นักวิทยาศาสตร์ ชาวเกาหลีใต้ ได้คิดค้น และวิจัยในการปลูกเซลล์เนื้อวัวในเมล็ดข้าว ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า ข้าวจากเซลล์ของวัว อาจเป็นก้าวสำคัญของอาหารที่มีสารโปรตีนที่ยั่งยืน ราคาไม่แพง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถทดแทนเนื้อวัวในฟาร์มได้ 

'ข้าวจากเซลล์ของวัว' ถูกคิดค้น และวิจัย โดยทีมของศาสตราจารย์จิน กี ฮอง (Jin Kee Hong) จากมหาวิทยาลัยยอนเซ ในกรุงโซล ที่ได้นำอนุภาคเซลล์ (สเต็มเซลล์) กล้ามเนื้อ และไขมันที่เป็นส่วนโปรตีนสำคัญของวัว ไปเพาะเลี้ยงร่วมกับเมล็ดข้าว

กรรมวิธี คือ การนำเมล็ดข้าวไปผสมรวมกับเอนไซม์ เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางชีวเคมีที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต จากนั้นจึงผสมกับเซลล์วัวที่เพาะเลี้ยง โดยเมล็ดข้าวที่ออกมานั้นจะมีลักษณะอ้วนกลม สีชมพูปนขาว

...

ศาสตราจารย์จิน กี ฮอง ผู้นำงานวิจัย กล่าวว่า "ข้าวจากเซลล์ของวัว" เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดแรกที่ใช้อนุภาคของ ‘เมล็ดข้าว’ เป็นฐานในการเพาะเลี้ยงกล้ามเนื้อ และเซลล์ไขมันของวัว แต่อย่างไรก็ดี กลุ่มวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอนเซ ไม่ใช่กลุ่มแรกที่ทำงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่ปลูกในห้องแล็บ ซึ่งมีบริษัทต่างๆ ทั่วโลก ได้เปิดตัวเนื้อสัตว์ ที่ได้มาจากกระบวนการเลียนแบบการสร้างเซลล์ และเนื้อเยื่อบ้างแล้ว เช่น ไก่ และปลาไหล ที่ทำจากพืช เช่น ‘ถั่วเหลือง’ และวางขายในตลาด ประเทศสิงคโปร์

ทีมวิจัย กล่าวว่า “ ‘ข้าว’ มีข้อได้เปรียบในแง่ของความปลอดภัยที่มากกว่า เมื่อเทียบกับถั่วเหลือง หรือถั่ว เนื่องจากปัจจุบันมีคนแพ้อาหารจำพวกข้าวน้อยลง หากพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้สำเร็จ ข้าวจากเซลล์ของวัวเพาะเลี้ยงก็เป็นแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืนได้ โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่การเลี้ยงปศุสัตว์แบบดั้งเดิมไม่สามารถทำได้” 

ประโยชน์อีกอย่างจาก ‘ข้าวจากเซลล์ของวัว’ คือ จะได้รับสารอาหารจำพวกโปรตีนมากกว่าเดิมประมาณ 8% และมีไขมันมากกว่าข้าวธรรมดาถึง 7% โดยทีมงานตั้งข้อสังเกตว่า “โปรตีนนี้มีส่วนประกอบจากสัตว์ถึง 18% ทำให้เป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายอีกด้วย”

ราคาของ ข้าวจากเซลล์ของวัว คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 ดอลลาร์ ต่อกิโลกรัม (71 บาท) และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่น้อยกว่าผลิตภัณฑ์เนื้อวัวแบบดั้งเดิม ข้าวจากเซลล์ของวัวเพาะเลี้ยงจึงสามารถแข่งขันบนชั้นวางสินค้าในร้านขายของชำกับอาหารจำพวกโปรตีนที่มาจากพืช (Plant-based Protein) ได้ 

ความท้าทายของอาหาร “โปรตีนที่มาจากพืช” และ “ข้าวจากเซลล์ของวัว” ที่นอกจากกรรมวิธี ความน่าสนใจ เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญ คือ การเอาชนะใจลูกค้าด้วยรสชาติ และเนื้อสัมผัส แน่นอนว่าข้าวจากเซลล์ของวัวอาจจะยังไม่สามารถเลียนแบบความชุ่มฉ่ำ หรือเนื้อสัมผัสของเนื้อวัวจริงๆ ได้ แต่การวิจัยนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และอาจเป็นหนทางที่ดีในการพัฒนาที่ก้าวไปข้างหน้าในอนาคต

ภาพและข้อมูล : Reuters