วิธีสังเกตและป้องกัน การโดนโจรกรรมทางออนไลน์ในรูปแบบการช็อปปิ้ง ที่เหล่าอาชญากรมักจะชอบแฝงตัวเพื่อทำการหลอกลวงผู้บริโภคอยู่เป็นประจำ

เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีเครื่องมือในการใช้งานบนโลกดิจิทัลออนไลน์อย่างหลากหลาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และผู้ใช้งานธุรกรรมทางออนไลน์

ปัจจุบันมีร้านค้าต่างๆ และมีการซื้อ-ขาย บนโลกออนไลน์เพิ่มเป็นจำนวนมาก ข้อดี คือ ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องออกไปยังร้านค้าเองให้เสียเวลา และสามารถดูรีวิวจากผู้ใช้งานจริง และอำนวยความสะดวกในเรื่องการขนส่ง ไม่ยุ่งยากหลายขั้นตอน จึงตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่เป็นอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม ข้อดีมักจะมาพร้อมข้อที่ควรต้องระวัง เพราะการทำธุรกรรมออนไลน์ หรือช็อปปิ้งออนไลน์ มักจะมีมิจฉาชีพแฝงตัวอยู่เสมอ ทำให้มีผู้ประสบภัยทางออนไลน์ และร้องเรียนปัญหาภัยออนไลน์มากขึ้นในทุกๆ ปี 

รายงานจาก Global Risks Report 2023 เผยว่า อาชญากรรมในโลกไซเบอร์จะกลายเป็นหนึ่งในความเสี่ยง 10 อันดับแรก ในช่วง 2-10 ปีข้างหน้า

แม้จะมีแนวทางการป้องกันที่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่เหล่ามิจฉาชีพก็มักจะหากลอุบายอื่นๆ มาหลอกลวงผู้บริโภคอย่างเราได้เช่นกัน ดังนั้นแล้วผู้ที่นิยมช็อปปิ้งออนไลน์ควรตรวจสอบที่มาที่ไปหลายๆ อย่างอย่างถี่ถ้วน

วิธีป้องกันตัวไม่ให้โดนหลอกจากการช็อปปิ้งออนไลน์

...

1. ตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะชำระเงิน

การตรวจสอบข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญก่อนที่จะทำธุรกรรมทางการเงิน หรือสั่งซื้อสินค้า เช่น การตรวจสอบที่มาที่ไปของเว็บไซต์, การตรวจสอบบัญชีต่างๆ ข้อมูลผู้ขายให้ถี่ถ้วน หรือแม้กระทั่งการรีวิว เพื่อความแน่นอน และแน่ใจว่าจะได้รับสินค้าจากการซื้อออนไลน์อย่างแน่นอนโดยไม่ถูกสวมรอย

2. ห้ามหลงกลในโปรโมชันล่อใจ เช็กแพ็กเกจ และราคาเทียบกับเจ้าอื่นๆ

พิถีพิถันทางด้านราคา โปรโมชัน และแพ็กเกจให้มากกว่าเดิม ห้ามใจไวเห็นราคาถูกแล้วกดสั่งซื้อเลยเด็ดขาด เพราะส่วนใหญ่แล้วราคาของสินค้าที่เราสนใจอาจจะต่างกันไม่มากนัก ควรเช็กที่มาที่ไปของราคาให้ละเอียด

3. ตรวจสอบเว็บไซต์บริษัทขนส่งร่วมด้วยก่อนซื้อ-ขาย

บางครั้งมิจฉาชีพอาจจะมาในรูปแบบบริษัทขนส่ง ที่นอกจากจะทำให้เราไม่ได้รับสินค้าตามที่ต้องการแล้ว อาจทำให้ทราบข้อมูล ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ของผู้ซื้อ เพื่อเก็บข้อมูลของลูกค้าไปใช้ในการทำโจรกรรมในครั้งถัดไป ผู้ซื้อควรตรวจสอบอีเมล หรือหมายเลขโทรศัพท์กับทางบริษัทขนส่งโดยตรงเพื่อความมั่นใจ โดยผู้ประกอบการขนส่งที่ถูกกฎหมายจะไม่ขอรายละเอียดของลูกค้าล่วงหน้ามากนัก

4. หมั่นศึกษา หาความรู้เกี่ยวกับการใช้งานบนแพลตฟอร์มออนไลน์

ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถเปิดให้ผู้ใช้งานมาทำการ ซื้อ-ขาย ออนไลน์ได้อย่างมากมาย ทำให้หากผู้ใช้งานไม่ได้ตรวจสอบ ศึกษาข้อมูลการใช้งานของแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ให้แน่ชัด อาจเป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวทางออนไลน์โดยไม่ได้ตั้งใจ และอาจตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพเหล่านี้ได้โดยง่าย และตรวจสอบกิจกรรมของคุณให้ดีก่อนจะแชร์โพสต์เหล่านี้ลงบนโซเชียลมีเดีย

...

5. เน้นใช้บัตรเครดิตในการชำระเงินเป็นลำดับแรก

การใช้บัตรเครดิต อาจสร้างความปลอดภัยได้ระดับนึง เนื่องจากบัตรเครดิตตามธนาคารส่วนใหญ่จะมีการคุ้มครอง และปกป้องการชำระเงินของผู้ใช้งานในการถูกฉ้อโกงทางออนไลน์ โดยสามารถระงับการชำระ และอายัดเงินคืนกลับมาได้อย่างทันท่วงที

6. ห้ามใช้ Wi-Fi สาธารณะในการช็อปปิ้ง

อาชญากรผู้ไม่หวังดีเหล่านี้สามารถเข้าถึง Wi-Fi สาธารณะ เช่น ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ โรงแรม และอื่นๆ ได้เช่นกัน และมักจะทำการซ่อนตัวเพื่อล้วงข้อมูลของผู้ใช้งาน และทำให้ข้อมูลที่เป็นความลับของเรารั่วไหลได้

7. อัปเดตระบบซอฟต์แวร์ และระบบความปลอดภัยของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่เสมอ

เนื่องจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มีการพัฒนาระบบอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการอัปเดตระบบซอฟต์แวร์ และระบบความปลอดภัยของอุปกรณ์ของผู้ใช้อยู่สม่ำเสมอ ก็จะสามารถป้องกันภัยคุกคามทางออนไลน์ หรือการฉ้อโกงได้ดีกว่า

ข้อมูล : worldeconomicforum

ภาพ : istock