ข่าวดีของผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 สำนักงานประกันสังคมประกาศเพิ่มความคุ้มครองโรคหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) ซึ่งเป็นภัยเงียบของวัยทำงานที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพในระยะยาว
สำนักงานประกันสังคม ประกาศหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน เพื่อคุ้มครองผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ป่วยด้วยโรคหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) เนื่องจากคนวัยทำงานมีภาวะดังกล่าว ทำให้มีอุปสรรคต่อการทำงาน ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่นๆ ตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
สิทธินี้ครอบคลุมการรักษาตั้งแต่การวินิจฉัยทางการแพทย์ ในกลุ่มคนที่มีสัญญาณบ่งบอกว่าจะเข้าข่ายโรคดังกล่าว ค่าอุปกรณ์ และอุปกรณ์เสริมสำหรับการรักษา โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป ประกอบด้วย
- ค่าตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) ชนิดที่ 1 (มีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะตรวจทั้งคืน) จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,000 บาท
- ค่าตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) ชนิดที่ 2 (ไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะตรวจ) จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 6,000 บาท
- ค่าเครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (CPAP) สำหรับผู้ป่วยนอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับ ชุดละ 20,000 บาท
- หน้ากากครอบจมูกหรือปากที่ใช้กับเครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า ชิ้นละ 4,000 บาท
ปัจจุบันโรคหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) เป็นโรคที่มีความผิดปกติอย่างหนึ่งของการหายใจที่เกิดขึ้นระหว่างนอนหลับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่นๆ กับร่างกายอาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ และสามารถพบได้บ่อยในทุกช่วงวัย ผู้ประกันตนจึงอย่าละเลยปัญหาการนอน ที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หากสงสัยว่าตนเองมีอาการหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจหาสาเหตุของโรคโดยด่วน
...
สำนักงานประกันสังคม ได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพื่อดูแลผู้ประกันตนที่ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) ซึ่งผู้ประกันตนสามารถไปรับการรักษาได้ในสถานพยาบาลตามสิทธิ โดยสามารถรักษาได้หลายวิธี ทั้งด้วยวิธีผ่าตัดและไม่ต้องผ่าตัด เช่น การลดน้ำหนัก การปรับท่านอน และการใช้เครื่องมือช่วยทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น เช่น ใส่ฟันยาง (Oral Appliance) และการใช้เครื่องอุปกรณ์อัดอากาศขณะหายใจเข้า (CPAP) ก็อยู่ในความคุ้มครองของสำนักงานประกันสังคมด้วย
เครื่อง CPAP เป็นวิธีการรักษาหนึ่งที่ไม่ต้องผ่าตัด โดยเครื่องจะอัดอากาศขณะหายใจเข้าไปในทางเดินหายใจ ช่วยกระตุ้นให้เกิด reflex ทำให้ความตึงตัวของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น มีการศึกษาพบว่า การใช้เครื่อง CPAP จะทำให้การทำงานในเวลากลางวันของผู้ป่วยดีขึ้น การทำงานของหัวใจ และความดันเลือดดีขึ้น รวมทั้งผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง : สำนักงานประกันสังคม, ไทยคู่ฟ้า