ชาวจีน มีสถิติของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นมากในทุกๆ ปี รวมถึงยังมีพฤติกรรมการใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถแผ่ขยายอิทธิพลได้เป็นวงกว้าง ที่ส่งผลกับเศรษฐกิจของประเทศจีนเอง และในหลายประเทศทั่วโลกได้อย่างชัดเจน

‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ เป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยจำนวนประชากรที่มากมายมหาศาล การคิดค้นพัฒนาฟังก์ชัน และเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา ซึ่งมีประสิทธิภาพ และไม่แพ้ชาติอื่นๆ ในโลก ทำให้ไม่ว่าการกระทำใดๆ ก็ตามของประเทศจีน มักจะมีอิทธิพลที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก และประเทศตนเองได้อย่างเป็นมหาศาล

หนึ่งสิ่งที่เป็นพฤติกรรมที่น่าสนใจ คือ การใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนจีน มีอัตราเติบโตที่สูงเป็นอย่างมาก ถึงแม้หลังม่านกำแพงเมืองจีน จะมีความเป็นชาตินิยมสูง มีกฎเกณฑ์ และกรอบวัฒนธรรมของตนเองดูเข้าถึงยาก แต่เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กในท้องถิ่นอย่าง WeChat และ Weibo สามารถดึงดูดผู้ใช้จีนได้หลายล้านคน ยังไม่รวมถึงผู้ใช้จากประเทศอื่นๆ ที่สามารถเข้ามาใช้งานได้เช่นกัน 

ธุรกิจเหล่านี้เริ่มแผ่ขยายออกไปยังประเทศอื่นๆ และทำให้จีนกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีตลาดโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ในทันที โดยมีการขยับเป็นจำนวนตัวเลขกว่า 10% ของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นในทุกปี โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลกอย่าง Facebook, YouTube และ X เสียเลยด้วยซ้ำ 

...

สถิติผู้ใช้โซเชียลมีเดียในประเทศจีนในปี 2561-2566 (โดย Statista)

  • ปี 2561 มีจำนวน 759 ล้านคน
  • ปี 2562 มีจำนวน 828 ล้านคน
  • ปี 2563 มีจำนวน 901 ล้านคน
  • ปี 2564 มีจำนวน 961 ล้านคน
  • ปี 2565 มีจำนวน 1,015 ล้านคน
  • ปี 2566 มีจำนวน 1,063 ล้านคน

การคาดการณ์ผู้ใช้โซเชียลมีเดียของคนจีนในอนาคตจนถึงปี 2570

  • ปี 2567 มีจำนวน 1,105 ล้านคน
  • ปี 2568 มีจำนวน 1,143 ล้านคน
  • ปี 2569 มีจำนวน 1,176 ล้านคน
  • ปี 2570 มีจำนวน 1,205 ล้านคน

สถิติดังกล่าว Statista ยังเผยอีกว่า ประมาณร้อยละ 74 ของประชากรจีนที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่นิยมแอปพลิเคชันจำพวกเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นหลัก โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” โซเชียลมีเดียของจีนนั้นมีความเหมือนกันกับโซเชียลมีเดียยอดนิยมทั่วโลก แต่มีหน้าที่ และฟังก์ชันที่ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นช่องทางในการสื่อสารออนไลน์เท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในแหล่งข่าว ความบันเทิงหลัก ช็อปปิ้ง การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และยังรวมไปถึงช่องทางการออกเดตที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ได้ในทันที 

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมของคนจีน 

  • WeChat

แอปโซเชียลมีเดียไว้ใช้พูดคุย สื่อสาร ที่นิยมมากที่สุดในประเทศจีน มีอินเตอร์เฟซฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย เช่น การส่งข้อความช่องทางการสตรีมสด แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ฯลฯ โดย WeChat มีผู้ใช้งานประมาณ 1.3 พันล้านคนต่อเดือน ตามสถิติในปี 2566 มีการเติบโตถึง 13.91% โดยมีอัตราการเข้าถึงสูงสุดในกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุมากกว่า 51 ปี เป็นจำนวน 22.7% และต่ำกว่า 24 ปี เป็นจำนวน 22.3%

  • Taobao

แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซื้อ-ขาย ออนไลน์ที่พัฒนาโดย Alibaba Group มีฟีเจอร์โซเชียลมีเดียที่ให้ผู้ใช้สามารถให้คะแนน และแสดงความคิดเห็นได้ต่อสินค้านั้นๆ ได้ ซึ่งบนแอปพลิเคชันสามารถแสดงตัวเลือกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายจากผู้ขายต่างๆ ช่วยให้ผู้ซื้อ สามารถมีส่วนร่วม และส่งเสริมการตัดสินใจซื้อที่มีข้อมูลมากขึ้น

มีสถิติของผู้ใช้งานอยู่ที่ 895 ล้านรายต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย 61% และผู้หญิง 39% โดยจะเป็นกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี ถึง 60% ด้วยกัน 

  • Douyin (TikTok)

Douyin หรือชื่อที่รู้จักในระดับสากล คือ TikTok หนึ่งในแอปพลิเคชันชมวิดีโอสั้นที่มาแรงและดีที่สุดสำหรับคนรุ่นใหม่ ก่อตั้งโดย ByteDance เปิดตัวในเดือนกันยายน 2559 และได้รับความนิยมทั่วโลกอย่างมากในปี 2563 ด้วยการดาวน์โหลดบนมือถือ 2 พันล้านครั้ง 

ฟีเจอร์ที่ทำให้ Douyin แตกต่างจากแอปฯ โซเชียลมีเดียอื่นๆ ของจีน คือ ความสามารถในการให้ผู้ใช้สร้างและแชร์วิดีโอสั้นที่มีเพลงประกอบ นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันการสตรีมสด และขายของบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้ โดยมีผู้ใช้อยู่ที่ 743 ล้านรายต่อเดือน ผู้ใช้ส่วนใหญ่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี และแม้ว่ากลุ่มประชากรจะกระจุกกลุ่มผู้ใช้งานช่วงอายุ 16-24 ปี แต่เมื่อเร็วๆ นี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวก็พบว่ามีการใช้งานของผู้ใช้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น

...

  • Tencent QQ

Tencent QQ หนึ่งในเว็บไซต์ส่งข้อความโต้ตอบแบบทันทีที่ก่อตั้งเมื่อในปี 1999 ที่ได้รับการพัฒนามาตลอดจนกลายเป็นแพลตฟอร์มที่หลากหลายฟังก์ชันการใช้งาน ซึ่งตอบสนองความต้องการของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันมีผู้ใช้งานต่อเดือนถึง 558 ล้านราย ปัจจุบันมีกลุ่มตลาดหลักเป็นกลุ่มประชากรอายุน้อย โดย 66% ของผู้ใช้งานมีอายุต่ำกว่า 35 ปี ส่วนใหญ่ประกอบด้วยนักศึกษาวิทยาลัย พนักงานอายุน้อย และคนอื่นๆ ที่ต้องการเชื่อมต่อและสื่อสารกับผู้อื่น

  • Youku Tudou

Youku Todou เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของจีนที่เปรียบเสมือนกับ YouTube ที่เรารู้จักกัน โดยผู้ใช้งานสามารถอัปโหลด ดู และแชร์เนื้อหาวิดีโอส่วนตัวได้ รวมทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มที่รายการทีวี ภาพยนตร์ และสารคดีที่ได้รับลิขสิทธิ์อีกด้วย ทำให้ Youku Todou มีเนื้อหา และสามารถใช้งานได้อย่างหลากหลาย 

แม้ว่าปัจจุบันผู้คนจะนิยมดูวิดีโอสั้นกันมากกว่าแล้วแต่ Youku Tudou ก็ยังมีผู้ใช้งานประมาณ 247 ล้านรายต่อเดือน โดยผู้ใช้งาน 82% นั้นจะอยู่ในช่วงอายุ 18-40 ปี เนื่องจากคอนเทนต์ที่หลากหลายผู้ใช้งานอายุน้อย ส่วนใหญ่จะชอบดูวิดีโอ และรายการทีวียอดนิยม ส่วนในกลุ่มอายุที่มากขึ้นจะเลือกดูภาพยนตร์เป็นส่วนใหญ่

...

จากสถิติการใช้งานสามารถสะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีการควบคุมการใช้โซเชียลมีเดียของต่างชาติ แต่ประเทศจีนเองก็ยังคงมีพลังในการสร้างสรรค์ และทำแอปพลิเคชันมีเดียของตัวเอง และมีจำนวนคนไม่น้อยที่ใช้งานต่อเดือนที่สูงมาก 

กลุ่มคนส่วนใหญ่มักจะเป็นคนรุ่นใหม่ Gen Z และ Millennials เป็นกลุ่มผู้ใช้งานนี้ที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักทางการตลาด ซึ่งมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจที่แสดงให้เห็นถึงพลัง ความนิยมของคนใช้โซเชียลมีเดียชาวจีนที่มากขึ้น สามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจ และธุรกิจออนไลน์ ที่ถูกนำมาต่อยอดในอนาคต จึงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกหันมาใช้กลยุทธ์การตลาดบนโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น 

แน่นอนว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ชาวจีนอย่าง Gen Z หรือ กลุ่ม Millennials ก็ตามที่กล่าวมาข้างต้น ในปัจจุบันอาจมีพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนจีนรุ่นก่อน ทำให้เกิดมุมมองทางการตลาด เทรนด์ และความนิยมที่เปลี่ยนไป

อาจารย์ปอ ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจอ้ายจง
อาจารย์ปอ ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจอ้ายจง

...

ไทยรัฐออนไลน์ จึงได้สอบถามถึงความคิดเห็นจาก ปอ ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจอ้ายจงในหัวข้อที่ว่า ‘ทำไมกลุ่มคนรุ่นใหม่ชาวจีนเหล่านี้ อาจจะกลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจหลักในหลายๆ ประเทศ?’  

อาจารย์ภากร ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “คนจีนรุ่นใหม่ มีพฤติกรรมที่เริ่มอยากหลีกหนีจากกรอบสังคมเดิมๆ เพื่อไปหาโอกาสใหม่ โดยเฉพาะความกดดันทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมในประเทศ ทำให้การเปลี่ยนแปลงของคนจีนในเจเนอเรชันนี้ จะมีพฤติกรรมที่กล้าคิดกล้าเปลี่ยนแปลงมากขึ้น และคุ้นเคยกับดิจิทัล และนวัตกรรมเป็นอย่างดี ซึ่งเห็นได้จากสถิติข้างต้น”

“เรื่องเหล่านี้ เกิดความสอดคล้องกับเทรนด์การพัฒนาเทคโนโลยีของทั้งจีน และของโลก รวมถึงไทย ที่มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น ผ่านเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้าดิจิทัล จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่จากจีนนี้ จะกลายเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักทั้งในประเทศจีนเอง และในหลายประเทศทั่วโลก”

“เฉกเช่นเดียวกันกับคน Gen Z และ Millennials ในประเทศอื่นๆ ที่มีความถนัดทางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล รวมถึงความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ความคิดที่ทันสมัย รับความแตกต่าง กล้าลงมือทำ ซึ่งแตกต่างกับคนเจเนอเรชันอื่น คนกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มคนที่ส่งผลต่อการเป็นกลุ่มเศรษฐกิจหลักในอนาคตได้เช่นกัน ไม่ใช่แค่ในจีนประเทศเดียว” เจ้าของเพจอ้ายจง กล่าวเสริม

“ซีรีส์วาย” เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของตลาดดิจิทัล จากประเทศไทย ที่ส่วนใหญ่มีกลุ่มผู้บริโภค และเป็นที่นิยมของวัยรุ่นชาวจีน โดยมีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งเรื่องเหล่านี้ได้สวนกระแสกับวัฒนธรรมของจีนเป็นอย่างมาก แต่ทำไมตลาดผู้บริโภคกับเติบโตมากยิ่งขึ้นในทุกๆ ปี 

อาจารย์ปอ ให้ความเห็นว่า “ประเทศจีน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้มีการรับรู้ และยอมรับเรื่องนี้มากขึ้น แต่ก็ยังคงมีการควบคุมอยู่จากทางรัฐ ซึ่งถ้ามองในมุมของโอกาสทางด้านธุรกิจ ตัวซีรีส์วาย การ์ตูน หรือนิยายต่างๆ นี้ จึงมีโอกาสทางธุรกิจที่มากทีเดียว ปัจจุบันเราจะได้เห็นการปรับตัวของผู้ผลิต หรือผู้พัฒนาเนื้อหาด้านนี้มากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าไปยังไปได้ ภายใต้กรอบของภาครัฐในประเทศจีนได้ เช่น เนื้อหาต้องอยู่บนเฉพาะบนออนไลน์เท่านั้น หรือเปลี่ยนคอนเซปต์ละครเป็นแบบมิตรภาพลูกผู้ชาย อะไรประมาณนี้”

“และสาเหตุที่ว่าทำไมคนจีน ถึงสนใจซีรีส์วายฝั่งไทยมาก อันนี้มาจากเรื่อง LGBTQ+ ของไทย นั้นชื่อเสียง และโดดเด่นอย่างมาก ทั้งเรื่องของความสวยงาม การแสดงต่างๆ อย่างโชว์คาบาเรต์ เป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยว ที่คนจีนเองมีการรับรู้มานาน จนกลายเป็นหนึ่งในสิ่งจดจำของคนจีนเกี่ยวกับประเทศไทย และมีความหลากหลายมากกว่าในสังคมบ้านเขา ก็เลยทำให้เขาสนใจมากสิ่งเหล่านี้มากขึ้น” ภากร กัทชลี กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ สถาพร พานิชรักษาพงศ์ CEO บริษัท จีเอ็มเอ็มทีวี จำกัด ให้ความเห็นว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียทั่วโลกมีทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่น Gen Z และวัยทำงาน ที่ใช้เวลาในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นเวลานาน ซึ่งคนรุ่นใหม่ชาวจีนก็มีการใช้โซเชียลมีเดียกันจำนวนมากตามสัดส่วนประชากรที่มีจำนวนมากของโลก  

การมีประชากรโซเชียลมีเดียจำนวนมาก และใช้เวลานานดังกล่าวจึงเป็นโอกาสของสินค้าและบริการในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ รวมถึงอุตสาหกรรมบันเทิง ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ดังกล่าวได้ โดยหนึ่งในธุรกิจที่สำคัญของจีเอ็มเอ็มทีวี คือคอนเทนต์ซีรีส์หลากหลายเนื้อหา ที่มีผู้ชมชาวจีนให้ความสนใจจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ นอกเหนือจากแฟนๆ อีกหลายประเทศ ทั้งในเอเชีย ยุโรป เป็นต้น

ข้อมูล : statistasekkeidigitalgroup

ภาพ : istock