เมื่อวันหยุดยาวในเทศกาลปีใหม่ 2567 ต้องหมดลง หลายคนอาจรู้สึกหดหู่ ไม่อยากกลับไปเจอโลกแห่งความจริงของการทำงานหรือไปเรียนหนังสือ ซึ่งภาวะอารมณ์ดังกล่าวอาจเป็นอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว จะมีลักษณะอาการอย่างไร แล้วเราจะรับมืออย่างไรได้บ้าง

อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวคืออะไร

อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว (Post Vacation Blues) คือ ภาวะอารมณ์เศร้าๆ หลังกลับจากการไปเที่ยวหรือหลังจากผ่านช่วงวันหยุดยาว ซึ่งเกิดจากการที่เราอนุญาตให้ตนเองมีเวลาแห่งความสุขในช่วงเวลาพิเศษ แล้วต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมกลับสู่วันธรรมดาที่ไม่สุขได้เท่าเวลาไปเที่ยว จึงทำให้เกิดความทุกข์ทรมานใจที่ต้องกลับไปใช้ชีวิตตามปกติในวันธรรมดา ความรู้สึกเศร้าแบบนี้เกิดขึ้นได้เสมอในบุคคลทั่วไป และไม่จัดว่าเป็นความป่วยทางจิตเวช โดยมีลักษณะอาการดังต่อไปนี้

อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว (Post Vacation Blues) มักเกิดกับคนที่รู้สึกเบื่องานของตนเองอยู่แล้ว (ภาพจาก iStock)
อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว (Post Vacation Blues) มักเกิดกับคนที่รู้สึกเบื่องานของตนเองอยู่แล้ว (ภาพจาก iStock)

...

  • รู้สึกไม่อยากทำงาน เบื่อหน่าย และมีอาการซึมเศร้า
  • เกิดจากการที่ร่างกายเคยชินกับการพักผ่อน และไม่พร้อมที่จะกลับมาเริ่มต้น
  • อาการนี้มักจะเกิดกับคนที่เบื่องานของตัวเองอยู่แล้ว
  • ระดับความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับความเบื่อหน่ายที่มีอยู่เดิม
  • อาการนี้จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง สมาธิลดลง หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสีย ใจลอย
  • ระยะของอาการจะเป็นอยู่ 2-3 วัน จากนั้นก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ
  • สามารถพบได้ในทุกวัย ในกลุ่มคนที่มีความเบื่อหน่ายงานของตัวเอง

วิธีรับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว

1. ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบ

หลังจากพ้นวันหยุดยาวได้ 2-3 วัน จะเป็นช่วงที่หลายคนรู้สึกไม่อยากไปทำงานมากที่สุด จึงต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจในการปรับสภาพจิตใจในช่วงนี้มากพอสมควร เพื่อเบี่ยงเบนอารมณ์เศร้า ลองทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น เล่นเกม ดูซีรีส์ ฟังเพลง ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ออกกำลังกาย หรือจะหันมาทำความสะอาด จัดระเบียบบ้าน ตกแต่งมุมโปรดใหม่เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ ก็ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

2. วางแผนจัดทริปเที่ยวครั้งต่อไป

สำหรับใครที่เพิ่งกลับจากการไปเที่ยวหลังหยุดยาว การต้องกลับไปทำงานอาจเป็นเรื่องหดหู่ใจ โดยเฉพาะคนที่มีอาการ Burnout ดังนั้นการวางแผนจัดทริปเที่ยวครั้งต่อไปก็จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจเบี่ยงเบนอารมณ์เศร้าได้ โดยเริ่มจากวางแผนว่าจะไปที่ไหน ไปกี่วัน พักที่ไหน ทำกิจกรรมอะไรบ้าง พร้อมเตรียมตัวเก็บเงินสำหรับการเดินทางครั้งต่อไป ด้วยการตั้งใจทำงานให้ดีเพื่อเป้าหมายที่วางไว้นั่นเอง

แรงบันดาลใจที่ดีที่สุดของคนชอบเที่ยวคือการวางแผนทริปถัดไป (ภาพจาก iStock)
แรงบันดาลใจที่ดีที่สุดของคนชอบเที่ยวคือการวางแผนทริปถัดไป (ภาพจาก iStock)

3. ออกกำลังกายแก้เครียด

ขณะที่เราออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอ็นโดรฟินให้เรามีความสุข ลืมความทุกข์ไปชั่วขณะ และยังทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย อาจจะเริ่มต้นจากการออกกำลังกายที่บ้าน เช่น บอดี้เวต วิ่งในสวนแถวบ้าน ว่ายน้ำในพื้นที่ส่วนกลางของคอนโดฯ ซึ่งทำได้ไม่ยาก ขอแค่มีแรงบันดาลใจเพื่อการมีรูปร่างที่ดีและสุขภาพแข็งแรงก็เพียงพอ

การออกกำลังกายช่วยเพิ่มฮอร์โมนเอ็นโดรฟิน ให้เรามีความสุขพร้อมสุขภาพดีไปพร้อมกัน (ภาพจาก iStock)
การออกกำลังกายช่วยเพิ่มฮอร์โมนเอ็นโดรฟิน ให้เรามีความสุขพร้อมสุขภาพดีไปพร้อมกัน (ภาพจาก iStock)

4. กินอาหารที่ดี พักผ่อนให้เพียงพอ

หากรู้สึกอ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้าจากการไปเที่ยวหลังวันหยุดยาว การกินอาหารที่ดี มีประโยชน์ อุดมด้วยโปรตีน มีไขมันน้อย เช่น ไก่ ปลา ไข่ไก่ ผักและผลไม้สด รวมถึงการนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง จะช่วยซ่อมแซมและฟื้นฟูร่างกายได้เร็วขึ้น

...

5. อย่ามองข้ามภาวะหมดไฟในการทำงาน

ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome ถูกองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดว่าเป็นอาการป่วยที่มีผลมาจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน และควรได้รับการดูแลจากแพทย์ก่อนรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต สาเหตุจากการเผชิญกับความเครียดในที่ทำงานเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ ที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงาน วิธีสังเกตง่ายๆ คือ เหนื่อยล้า หมดพลัง ชอบคิดลบต่อความสามารถของตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในความสำเร็จ เจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานประเมินว่าเรามีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานได้ไม่เหมือนเดิม และที่พบบ่อยคือ ความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานและคนรอบข้างแย่ลง

ภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นอาการป่วยจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน ซึ่งต้องรีบรักษา (ภาพจาก iStock)
ภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นอาการป่วยจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน ซึ่งต้องรีบรักษา (ภาพจาก iStock)

...

ทั้งนี้ ภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว (Post Vacation Blues) ต้องอาศัยการรู้เท่าทันอารมณ์หรือจิตใจ ที่จะช่วยให้เรารับรู้ภาวะที่เรากำลังเผชิญ ซึ่งสามารถหายเองได้ภายใน 2-3 วัน เมื่อยอมรับชีวิตได้อย่างที่เป็น แต่หากอาการซึมเศร้ายาวนานเกิน 2 สัปดาห์ ควรปรึกษานักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์

ข้อมูลอ้างอิง : รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, รพ.รามาธิบดี, รพ.สมิติเวช

ภาพ : iStock