นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ เปิดใจกับชีวิตก่อนและหลังได้รางวัลซีไรต์ จากเรื่องสั้น 11 เรื่อง Family Comes First ด้วยรักและผุพัง พร้อมเผยถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับจากการอ่านงานของสตีเฟน คิง และฮารูกิ มูราคามิ และเคล็ดไม่ลับการสร้างวินัยในฐานะนักเขียน

มิน นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ เจ้าของรางวัลซีไรต์จากผลงานเรื่องสั้น Family Comes First ด้วยรักและผุพัง ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปี 2566 ในเวลานี้ นริศพงศ์ ย้ายมาพำนักที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว และกำลังทำงานเป็นล่ามจากภาษาไทย-ญี่ปุ่น และอังกฤษ-ญี่ปุ่น 

ไทยรัฐออนไลน์ ได้นัดพบกับ นริศพงศ์ ผ่านวิดีโอคอล ด้วยเหตุผลความห่างไกลจากระยะทางกว่า 2,680 ไมล์ ในช่วงหัวค่ำวันหนึ่งของปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่ค่อนข้างดึกพอสมควรตามเวลาท้องถิ่นที่ประเทศญี่ปุ่น

วินัย แรงบันดาลใจส่งผ่านจากงานของ คิงและมูราคามิ

ในวันที่เราได้สนทนากับนริศพงศ์ เขาได้รางวัลซีไรต์เรียบร้อยแล้ว และหนังสือ Family Comes First ด้วยรักและผุพัง กำลังอยู่ระหว่างการพิมพ์ปกใหม่ ที่มาพร้อมกับสัญลักษณ์รางวัลซีไรต์

เราได้ถามว่า เขารู้สึกอย่างไรกับการได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนรางวัลดีกรีซีไรต์ คำตอบที่ได้รับกลับมาจากผู้เขียนก็คือ "มันเป็นความรู้สึกเหนือจริง ดีใจและงงไปพร้อมกัน แต่ในด้านอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบูสต์ Self-esteem ของผมเองได้เหมือนกัน ไม่ใช่แค่ในฐานะนักเขียน แต่ในฐานะตัวตนของเรา"

เมื่อย้อนกลับไปถามว่า ในตอนที่กำลังคร่ำเคร่งกับต้นฉบับ "Family Comes First ด้วยรักและผุพัง" ความรู้สึกในตอนนั้นเป็นอย่างไร นริศพงศ์ ย้อนความหลังให้ฟังว่า อันที่จริงตอนที่เขียนเสร็จแล้วก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมากนัก และไม่รู้ว่าจะได้รับการตีพิมพ์รึเปล่า 

...

"ผมคิดว่ามันเหมือนการปีนเขา ปีนขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่ายอดของมันอยู่ตรงไหน" เขากล่าวต่อไปว่า "พูดง่ายๆ คือมันไกลเกินกว่าจะรู้สึกดีใจ"

นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ เจ้าของรางวัลซีไรต์จากผลงานเรื่องสั้น Family Comes First ด้วยรักและผุพัง
นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ เจ้าของรางวัลซีไรต์จากผลงานเรื่องสั้น Family Comes First ด้วยรักและผุพัง

นริศพงศ์ เล่าต่อไปว่า เมื่อได้เห็นเป็นรูปเล่มแล้วก็รู้สึกดีใจ คละเคล้ากับความรู้สึกที่ยากเกินกว่าจะเอื้อนเอ่ยเป็นถ้อยคำ แต่สิ่งที่อธิบายได้ก็คงเป็นตอนที่เขียนเมลพร้อมกับแนบต้นฉบับของเรื่องสั้นไปให้กับสำนักพิมพ์แซลมอน 

"หลังส่งต้นฉบับไป 3 เดือน ก็ได้รับเมลจากปฏิกาล ภาคกาย ซึ่งเป็นบรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์แซลมอนว่า 'อ่านจบแล้วครับ เราชอบงานชุดนี้ของมินมากๆ ถ้ามินยังอยากตีพิมพ์อยู่เราจะดีใจมากๆ เลยครับ' แค่นั้นเลย"

จากนั้นเราได้ถามว่า งานเขียนเรื่องใหม่ได้เริ่มต้นแล้วหรือยัง นริศพงศ์ตอบว่า กำลังเขียนอยู่ โดยงานชิ้นใหม่ถูกสร้างสรรค์ในลักษณะของนิยาย และได้เริ่มคุยกับปฏิกาล ภาคกาย จากสำนักพิมพ์แซลมอนไปบ้างแล้ว โดยทางสำนักพิมพ์ก็รอผลงานเรื่องใหม่เช่นกัน 

สตีเฟน คิง
สตีเฟน คิง

"ผมอยากเป็นนักเขียนที่ผลิตผลงานออกมาเรื่อยๆ น่ะครับ เหมือนกับสตีเฟน คิง และฮารูกิ มูราคามิ ที่มีผลงานใหม่ต่อเนื่องในทุกๆ ปี" นริศพงศ์ ยืนยัน

จากการพูดคุยควรต้องกล่าวว่า นริศพงศ์ เป็นนักเขียนที่มีวินัยด้านการเขียนที่สูงมาก แม้ว่าจะมีงานล้นมือจากการทำงานประจำในช่วงที่ยังอยู่ประเทศไทย แต่งานเขียนที่ค่อยๆ ประกอบสร้างอย่าง Family Comes First ด้วยรักและผุพัง ซึ่งถูกบันทึกบน Google Docs ด้วยจำนวน "1 หน้ากระดาษ A4" ต่อวัน โดยไม่มีเงื่อนไขด้วยว่า ต่อให้วันนั้นจะเหนื่อย จะเมากลับบ้านตี 3 จะอย่างไรก็ต้องเขียน ต่อให้เขียนแล้วกลับมาอ่านทีหลังแล้วไม่รู้เรื่องก็ต้อง "เขียนทุกวันวันละ 1 หน้ากระดาษ A4"

...

เราถามว่า อะไรคือความยากของการเป็นนักเขียน นริศพงศ์ ใช้เวลาสักครู่หนึ่งก่อนที่จะตอบว่า คงเป็นเรื่องของการยืนระยะและการเขียนให้เสร็จเป็นเรื่องที่ยากที่สุด 

"ผมคิดว่าการหาไอเดียมาเขียนไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเขียนไปให้สุดทางโดยไม่ล้มเลิก อันนี้ยากมาก แต่ที่ยากกว่านั้นคือวินัยที่มีต่อการเขียน" 

ในเรื่องวินัยที่มีต่อการเขียนเป็นสิ่งที่เราถาม นริศพงศ์ว่า อะไรเป็นจุดที่ทำให้ตัวเขามีวินัยที่ดีในการเขียนงาน เขาใช้เวลาไม่นานที่จะตอบคำถามนี้ว่า เขาไม่อยากแพ้ ไม่อยากเป็น Loser 

"หากเราล้มเลิกไม่เขียนต่อ ถ้าเราย้อนกลับมาดูตัวเองก็คงรู้สึกพังกับมันมากกว่าความรู้สึกเหนื่อย ผมคิดว่าความเจ็บป่วยหลังจากที่ล้มเลิกไปมันคงหนักหนากว่าการต้องเค้นสมองเขียนนิยาย เพราะฉะนั้นแล้วก็เขียนเถอะ"

ปัจจุบัน นริศพงศ์ ลดความดุดันที่มีต่อปริมาณการเขียนในแต่ละวันลง พร้อมกับหย่อนความตึงของตัวเองลงเหลือแค่การเขียนวันละ 5-10 นาที ซึ่งเขาพูดคละเคล้าไปพร้อมกับเสียงหัวเราะ

"ถ้าเจียดเวลาแค่ 5 นาทีไปเขียนงานไม่ได้ก็ไม่ต้องเป็นนักเขียนแต่แรก ผมบอกตัวเองแบบนี้นะ ซึ่งการกำหนดให้ตัวเองเขียนงานวันละ 5 นาทีทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นแล้วหนังสือเล่มใหม่มันมาจากการใช้สูตรเขียนวันละ 5-10 นาที เหมือนกับ 'การหยอดกระปุก' นั่นแหละครับ"

ในขณะที่เรากำลังคุยอย่างออกรส เราได้ลองถามว่า ในห้วงเวลาที่กำลังปั่นต้นฉบับ Family Comes First ด้วยรักและผุพัง มันพอที่จะเปรียบให้เป็นหนังสือสักเล่มหนึ่งได้หรือไม่ ถ้าได้คิดว่าควรจะเป็นเล่มไหน

On Writing: A Memoir of the Craft เวทมนตร์ฉบับพกพา ของสตีเฟน คิง
On Writing: A Memoir of the Craft เวทมนตร์ฉบับพกพา ของสตีเฟน คิง

...

เขาตอบว่า น่าจะเป็นหนังสือที่มีชื่อว่า On Writing: A Memoir of the Craft เวทมนตร์ฉบับพกพา ของสตีเฟน คิง ซึ่งกล่าวถึงชีวิตการเป็นนักเขียนของสุดยอดนักเขียนนิยายสยองขวัญ โดยนริศพงศ์ ยืนยันเสียงดังฟังชัดว่า "ถ้าไม่มีหนังสือเล่มนี้ของสตีเฟน คิง ผมก็อาจเขียนด้วยรักและผุพังไม่จบ"

นริศพงศ์ ย้ำว่ามันมีประโยคหนึ่งในหนังสือ On Writing: A Memoir of the Craft ซึ่งสตีเฟน คิง เขียนประมาณว่า "ผมค้นพบว่าการเลิกเขียน เพราะรู้สึกว่ามันยาก หรือทำได้ไม่ดี ไม่ใช่ความคิดที่ดีเลย คุณต้องเขียนต่อไปแม้สิ่งที่คุณรู้สึกว่าสิ่งที่คุณกำลังทำเหมือนการละเลงขี้ไม่ไปไหนสักที แต่คุณก็ต้องเขียนมันออกมา" พออ่านประโยคนี้แล้วมันก็ทำให้เกิดความรู้สึกปลดล็อกตัวนริศพงศ์ กล่าวคือ เขียนดีหรือเขียนไม่ดี ก็เขียนไปก่อน ทุกอย่างมันแก้ได้ แต่ถ้าไม่เขียนมันก็จะไม่มีอะไรสักอย่าง ซึ่งนี่เป็นการ "ปลดล็อกความกลัว" ทั้งหมด

เราได้เปลี่ยนหัวข้อสนทนาแล้วถามว่า อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชายคนหนึ่งเชื่อว่าตัวเขานั้นสามารถเป็น "นักเขียน" ได้ เขาเล่าว่า ส่วนหนึ่งมาจากการอ่านงานเขียนของฮารูกิ มูราคามิ 

ฮารูกิ มูราคามิ
ฮารูกิ มูราคามิ

...

"ผมอ่านงานของมูราคามิตั้งแต่ตอนยังเรียนมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นเซตรวมเรื่องสั้น เช่น 'เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน', 'ปีศาจแห่งเล็กซิงตัน' หรือ 'ทีวีพีเพิล' ซึ่งผมชอบ แล้วรู้สึกว่ามันทำงานกับเรา" เขาเล่า "ผมคิดว่าผมน่าจะเป็นนักเขียนได้ เหมือนกับฮารูกิ มูราคามิ ที่นอนดูเบสบอลแล้วก็มีความรู้สึกว่าน่าจะเป็นนักเขียนได้ ซึ่งไม่รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เชื่อแบบนั้น จากนั้นงานที่ถูกทดลองเขียนก็ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ Stoylog ผ่านโปรแกรม Microsoft Words"

เมื่อถูกถามว่า ผลตอบรับเป็นอย่างไร นริศพงศ์ บอกว่า ผลตอบรับค่อนข้างดี โดยที่ไม่ได้คิดคำนึงว่าเรื่องสั้นที่จริงมันควรเขียนอย่างไร แต่ก็เขียนไปโดยสัญชาตญาณ พลางคิดว่า "มันคงเขียนแบบนี้แหละมั้ง" และ "เรื่องของเรามันไม่ได้แย่นี่หว่า" จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่ทำให้เกิดความมั่นใจที่จะผลิตงานออกมาเรื่อยๆ 

เราแทรกถามว่า ยังจำชื่อเรื่องที่เขียนตอนนั้นได้หรือไม่ ซึ่งนริศพงศ์ บอกว่า ยังจำได้ ชื่อเรื่องในตอนนั้นคือ "4 นาฬิกา 30 นาที"

"เรื่องสั้นเรื่อง 4 นาฬิกา 30 นาที ผมจำไม่ได้ว่าเป็นภาพยนตร์จากสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย แต่เป็นชื่อหนังที่ตรงกับห้วงเวลาชีวิตที่มีความรู้สึกเหงาๆ กับความเดียวดายส่วนตัว จนกลายเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกในที่สุด"

เรากลับมาที่บทสนทนาที่คั่งค้างว่า จากการเป็นแฟนคลับของฮารูกิ มูราคามิ ถึงที่สุดแล้วมันได้ส่งอิทธิพลต่องานของ Family Comes First ด้วยรักและผุพังมากน้อยแค่ไหน นริศพงศ์ ตอบกลับว่า ในความเห็นของเขากลับไม่รู้สึกแบบนั้น เพราะว่าอิทธิพลของมูราคามิที่มีผลจริงๆ เป็นเรื่องของชีวิตคนหนึ่งคนที่มีความโดดเดี่ยวมากกว่า

"อันที่จริงตัวละครของมูราคามิในนิยายชีวิตไม่ได้มีปัญหานะ เป็นชนชั้นกลางที่มีฐานะ และไม่ได้มีชีวิตที่ปากกัดตีนถีบอะไร เพียงแต่ว่า 'ด้วยรักและผุพัง' มันไม่ได้มีอารมณ์แบบนั้น หากแต่เป็นความเศร้าที่เกิดจากการถูกกดทับ หรือความรักที่ล้นเกิน"

นริศพงศ์ สรุปว่า อิทธิพลของมูราคามิที่ส่งมาถึงตัวเขาเป็นในแง่ของภาษามากกว่า โดยเป็นภาษาที่ผ่านการแปลมาแล้ว เช่น บันทึกนกไขลาน (The Wind-Up Bird Chronicle) ซึ่งเป็นเล่มแรกที่นริศพงศ์อ่าน อีกทั้งเป็นการแปลภาษาที่รู้สึกแปลกใหม่ สวยงาม มีเสน่ห์ และน่าหลงใหล รวมถึงเรื่องราวที่น่าสนใจจากปลายปากกาผู้เขียนด้วย

11 เรื่องสั้น Family Comes First ด้วยรักและผุพัง
11 เรื่องสั้น Family Comes First ด้วยรักและผุพัง

ในหนังสือ Family Comes First ด้วยรักและผุพัง มีความเป็นความเป็นจีนสูงมาก โดยเรื่องสั้นทั้ง 11 เรื่อง นริศพงศ์ บอกว่า ทุกเรื่องมีความจริงอยู่ในนั้น ยกตัวอย่างเช่น เรื่องแรกในหนังสือ "วันที่ครอบครัวกลับบ้าน" มีเค้าโครงจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีบริการให้ยืมญาติ แล้วถูกถ่ายทอดผ่านสารคดีที่มีชื่อว่า Rent a family หรือเรื่อง "ป๊าบอกว่า" ที่เกี่ยวข้องกับการส่งต่ออำนาจภายในบ้าน อย่างเช่น รุ่นอากง-อาม่า ยังมีชีวิตอยู่ คนที่มีอำนาจมากที่สุดก็คือ อากง ถ้าผู้ชายเสียชีวิตก็จะเป็นอาม่า เมื่ออาม่าเสียชีวิตอำนาจก็ส่งต่อไปยังลูกชายคนโต 

"เพียงแต่ว่าบ้านของผมไม่มีอะไรแบบนี้นะ แต่ผมก็รู้สึกว่าการส่งต่ออำนาจภายในบ้านเป็นเรื่องน่าสนใจ จนกลายเป็นเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า 'ป๊าบอกว่า' อย่างไรก็ดี ตัวอำนาจมันก็กดทับคนที่ถือมันเช่นกันนะ ไม่ได้กดทับเฉพาะคนที่อยู่เบื้องล่างของอำนาจอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายแล้วตัวละครในเรื่องก็ถูกสิ่งที่เรียกว่าอำนาจทำร้าย ชนิดที่ตัวละครก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำมีความหมายอะไร แต่ก็ก้มหน้าทำเพราะคำว่า 'ป๊าบอกว่า' เท่านั้น"

อีกหนึ่งเรื่องที่ นริศพงศ์ ยอมรับว่า "เป็นเรื่องที่จริง" นั่นคือเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า "พี่สาวของผม" ซึ่งก็มีพื้นฐานมาจากชีวิตของผู้เขียนบางส่วน อย่างไรก็ดี เรื่องสุดท้าย "Pieces เศษเสี้ยว บทสนทนา ความทรงจำ" ถือเป็นเรื่องที่มีความเป็นนริศพงศ์ และมีความหมายมากที่สุด 

"สำคัญที่สุดเลยคือ ผมผูกพันกับแม่มากที่สุดในชีวิต แต่บางทีทั้งที่มันใกล้กันมากๆ แต่เราก็ไม่เคยรู้ลึกว่าชีวิตของแม่ตอนสาวๆ เป็นแบบไหน ถึงแม้จะมีหลุดเล่าให้ฟังออกมาบ้าง จากการเป็นคนช่างพูด จนเกิดเป็นคำถามว่า แม่ของเรามีชีวิตแบบไหนมาก่อนนะ" นริศพงศ์ เล่าต่อว่า "แม่ของผมมาจากฮ่องกง ตอนสาวๆ เคยมีเจ้าของร้านเพชรเอาแหวนเพชรมาให้ 1 วง แล้วบอกว่าให้มาแต่งงานกัน โดยที่ตอนนั้นแม่ของผมก็คบกับพ่อผมในขณะนั้น ไปเลิกกับแฟนแล้วมาแต่งงานกับผม ซึ่งสุดท้ายแม่ก็เลือกพ่อ เพราะว่าพ่อหล่อกว่าเจ้าของร้านเพชร ผมรู้สึกว่ามันมีเรื่องอีกเยอะมากของแม่ที่เราไม่เคยรู้ และเราก็ปลงเหมือนกันว่าบางเรื่องมันก็จะจากไปพร้อมกับแม่เรา แต่มันก็ทำให้เราตระหนักว่าถ้ามีโอกาสจะถามอะไรได้ เราก็อยากจะถามเขา ถ้ามีโอกาส"

เรื่องสั้นเรื่อง 12 ที่หายไป

เมื่อสนทนาสักระยะหนึ่ง เราได้ถามว่า ทำไมหนังสือ Family Comes First ด้วยรักและผุพัง ถึงมีเรื่องสั้นจำนวน 11 เรื่อง ซึ่งนริศพงศ์ บอกว่า อันที่จริงแล้วมีด้วยกัน 12 เรื่อง แต่ด้วยความที่ตัวเรื่องที่ 12 มันมีความไม่ชัดเจนในบางประเด็น แล้วรู้สึกว่ามันฉีกกับเรื่องอื่นๆ อีกทั้งการที่มีเรื่องสั้นจำนวน 11 เรื่อง ในเชิงปริมาณมันก็ไม่เยอะเกินไป ถ้าลดเหลือ 8-9 เรื่องก็อาจดูน้อยเกินไป ถ้าเป็น 14-15 เรื่องก็น่าจะเยอะไป

อย่างไรก็ดี นริศพงศ์ บอกว่าก่อนที่จะนั่งสนทนากับไทยรัฐออนไลน์ เขาได้ย้อนกลับไปอ่าน "เรื่องที่ 12" อีกครั้งหนึ่ง แล้วพบว่า เรื่องที่ถูกตัดออกไป มันเป็นเรื่องที่ "โคตรจะเป็นด้วยรักและผุพัง" 

"มาจนถึงตอนนี้แล้วผมก็รู้สึกเสียดายนะ มันเป็นเรื่องที่สะเทือนใจ มีความโหดร้าย แต่ก็อยากให้คนได้อ่าน" นริศพงศ์ กล่าว

นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์
นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์

ในแง่ของการเป็นนักเขียน สิ่งที่เราอยากทราบจากคนที่เป็นนักเขียนว่า การประกอบอาชีพนี้ ความสนุกคืออะไร เขาตอบว่า "มีสองสามอย่าง อย่างแรกคือการเยียวยาตัวเราเอง ทำให้เราได้ทบทวนชีวิต การประกอบสร้างจนเป็นตัวเรา อย่างที่สองคือการสำรวจ ทำให้เราได้สำรวจชีวิตตัวเอง"

"ผมคิดว่ามันไม่ใช่ทุกงานที่จะทำให้เราได้ทำสิ่งนี้ ถ้าไม่มีการเขียนหรือการอ่าน ในชีวิตเราคงแห้งแล้งมาก หนังสือและการเขียนเป็นสิ่งที่เข้ามาเติมเต็มชีวิต" นริศพงศ์ กล่าวเสริม

ในฐานะนักเขียนที่เพิ่งคว้ารางวัลซีไรต์ สิ่งที่เราอยากรู้จากมุมมองของนักเขียนว่าคาดหวังกับใบหน้าของคนที่อ่าน "Family Comes First ด้วยรักและผุพัง" เอาไว้อย่างไร

นริศพงศ์ อธิบายคำตอบของคำถามนี้ว่า สิ่งที่ตัวเขาอยากให้เกิดขึ้นคืออย่างน้อยคนอ่านต้อง "รู้สึก" ไม่ว่าจะเป็นการอ่านแล้วไม่ได้รู้สึกมีความสุข ทั้งในเชิงของตัวละครในเรื่องและคนที่อ่าน ตามด้วยการอ่านแล้วทำให้ได้เกิดการทบทวนหรือสะท้อนกลับมายังตัวของผู้อ่านเองว่ามีความคล้องจองระหว่างเรื่องราวในหนังสือกับเรื่องราวของตัวเอง

หนังสือและชีวิต

Killing Commendatore
Killing Commendatore

เรามาถึงช่วงท้ายของการพูดคุยครั้งนี้ เราได้ถามว่า ถ้าเปรียบชีวิตเป็นหนังสือ จะมีหนังสือเล่มไหนที่ตรงกับช่วงชีวิตในตอนนี้มากที่สุด นริศพงศ์ ยอมรับว่า เป็นคำถามที่ตอบได้ยากเหมือนกัน แต่ก็คิดว่าคงเป็น Killing Commendatore สังหารจอมทัพอัศวิน ของฮารูกิ มูราคามิ 

"สิ่งที่ผมสัมผัสจากหนังสือเล่มนี้คือ มันเป็นเรื่องคนวัยกลางคนที่ยอมจำนนกับกระแสชีวิต แม้ว่าผมจะไม่ได้เจอวิกฤติชีวิตแบบในหนังสือ แต่ก็มีเหตุการณ์ที่จำต้องปล่อยไหลไปกับชีวิตบ้าง เพราะบางทีเราก็ทำอะไรไม่ได้มากนอกจากต้องปล่อยไป"

ขณะที่เล่มที่สอง นริศพงศ์ กล่าวว่า ไม่ได้ตรงกับชีวิตมากมายนัก แต่สิ่งที่โดนหัวจิตหัวใจกลับเป็นชื่อหนังสือที่มีชื่อว่า Someone Who Will Love You in All Your Damaged Glory หรือในชื่อภาษาไทย ใครสักคนที่จะรักทั้งเมื่องดงามและยามพังทลาย

"เนื้อหาเป็นเรื่องสั้นของความสัมพันธ์ ส่วนตัวผมเชื่อมโยงกับประโยคนี้ที่ว่าใครสักคนรักทั้งในช่วงที่งดงาม และพังทลาย ซึ่งผมก็ประสบกับความไม่สบายใจในบางเรื่อง แต่สิ่งที่ดีคือพ่อแม่ คนในครอบครัว และเพื่อนยังคอยสนับสนุนตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่ประสบความสำเร็จ หรือในเวลาที่ตัวเรารู้สึก 'พัง' ก็ตาม ผมว่ามันก็เป็นชีวิตที่โอเคนะ ถ้ายังมีคนที่อยู่กับเราแล้วก็เชื่อในตัวเรา"

หน้าปกสุดเดือดของ Family Comes First ด้วยรักและผุพัง
หน้าปกสุดเดือดของ Family Comes First ด้วยรักและผุพัง

นริศพงศ์ ถูกถามว่า ถ้าหากในอนาคตอันใกล้ หรืออนาคตอันไกล มีอันต้องกลับมาสานภาคต่อ Family Comes First ด้วยรักและผุพัง ในวันที่มีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น เขาให้คำตอบในคำถามนี้ว่า เมื่อถึงเวลานั้น แม้จะถูกนำเสนอด้วยประเด็นความเป็นจีน แต่ก็คงมีมุมมองที่เปลี่ยนไป จากเรื่องสั้น "ป๊าบอกว่า" ก็อาจถูกเล่าผ่านตัวป๊าที่เห็นเหตุการณ์ในวันนั้นจากการเฝ้าดูลงมา และชวนให้คิดว่า ตัวละครของป๊าจะคิดอย่างไรที่ลูกชายและลูกคนอื่นๆ ทะเลาะกันแบบนี้ โดยมีชนวนเหตุจากตัวของ "ป๊า"

ในส่วนหมุดหมายของคนที่ใช้ชีวิตด้วยถ้อยคำจากปลายปากกา หรือแป้นพิมพ์บนคอมพิวเตอร์ จากนักเขียนที่มีชื่อนริศพงศ์ จะเป็นอย่างไร 

เขาตอบว่า นี่เป็นสิ่งที่คิดหลังจากได้รางวัลซีไรต์ว่าการใช้ชีวิต การวางตัว ทำอย่างไร ซึ่งสุดท้ายแล้วมันสามารถสรุปได้ว่า "Stay humble and keep writing" กล่าวคือ การใช้ชีวิตอย่างถ่อมตัว และการเดินหน้าเขียนงานต่อไป ให้ผลงานเป็นผู้พูด และเป็นเครื่องพิสูจน์ตัว อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด 

"เราคงมีหน้าที่เขียนอยู่เงียบๆ พูดเมื่อสมควรพูด" นริศพงศ์ ปิดท้ายบทสนทนาของค่ำคืนนี้