ทุกปี ดร.อ๊อด–วุฒิพงศ์ กิตติธเนศวร แห่งบริษัทวิชชากร จำกัด ต้องมีปฏิทินติดตัวไว้แจกแฟนคลับที่รอคอยว่า จะนำคอลเลกชันไหนจากงานสะสมมาทำ ซึ่งมีหลากหลาย ทั้ง งานศิลปะ ของศิลปินชั้นบรมครู ศิลปินสมัยใหม่ พระพุทธรูป และ พระเครื่อง ซึ่งซื้อเพราะใจรักล้วนๆ ไม่ได้คิดเป็นการลงทุน จนกลายเป็นคอลเลกชันใหญ่เกือบผนังไม่มีที่ว่างจะแขวนภาพ บ้านไม่มีที่เก็บงานศิลปะ ต้องแบ่งไปวางที่บริษัททั้ง 3 ชั้น แต่ก็ยังไม่พอ ต้องวางพิงๆกันไว้-- มาตอนนี้ งานที่สะสมไว้มีราคาสูงขึ้นถึงหลายร้อยเท่า ดร.อ๊อด จึงเปลี่ยนจาก spending เป็น saving ไป โดยที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า

ภาพแรกที่สะสม ได้จากชวนภรรยาไปหาภาพเพื่อตกแต่งบ้านที่แกลเลอรี ในห้างเอ็มโพเรียม ซึ่งเจ้าของร้านแนะนำภาพ “ต้นอ้อ” รุ้งเหลี่ยมรายพร่างพรายนภา ภาพสีน้ำมันใบอ้อลู่ลม ของ อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชอบเรื่องศิลปะ และสะสมมาเรื่อยๆ ซึ่งในบรรดาผลงาน มี ภาพที่รักที่สุด ของ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้มาเพราะไปดูนิทรรศการ และซื้อไว้ 1 ชิ้น จากนั้น ดร.อ๊อด ก็ไปหาอาจารย์ทุกวัน ขับรถรับส่ง กินข้าวเย็น จนวันสุดท้าย อาจารย์ก็นำงานใหม่ไปแสดงเพิ่ม และตบไหล่ ดร.อ๊อด บอกว่า “ไอ้ชิ้นเล็กนั่น อย่าเอาเลย ดร. พี่ให้ ดร.ชิ้นนี้” ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสำคัญ เป็นภาพยุคสีน้ำเงิน ที่ได้รับความนิยมสูงสุดของ อาจารย์เฉลิมชัย ชื่อภาพ “เย็นใจด้วยธรรม” ซึ่งมีในหนังสือของอาจารย์เกือบทุกเล่ม--จากนั้น ดร.อ๊อด ก็ติดลม วนเวียนอยู่ในแวดวงศิลปะเต็มตัว

...

ส่วน ภาพที่หายากที่สุด ได้จากการไปบ้าน อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ และบอกว่าอยากได้งานเก่าๆ อาจารย์จึงเอาหีบไม้สักใบใหญ่ หลายลังมาวางให้เลือกงานศิลปะในนั้น ดร.อ๊อด ก็ค้นไป 4-5 ลัง จน อาจารย์ทินกร กาษรสุวรรณ ซึ่งพาไป กลัวอาจารย์โกรธ เพราะค้นกระจุยก็ยังไม่ซื้อจนเห็นลังสุดท้ายที่ใช้สีเขียนว่า ‘เปลวแดด’ ในนั้นมีงานสีน้ำมัน บนผ้าใบที่ถอดเฟรมออกซ้อนทับปนอยู่กับงานกระดาษ จึงขอซื้อ และพบว่า “เปลวแดด” เป็นงานสีน้ำมันของ อาจารย์ชลูด ที่เหลืออยู่ไม่กี่ชิ้นเพราะในวัยหนุ่มอาจารย์เผางานทิ้ง ด้วยความทะนงว่าเผาแล้วทำขึ้นใหม่ได้ และมารู้สึกเสียใจภายหลังว่าย้อนไปทำไม่ได้แล้ว เพราะด้วยทักษะจิตใจ สภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนไป จากครั้งนั้นทำให้อาจารย์เรียก ดร.อ๊อด ว่า นักโบราณคดี นอกจากนั้นยังมีงานของ อาจารย์ประสงค์ ลือเมือง ที่ซื้อมาแพงสุด ชื่อ ‘พุทโธ ธัมโม สังโฆ’ เป็นงาน 7 ชิ้นที่ต่อกันยาว 12 เมตร
ใช้เวลาทำนาน 6 เดือน เพราะต้องทำต่อเนื่องตอนที่สียังเปียก ซึ่งต้องใช้พลังงานเยอะ พอทำเสร็จอาจารย์ถึงกับป่วย แต่ภาพราคาสูงถึง 7 หลัก จึงยังไม่มีคนซื้อ พอ ดร.อ๊อด ซื้อจึงสร้างความฮือฮา เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครกล้าซื้อแพงขนาดนี้ แต่หลังจากนั้น ราคางานของ อาจารย์ประสงค์ ก็สูงขึ้นมาก

ส่วนปฏิทินของปี 2567 ซึ่งเป็นการทำปฏิทินแจกมาครบ 20 ปี ได้นำงานของศิลปินชื่อ สุรศักดิ์ พุทธานุวัตร มาทำ เป็นสีน้ำมันบนผ้าใบ ซึ่ง ดร.อ๊อด ให้วาดขึ้นทั้งหมด เพราะชอบฝีมือพอร์เทรต ซึ่งใช้สีหนาๆ แสดงอารมณ์ของรูปออกมาได้ดี--รวมที่ทำปฏิทินปีละ 3,000 ชุด แจกมา 20 ปี ก็แจกกระหน่ำไปแล้ว 60,000 ชุด และจะทำแจกต่อไป เพราะยังมีงานสะสมอีกเกือบ 1,000 ชิ้น.

โสมชบา

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่