การจากไปของ เอฟ นนทพัฒท์ ศรีวิชัย นักแสดงและผู้จัดละครชื่อดังด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ทำให้หลายคนอยากรู้ว่าโรคนี้มีอาการเบื้องต้นเป็นอย่างไร และสามารถรักษาได้หรือไม่

รายงานขององค์การอนามัยโลกเผยว่าในปี 2020 อุบัติการณ์ของผู้ป่วยมะเร็งในประเทศต่างๆ ทั่วโลกคาดการณ์ว่าจะพบผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย (Leukemia) ประมาณ 7 ใน 1 แสนคน เมื่อเทียบกับประชากรของประเทศไทยประมาณ 60-70 ล้านคน จะอยู่ที่ประมาณเกือบ 5 พันคน ต่อปี นับว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อยสำหรับในเรื่องของมะเร็ง โดยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมักจะพบในวัยกลางคน อายุเฉลี่ยประมาณ 40-50 ปี จากสถิติในประเทศไทยเฉลี่ยที่อายุ 55 ปี

มะเร็งเม็ดเลือดขาวคืออะไร

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย (Leukemia) มี 2 ชนิดด้วยกัน คือ ชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ทั้ง 2 ชนิดมีการเกิดโรคที่แตกต่างกัน

  1. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน จะเกิดขึ้นเร็วเป็นวันเป็นสัปดาห์ โดยเกิดขึ้นใน “ไขกระดูก” เซลล์ลูคีเมียจะขัดขวางการสร้างเม็ดเลือดในไขกระดูก ทำให้การสร้างเม็ดเลือดต่างๆ ในไขกระดูกลดลง ทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย ติดเชื้อ มีไข้ มีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล เป็นต้น
  2. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง เซลล์ลูคีเมียเกิดในไขกระดูก เซลล์เหล่านี้สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ได้ เซลล์เหล่านี้จะออกมาในเลือด และไปอยู่ที่ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ชนิดเรื้อรังมีอาการไม่มาก

มะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้ง 2 ชนิดนี้มีความแตกต่างกัน และปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะชนิดเฉียบพลันที่ถือเป็นมะเร็งที่รุนแรงที่สุด และรักษายากที่สุดด้วย

มะเร็งเม็ดเลือดขาวมี 2 ชนิด คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน และมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง ซึ่งชนิดแรกจะมีอาการรุนแรงและรักษายากที่สุด ภาพจาก iStock
มะเร็งเม็ดเลือดขาวมี 2 ชนิด คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน และมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง ซึ่งชนิดแรกจะมีอาการรุนแรงและรักษายากที่สุด ภาพจาก iStock

...

อาการมะเร็งเม็ดเลือดขาว

  • เลือดจาง ซีด
  • หน้ามืด เวียนศีรษะ
  • เหนื่อยง่าย
  • เลือดออกง่ายบริเวณผิวหนังและเหงือก
  • เป็นจ้ำตามตัว
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • อาจพบก้อนในท้องเนื่องจาก ตับ ม้ามโต
  • ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย และมีไข้

หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อรีบทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีสาเหตุจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้นยังไม่แน่ชัด แต่คาดว่ามาจากปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัย เช่น การได้รับรังสีขนาดสูงไม่ว่าด้วยวิธีใด ได้รับยาเคมีบำบัดจากการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ได้รับสารเคมีจากแหล่งอื่น เช่น สารเคมีในกลุ่มพวกเบนซินจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและยาฆ่าแมลงบางชนิด น้ำยาย้อมผม โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคดาวน์ซินโดรม นอกจากนี้ผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ทุกชนิดรวมถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคไขกระดูกเสื่อมและทำงานผิดปกติแรกเริ่ม

มะเร็งเม็ดเลือดขาวรักษาได้หรือไม่

มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน และมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเรื้อรัง มีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน

  • หากไม่รีบรักษามีโอกาสเสียชีวิตภายใน 3-6 เดือน หลังการวินิจฉัย
  • ให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูง สำหรับผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 60-65 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัว
  • มีโอกาสทำให้โรคสงบได้สูงถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ หลังเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 3-4 สัปดาห์ เพื่อให้ยาออกฤทธิ์และรอให้ไขกระดูกฟื้นตัว
หากพบว่ามีอาการที่คล้ายกับอาการมะเร็งเม็ดเลือดขาว ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที ภาพจาก iStock
หากพบว่ามีอาการที่คล้ายกับอาการมะเร็งเม็ดเลือดขาว ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที ภาพจาก iStock

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเรื้อรัง 

  1. ยารับประทาน เรียกว่ายามุ่งเป้า เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยรบกวนการส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องต่อการเจริญเติบโต และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
  2. ให้ยาเคมีบำบัดอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นการให้ยาซึ่งมีฤทธิ์ทำลายหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้อร้าย

อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวโดยทั่วไปจะใช้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเป็นหลัก ส่วนการปลูกถ่ายไขกระดูกและรังสีรักษาจะเป็นการรักษาเสริม เพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้นหรือหายได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว การตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัดและอายุของผู้ป่วย ทั้งนี้ เราสามารถปฏิบัติตนเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้ด้วยการเลือกทานอาหารมีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสีและสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง

...

อ้างอิงข้อมูล : ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช., โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ, กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลพญาไท 3

ภาพ : iStock