แต่มีสกิลไมค์ที่ดีเหลือเกิน “เขาสามารถใช้คำพูดเพื่อตีบทให้แตกสำหรับบทบาทนี้ แล้วก็เอาชนะใจคนดูในที่สุด”

...

ในอดีต แอลเอ ไนต์ เคยเป็นนักมวยปล้ำอิสระมาก่อน โดยแฟนคลับเก่าๆ ก็รู้ว่า สิ่งที่อยู่ในตัวของแอลเอ ไนต์ มีดีกว่าบทบาทที่สมาคมมวยปล้ำให้กับเขา ก็เลยเกิดกระแสเรียกร้องให้เกิดการผลักดัน สิ่งที่สมาคมจะทำต่อไปก็คือ การดูว่านักมวยปล้ำคนนี้เหมาะสมที่จะยกระดับเพื่อเป็นหนึ่งในหน้าตาของสมาคมหรือไม่ ปีที่แล้วเลยมีกระแสให้ผลักดันชื่อของแอลเอ ไนต์ ขึ้นมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สถานะของแอลเอ ไนต์ เป็นแต่เพียงแค่ “จ๊อบเบอร์” ซึ่งเป็นศัพท์มวยปล้ำที่แปลได้ว่ากระสอบทรายให้นักมวยปล้ำระดับสูงกระทืบ

นอกจากนี้ ก็มีนักมวยปล้ำบางคนไปเสนอบทบาทให้กับทีมเขียนบทว่าอยากจะทำแบบนี้ อยากพัฒนาคาแรกเตอร์ของนักมวยปล้ำในทิศทางใด ซึ่งถ้าหากสมาคมเห็นคล้อยก็จะเกิดการผลักดันต่อไป ทั้งหมดนี้ต้องสอดคล้องกับเนื้อเรื่องที่วางเอาไว้ และความเหมาะสมของนักมวยปล้ำแต่ละคน

วสุ เล่าต่อไปว่า แต่ในยุคของวินซ์ แม็คแมน (อดีตเจ้าของ WWE) จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะวินซ์ แม็คแมน เป็นคนเคาะว่าจะผลักดันนักมวยปล้ำคนไหน “วินซ์จะบอกว่ากูจะเอาคนนี้เท่านั้น ไอ้นี่เก่งเหรอ เรื่องของมึงสิ ก็กูจะผลักดันเด็กกู” นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม สมาคม WWE ที่มีนักมวยปล้ำเก่งมากมาย มีแฟนมวยปล้ำชื่นชอบ แต่โดนเด็กปั้นของวินซ์ แม็คแมน กระทืบจนมีสภาพที่น่าอเนจอนาถ

ทริปเปิล เอช
ทริปเปิล เอช

...

ปัจจุบัน การเขียนบท การจัดคู่แมตช์การปล้ำ การเล่าเรื่องของรายการประจำสัปดาห์ ซึ่งโปรแกรมโชว์ในคืนวันจันทร์มีชื่อรายการว่า รอว์ (Raw) และคืนวันศุกร์ในชื่อ สแม็คดาวน์ (SmackDown) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พอล “ทริปเปิล เอช” เลเวสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายคอนเทนต์ ลูกเขยของวินซ์ แม็คแมน และเป็นหนึ่งในตำนานของวงการมวยปล้ำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง ทั้งในฐานะฝีมือการปล้ำและบทบาทที่ได้รับ

มวยปล้ำสมัยก่อน vs. มวยปล้ำปัจจุบัน

หนึ่งในหัวข้อที่มีความร้อนแรงมากที่สุด นั่นคือ เรื่องของมวยปล้ำสมัยก่อน และมวยปล้ำปัจจุบัน ยุคสมัยใดสนุกกว่ากัน การถกเถียงในหัวข้อนี้ถือเป็นหัวข้อการสนทนาสุดคลาสสิก วสุ เลือกตอบคำถามนี้ด้วยการยกตัวอย่างจากการตั้งข้อสังเกตผ่านแฟนเพจ 619 by น้าติง ซึ่งเป็นเพจที่ วสุ และน้าติง ใช้สื่อสารกับแฟนมวยปล้ำยุคโซเชียลมีเดีย สิ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือก็คือ มวยปล้ำสมัยก่อนโหดกว่านี้ มันกว่านี้

“มันไม่แปลกหรอก เพราะสมัยก่อนไม่ค่อยมีการจัดเรตติ้งคนดู อยากจะทำอะไรก็ทำ มันคือความดิบเถื่อนในยุค Attitude ไม่มีกฎเกณฑ์” วสุ กล่าวต่อไปว่า แต่ปัจจุบัน มวยปล้ำมันดังขึ้น กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ดังนั้นแล้ว เมื่อคนดูเยอะ ฐานผู้ชมก็จะขยายไปยังกลุ่มที่เป็นเด็กมากขึ้น จนต้องจัดเรตติ้ง เพื่อไม่ให้มีความรุนแรงที่เกินขอบเขต 

“มวยปล้ำภายใต้กฎ PG จึงมีข้อกำหนดไม่ให้ใช้เก้าอี้ตีศีรษะ เลือดไม่มีให้เห็นสักเท่าไร การเหยียด การด่าจะไม่รุนแรงนัก เพราะเด็กฟังอยู่” วสุ กล่าวเสริมว่า การที่ WWE กำลังจะไปฉายในแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) มีโอกาสที่ความรุนแรงอาจกลับมาอยู่บนหน้าจอ แต่ก็คงไม่ถึงขั้นของยุค Attitude 

มวยปล้ำสมัยก่อน vs. มวยปล้ำปัจจุบัน หนึ่งในหัวข้อที่ร้อนแรงที่สุด
มวยปล้ำสมัยก่อน vs. มวยปล้ำปัจจุบัน หนึ่งในหัวข้อที่ร้อนแรงที่สุด

“ทริปเปิล เอช เคยให้สัมภาษณ์ว่า มวยปล้ำที่ดีไม่จำเป็นต้องมีความรุนแรงมากเกินไป มวยปล้ำที่ดีคือมวยปล้ำที่คนดูสนุก ลุ้นไปกับมัน ไม่จำเป็นต้องมีเลือดสาด หรือสาดคำด่าหยาบๆ แต่ช่วงหลังก็เริ่มมีกลิ่นของยุคเก่าๆ เหมือนกัน อย่างล่าสุดเดอะ ร็อก กระทืบโคดี โรดส์ จนเลือดอาบ แล้วก็ใช้คำหยาบ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่คิดถึง ไม่ได้เจอกันมานาน” 

ส่วนเรื่องความแตกต่างของมวยปล้ำยุคเก่า กับ ยุคใหม่ ที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ นักมวยปล้ำยุคปัจจุบัน “มีความเก่ง” กว่านักมวยปล้ำยุคเก่า เพราะโลกที่กว้างขึ้น สมาคมสามารถดึงนักมวยปล้ำที่มีฝีมือได้ง่ายขึ้น นักมวยปล้ำยุคใหม่ไม่ได้พึ่งพิงสเตียรอยด์เพื่อให้มีร่างกายใหญ่โตเหมือนนักมวยปล้ำสมัยก่อน วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ดีขึ้น ทุกๆ คนมีการพัฒนาขึ้นจากยุคก่อน ซึ่งนักกีฬายุคใหม่เก่งกว่ายุคที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องปกติ 

มวยปล้ำกำลังจะกลับมา

ในปี 2024 ดูเหมือนว่ากระแสความนิยมของมวยปล้ำกำลังจะกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ซบเซาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนทำให้ใครหลายคนมองว่า รุ่งอรุณของการดูมวยปล้ำในประเทศไทยอาจอำลาไม่มีวันกลับแล้ว แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะกระแสการพูดถึงมวยปล้ำค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น จากรอยต่อในช่วงปี 2023 จนข้ามผ่านมาถึงปี 2024 แน่นอนว่า ในฐานะนักพากย์มวยปล้ำก็สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน

“ผมขอใช้เพจผม 619 by น้าติง เป็นเกณฑ์วัด ผมทำเพจนี้มาปีกว่าๆ มาวันนี้กำลังจะ 2.4 หมื่นคน พุ่งพรวด 1.3 หมื่นคนได้ในเวลา 2-3 เดือน มันบ้าคลั่งมาก” เขาเล่า การกลับมาของมวยปล้ำ ถ้าจะให้วิเคราะห์จริงๆ อาจต้องเริ่มจากการควบรวมระหว่าง WWE และ Endeavor จนกลายเป็นบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า TKO ทำให้คนเริ่มให้ความสนใจว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเกิดอะไรขึ้น 

619 by น้าติง แฟนเพจพูดคุยภาษามวยปล้ำกับน้าติง และปอ วสุ
619 by น้าติง แฟนเพจพูดคุยภาษามวยปล้ำกับน้าติง และปอ วสุ

แต่เดิม WWE เป็นบริษัทมวยปล้ำที่ขับเคลื่อนภายใต้การชี้นำของวินซ์ แม็คแมน ซึ่งหลังการควบรวมก็เห็นชัดเจนว่า วินซ์ แม็คแมน ไม่สามารถบริหารมวยปล้ำได้เหมือนแต่ก่อน ประจวบเหมาะกับคดีล่วงละเมิดทางเพศของวินซ์ แม็คแมน จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านงานครีเอทีฟมวยปล้ำเข้ามาสู่ยุคของทริปเปิล เอช โดยมีคุณภาพการปล้ำที่ดีขึ้น และเนื้อเรื่องที่ไม่ตกยุค หรือล้าสมัยสุดกู่ในยุคการทำงานของวินซ์ แม็คแมน 

“บางคนบอกว่าแต่วินซ์ แม็คแมน ทำให้มวยปล้ำดังไม่ใช่หรือ นั่นเป็นเมื่อ 10 ปีก่อน โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่ความคิดของวินซ์ยังเหมือนเดิม ยังต้องการเนื้อเรื่องเสื่อมๆ แบบเดิม ทำให้คนดูเบื่อ แล้วรับไม่ได้กับมวยปล้ำที่ทำมาชุ่ยๆ” 

สิ่งที่ทริปเปิล เอช ทำในวงการมวยปล้ำปัจจุบันง่ายมาก ก็คือทำตรงข้ามกับวินซ์ แม็คแมนซะ (หัวเราะลั่น) คนดูก็เริ่มสนุกขึ้น บางคนที่สิ้นหวังกับ WWE กลับมามองว่ามันดีขึ้น น่าดูขึ้น ประจวบเหมาะกับการเกิดค่ายใหม่อย่าง All Elite Wrestling หรือ AEW ที่กลายเป็นภัยอันตรายที่สุดของ WWE โดยเฉพาะเรื่องของแมตช์การปล้ำที่ทำได้ถึงกึ๋น

“พอวินซ์ แม็คแมนออกไป โชคดีของ WWE คือ AEW ดันกลับทำมวยปล้ำแบบวินซ์ แม็คแมนเสียเอง คนก็เลยถอนตัวจาก AEW กลับมาดู WWE อีกครั้งก็มีเหมือนกัน” 

การทำงานด้านครีเอทีฟของทริปเปิล เอช ในมุมมองของวสุ คิดว่า ในแง่เนื้อเรื่องมันมีกลิ่นอายเก่าๆ ประกอบกับการดึงนักมวยปล้ำที่ห่างหายไปจาก WWE นานเป็นสิบปีอย่างซีเอ็ม พังก์ (CM Punk) กลับมาอีกครั้ง โดยที่ตลอดสิบปีที่ผ่านมา ซีเอ็ม พังก์ กับ WWE มีปัญหาด้วยกันตลอด ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ไม่ได้เป็นนักมวยปล้ำ หรือในช่วงที่ไปทำงานกับสมาคม AEW เรียกได้ว่าแทบจะแจกนิ้วกลางใส่กันตลอดเวลา

ซีเอ็ม พังก์ ถูกพูดถึงทั้งในแง่บวกและแง่ลบมากที่สุดคนหนึ่งในวงการมวยปล้ำ
ซีเอ็ม พังก์ ถูกพูดถึงทั้งในแง่บวกและแง่ลบมากที่สุดคนหนึ่งในวงการมวยปล้ำ

สุดท้าย ซีเอ็ม พังก์ ก็มีปัญหาหลังฉากกับ AEW จนโดนไล่ออก แต่ก็สร้างเซอร์ไพรส์กลับคืนสู่สมาคม WWE ในพรีเมียม ไลฟ์ อีเวนต์ Survivor Series ปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งก็เป็นทริปเปิล เอช ที่ตัดสินใจจ้างซีเอ็ม พังก์ กลับคืนสู่สมาคมจนกลายเป็นกระแสที่ “อู้หู” อีกครั้งหนึ่งให้กับวงการมวยปล้ำ และแฟนคลับของ WWE

“ถ้าเป็นฟุตบอลอันนี้คงใกล้เคียงที่สุด ไมเคิล โอเวน กลับลิเวอร์พูล” วสุหัวเราะดังลั่น

Finish the story

หนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้กระแสมวยปล้ำถูกพูดถึงมากขึ้นอีกครั้งก็คงเป็นการเข้ามาแทรกแซง แย่งสปอตไลต์การเป็นคู่เอกใน WrestleMania 40 ของเดอะ ร็อก จากโคดี โรดส์ เพราะเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเดอะ ร็อกทำอะไรผู้คนก็มักให้ความสนใจ ยิ่งวงการมวยปล้ำที่เป็นรากฐานความโด่งดังของเดอะ ร็อก อีกทั้งการกลับมาครั้งนี้ยังกลับมาในบทบาทนักมวยปล้ำ “ฝ่ายอธรรม” จึงกลายเป็นแรงดึงดูดให้ผู้คนกลับมาดูมวยปล้ำ 

เดอะ ร็อก, โรมัน เรนส์ และโคดี โรดส์ ไฮไลต์สำคัญของวงการมวยปล้ำในปี 2024
เดอะ ร็อก, โรมัน เรนส์ และโคดี โรดส์ ไฮไลต์สำคัญของวงการมวยปล้ำในปี 2024

นอกจากนี้ ยังมีเนื้อเรื่อง “Finish the story” ของโคดี โรดส์ ที่ต้องการเป็นแชมป์โลกเพื่อมอบให้กับครอบครัว และถือเป็นเนื้อเรื่องที่ WWE ปูเอาไว้ตั้งแต่ต้นปี 2022 ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผู้คนตื่นเต้นกับการดูมวยปล้ำเวลานี้ 

ในช่วงสุดท้ายเราได้ถามว่า จากการเป็นนักพากย์ การเป็นแฟนมวยปล้ำ เขาอยากเห็นอะไรมากที่สุดใน WrestleMania 40 “โรมัน เรนส์ เสียแชมป์ครับ เท่านั้นเลยครับ” นี่คือคำตอบของเขา ซึ่งทำให้เราสองคนหัวเราะลั่น

“ผมไม่ได้แคร์ว่า โคดี โรดส์ต้องเป็นแชมป์แบบไหน ผมขอแค่โคดีเป็นแชมป์ แล้วโรมัน เรนส์แพ้ ผมขอแค่นั้นเลย ทั้งแช่งโรมัน และเชียร์โคดี”