ถ่ายทอดมรดกความรักกีฬาขี่ม้าโปโลจากพ่อสู่ลูก จนมาถึงวันนี้ “สมาคมกีฬาขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย” ซึ่งก่อตั้งโดย “วิชัย ศรีวัฒนประภา” มีอายุครบ 20 ปีเต็ม และได้มีบทบาทสำคัญในการยกระดับมาตรฐานของนักกีฬาไทยให้ทัดเทียมสากล พร้อมผงาดเป็นศูนย์กลางการจัดการแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลแห่งเอเชีย ภายใต้การขับเคลื่อนของ นายกสมาคมฯมือเก๋า “กนกศักดิ์ ปิ่นแสง” ผนึกกำลังกับ สองพี่น้องนักกีฬาทีมชาติไทยรุ่นบุกเบิก “ต๊อบ-อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” และ “ต้อล-อภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา”
“คุณพ่อรักกีฬาขี่ม้า และชอบม้ามากตั้งแต่ไหนแต่ไร ตอนผมอายุ 7-8 ขวบ คุณพ่อก็เริ่มพาไปเรียนขี่ม้า เราไปกันทั้งครอบครัวเลย เพราะเป็นครอบครัวที่ไปไหนไปกัน ชอบทำกิจกรรมร่วมกัน ตอนแรกไปเรียนฝึกศิลปะการบังคับม้า แล้วค่อยขยับไปเรียนขี่ม้าข้ามเครื่องกีดขวาง วันหนึ่งท่านอยากหาความท้าทายใหม่ๆ เลยคุยกับครูฝึกชาวเดนมาร์กว่า มีอะไรท้าทายกว่าการฝึกบังคับม้าและขี่ม้าข้ามเครื่องกีดขวางไหม ครูฝึกแนะนำให้ลองเล่นกีฬาขี่ม้าโปโล สมัยนั้นเมืองไทยยังไม่รู้จักกีฬาประเภทนี้ ไม่มีกระทั่งอุปกรณ์แข่งขันขี่ม้าโปโล ตอนที่คุณพ่อเริ่มฝึกขี่ม้าโปโล ผมถูกส่งไปเรียนไฮสกูลที่อังกฤษ จึงพักเรื่องขี่ม้าโดยปริยาย
...
ส่วนน้องชายคือ “ต๊อบ” ก็อิ่มตัวจากการขี่ม้า และหันไปเล่นฟุตบอลที่โรงเรียนแทน พี่รักกับรุ่งไม่ได้ขี่ม้าจริงจังแล้ว เพิ่งจะมาตอนอายุ 12-13 ปี คุณพ่อชักชวนให้ผมมาลองขี่ม้าโปโล โดยอาศัยช่วงปิดเทอมกลับจากอังกฤษ คุณพ่อไม่เคยบังคับลูกๆว่าต้องทำโน่นทำนี่ แต่ท่านมีศิลปะการจูงใจให้เหมือนว่าพวกเราคิดเอง คุณพ่อบอกว่าไหนๆก็ขี่ม้าเป็นอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก งั้นตามพ่อไปลองเล่นโปโล เริ่มจากหัดจับไม้ค่อยๆเล่นค่อยๆซ้อมไป สักพักพ่อชมว่าเล่นดีนะ งั้นลงทีมกันเลย คราวนี้ก็ลุยเลย!! ผมโชคดีกว่าคนเริ่มใหม่ เพราะคุณพ่อให้ขี่ม้าตั้งแต่เด็ก ปกติคนที่ไม่เคยขี่ม้า กว่าจะขี่ม้าได้คล่องต้องใช้เวลาเรียนรู้ 3-4 เดือน แต่ของผมใช้เวลาไม่ถึงอาทิตย์ก็จับไม้คล่องแล้ว เรียกว่ามันอยู่ในเซลล์อยู่แล้วเรื่องขี่ม้า
สำหรับ “ต๊อบ” คุณพ่อใช้คนละเทคนิคในการจูงใจ โดยชวนน้องมาเล่นตอนใกล้หมดฤดูกาล ให้ลงเล่นวันสุดท้ายของฤดูกาล พอ “ต๊อบ” ชอบเล่นแล้วไม่สามารถเล่นได้ ต้องรอไปอีกหลายเดือนกว่าจะเปิดฤดูกาลใหม่ เลยเป็นการกระตุ้นความอยากแบบแยบยล ผมเริ่มเล่นก่อนได้ 2 ปีกว่าๆ”...“ต้อล–อภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา” นักกีฬาขี่ม้าโปโลทีมชาติไทยรุ่นบุกเบิก เล่าถึงจุดเริ่มต้นความรักความผูกพันที่มีต่อกีฬาบนหลังม้า
“คุณวิชัย” ทุ่มเทบุกเบิกพัฒนาวงการขี่ม้าโปโลขนาดไหน?
กนกศักดิ์ : สมาคมขี่ม้าโปโลในไทย ก่อตั้งขึ้นจากความชอบและหลงใหลในกีฬาขี่ม้าโปโลของ “คุณวิชัย ศรีวัฒนประภา” ในปี 2541 และจัดการแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลเรื่อยมา เพื่อเผยแพร่กีฬาขี่ม้าโปโลให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทย จนกระทั่งในปี 2547 ได้รับการรับรองจากการกีฬาแห่งประเทศไทยให้เป็น “สมาคมกีฬาขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย” มุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการเล่นของนักกีฬาไทยให้ทัดเทียมระดับสากล
ต้อล : คุณพ่อเป็นคนทำสนามขี่ม้าโปโลแห่งแรกของเมืองไทย อยู่ที่พัทยา ชื่อว่า “สยาม โปโล ปาร์ค” ท่านบุกเบิกให้มีการจัดแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานไทยแลนด์ โปโล คิงส์คัพ เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2546 โดยนำทีมนักขี่ม้าโปโลจากประเทศต่างๆเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งทีมชาติไทยครองแชมป์จากรายการนี้ถึง 8 ปีซ้อน ต่อมาในปี 2555 ได้ริเริ่มรายการแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลระดับเอเชีย “All Asia Cup” พร้อมสร้างสนามขนาดใหญ่ขึ้นใหม่ ชื่อว่า “สนามวีเอส สปอร์ตคลับ” อยู่อำเภอบางบ่อ สมุทรปราการ ถือเป็นสนามที่ได้มาตรฐานระดับโลกแห่งแรกของไทย โดยนักกีฬาทีมชาติในแถบเอเชียจะส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันอย่างต่อเนื่องทุก 2 ปี มีทั้งบรูไน, เกาหลี, จีน, มองโกเลีย, ฟิลิปปินส์, อินเดีย, อินโดนีเซีย และไทย นอกจากนี้ ยังริเริ่มจัดการแข่งขันขี่ม้าโปโล “The Ambassador’s Cup” เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างองค์กรให้แน่นแฟ้นขึ้น พร้อมสนับสนุนการส่งนักกีฬาทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติทั่วโลก รวมถึงการแข่งขันการกุศล “จักราวาตี้คัพ” เพื่อหาเงินสมทบกองทุนมกุฎราชกุมารอังกฤษ, การแข่งขัน “คาร์เทียร์คัพ” ที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และการแข่งขัน “ควีนส์คัพ” ชิงถ้วยพระราชทานจากควีนเอลิซาเบธที่สองแห่งอังกฤษ
...
จริงไหมคะวงการขี่ม้าโปโลเข้าแล้วออกยาก
ต๊อบ : ถ้าได้เล่นแล้วจะรู้ว่าออกจากกีฬานี้ไม่ได้ เพราะมันเป็นการติดอะดรีนาลินที่อยู่ในร่างกายของเราเอง มันอธิบายยาก ผมมีแพชชันเยอะมาก
ต้อล : มันคือความหลงใหลในสิ่งที่ผมได้รู้จักกีฬานี้ตั้งแต่เด็กๆ การที่เราได้เจอกับกีฬานี้ การที่มีคุณพ่อหลงใหลในกีฬานี้ เป็นส่วนสำคัญมากๆที่ทำให้เราอยากเข้ามาเล่นกีฬานี้จริงจัง
เวลาแข่งสองพี่น้องแบ่งหน้าที่กันยังไง
ต้อล : อัยยวัฒน์เป็นสไตล์แม่นลูก และส่งลูกได้ไกล ส่วนผมเป็นสไตล์ประกบคู่แข่ง และแหวกทางให้เพื่อน ตัวต๊อบเองเล่นกับลูกได้ดี และเปิดทางให้คนอื่นก็ได้ถ้ามีโอกาส พอคนอื่นส่งลูกให้เขา เขาก็สามารถจบประตูได้ด้วย เป็นสไตล์มิดฟิลด์ตัวรุก ส่วนคุณพ่อจะเล่นเป็นกองหลังเพื่อวางเกม และป้องกันคู่แข่ง ท่านตีลูกแบ็กแฮนด์แม่นมากชนิดจับวาง
...
เกือบ 20 ปีที่เล่นให้ทีมชาติไทย นักกีฬาไทยมีศักยภาพแค่ไหน
ต้อล : ผมว่ามันคือหนึ่งในกีฬาที่ค่อนข้างจะท้าทาย การบังคับม้า การใช้ความเร็ว การทำงานเป็นทีม การทำงานที่มีความสามัคคีกันระหว่างคนกับม้า และคนกับคน เป็นกีฬาที่คนไทยรู้จักน้อย เลยพัฒนาไปได้ช้า อีกอย่างอุปกรณ์ต่างๆก็แพง การจะซื้อม้าเพื่อฝึกฝนคงเป็นเรื่องยาก แต่ถ้ามีความตั้งใจจริง และมีพรสวรรค์ ทางสมาคมกีฬาขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทยก็พร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่ อย่างในทีมชาติไทยชุด “ออล เอเชีย คัพ” ก็มีนักกีฬาเก่งๆที่เริ่มต้นจากการเป็นคนเลี้ยงม้า และได้รับการสนับสนุนจากสมาคมฯ จนพัฒนาเป็นนักกีฬาขี่ม้าโปโลอาชีพที่มีแฮนดิแคปสูงสุดในทีมชาติไทย ถือเป็นความภูมิใจของพวกเรา
ต๊อบ : ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สมาคมฯได้สร้างชื่อเสียงด้านกีฬาขี่ม้าโปโลอย่างต่อเนื่อง ผมในฐานะตัวแทนนักกีฬาขี่ม้าโปโลทีมชาติไทยรุ่นบุกเบิก เล่นมาตั้งแต่สมาคมก่อตั้ง รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสมาคมฯ ในการส่งเสริมให้กีฬาชนิดนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก ผ่านการเข้าร่วมแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งที่แข่งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เข้าใจว่าทุกกีฬาในโลกมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเล่นในทุกๆปี โปโลก็เช่นกัน กฎกติกาหรือวิธีการเล่นก็เปลี่ยนไป ถามว่ามันง่ายไหมกีฬาประเภทนี้ บอกเลยว่าไม่ง่าย ทำให้มีนักกีฬาประเภทนี้ในประเทศ ไทยน้อย เมื่อ 20 ปีก่อนแทบไม่มีใครมาเล่น สร้างทีมจากมีม้าไม่กี่ตัว จนมีม้าหลายร้อยตัว นักกีฬาที่มาเล่นต้องเข้าใจกีฬานี้ก่อน ต้องมีแพชชัน ถ้าอยากได้เหรียญทองก็ต้องซ้อมเยอะขึ้น ผมว่านักกีฬารุ่นน้องที่เก่งๆก็มีเยอะขึ้นมาก ระหว่างที่ได้มีการซ้อม และไปเล่นในระดับต่างประเทศบ่อยๆ ทำให้ผมเห็นว่านักกีฬาไทยมีความสามารถไม่ได้แตกต่าง เพียงแต่จะต้องเข้าใจบริบทของกีฬาประเภทนี้มากขึ้น
...
อะไรคือเป้าหมายมีไว้พุ่งชนของสมาคมฯ
กนกศักดิ์ : การพยายามให้กีฬาขี่ม้าโปโลถูกบรรจุในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ในปี 2568 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยสมาคมฯเรามีความพร้อมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น สนามแข่งขัน, ม้า, บุคลากรที่มีความพร้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกมาตรฐานสากล ในปี 2567 ทางสมาคมฯมีการเตรียมความพร้อมให้นักกีฬาฯได้เข้าร่วมการแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ถึง 4 รายการ ประเดิมรายการแรกด้วย “All Asia Cup” ในวันที่ 4-10 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งจะมีทีมเข้าร่วมแข่งขันจาก 5 ประเทศ ได้แก่ บรูไน, จีน, ฟิลิปปินส์, มองโกเลีย และไทย โดยนักกีฬาไทยได้เตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี และคาดว่าจะเป็นการแข่งขันที่เข้มข้น เพราะเชื่อว่าทุกทีมฝึกซ้อมกันมาอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ จะจัดการแข่งขันอีก 3 รายการสำคัญ ได้แก่ รายการ “The Ambassador’s Cup”, รายการขี่ม้าโปโลหญิง “International Ladies’ Polo Tournament” ในเดือนมีนาคม ก่อนจะปิดท้ายทัวร์นาเมนต์ด้วยรายการ “Thailand Polo Championship” ในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเป็นสนามสำหรับนักกีฬาหน้าใหม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวไปสู่นักกีฬาขี่ม้าโปโลทีมชาติไทยในอนาคต ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 20 ปี ผมรู้สึกเป็นเกียรติและประทับใจที่มีส่วนทำให้คนไทยได้รู้จักกีฬาประเภทนี้มากขึ้น รวมถึงต่างประเทศก็ได้รู้ถึงศักยภาพของนักกีฬาไทย และให้การยอมรับว่าเราพร้อมเป็นศูนย์กลางของการแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลในเอเชีย
ต๊อบ : นอกจากจะผลักดันให้กีฬาขี่ม้าโปโลได้กลับเข้าไปอยู่ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33
ผมเห็นการพัฒนาของวงการขี่ม้าโปโลในประเทศไทยมาตลอด ทีมชาติไทยคว้าเหรียญทองแดง ในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 24 เมื่อปี 2550 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ และได้เหรียญเงิน ในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 29 เมื่อปี 2560 ที่ประเทศมาเลเซีย เป้าหมายต่อไปถือเป็นความท้าทายนะครับ ที่เราต้องคว้าเหรียญทองมาครองให้ได้ในการแข่งขันซีเกมส์ ปี 2568 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง.
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่
อภิเชษฐ์
กนกศักดิ์
อัยยวัฒน์