ในสังคมการทำงานที่ต้องเจอทั้งเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า และเจ้านาย ซึ่งต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ หากเจอสังคมที่ดี ต่างคนเข้าใจและช่วยเกื้อกูลกัน ก็นับว่าเป็นโชคดีของคนทำงาน แต่ถ้าต้องเจอกับหัวหน้าหรือเจ้านายอารมณ์ร้อน ขี้หงุดหงิด เอาแต่ใจ ในฐานะลูกน้อง ควรรับมืออย่างไรไม่ให้กระทบต่อหน้าที่การงานของตนเองบ้าง
6 วิธีรับมือเจ้านายหัวร้อน
1. ตั้งสติ รับฟังปัญหาอย่างใจเย็น
เมื่อเจ้านายเกิดอาการหัวร้อนเหวี่ยงวีน เพราะงานไม่ได้ดั่งใจ ในฐานะลูกน้องที่ต้องรองรับอารมณ์ในสถานการณ์ตรงหน้า คงต้องรู้สึกสะเทือนใจกับบางคำพูดหรือปฏิกิริยาที่อาจรุนแรงของหัวหน้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ นาทีนี้การนิ่งสงบแล้วตั้งใจฟังสิ่งที่เจ้านายต้องการสื่อ โดยตัดเรื่องอารมณ์ออกไป น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ลองนับ 1-100 ในใจ รอให้เจ้านายสงบสติอารมณ์ แล้วทบทวนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน แล้วหาแนวทางแก้ไขต่อไป จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้น
2. ปรึกษาปัญหาเพื่อหาทางแก้ไข
ไม่มีใครที่จะสามารถรู้ใจทุกคนได้ทุกเรื่อง แม้แต่หัวหน้าหรือเจ้านายก็เช่นกัน ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาควรลองเปิดใจเข้าหาเพื่อขอคำปรึกษา หรือขอคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาเรื่องงานจากหัวหน้าโดยตรง ในกรณีที่ปัญหานั้นๆ เกินความสามารถที่เราจะแก้ไขได้ หรือได้พยายามหาทางแก้ไขอย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะถูกใจ (เจ้านาย) หรือเปล่า ซึ่งจะช่วยให้เจ้านายเปิดใจ และรู้สึกว่าเราให้เกียรติเขาในฐานะผู้มีประสบการณ์ที่สามารถให้คำแนะนำดีๆ ได้ แต่ทั้งนี้ ก่อนเข้าหาเจ้านายหรือหัวหน้า อย่าลืมสังเกตอารมณ์ด้วยว่าขณะนั้นกำลังขุ่นมัว หรือกำลังวุ่นวายเรื่องอื่นอยู่หรือเปล่า มิฉะนั้นอาจเจอพายุอารมณ์สาดเข้าใส่แทนก็ได้
...
3. เรียนรู้นิสัยและอารมณ์
สิ่งหนึ่งที่ช่วยรับมือกับอาการหัวร้อนของเจ้านายได้ คือการเรียนรู้นิสัยและอารมณ์ของเจ้านายหรือหัวหน้า ว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร เพื่อป้องกันความขุ่นมัวที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่องานไม่ได้ดั่งใจ จนเกิดอาการปรี๊ดแตกให้คนรอบข้างผวา หากเจ้านายอารมณ์ดีก็ควรลองชวนคุยเรื่องสัพเพเหระที่ไม่เกี่ยวกับงาน เพื่อสร้างความสนิทสนม และยังได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาชอบและสนใจ เพื่อทำความเข้าใจอารมณ์ของเจ้านายให้มากขึ้น เพราะบางครั้งอาการหัวร้อนที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้มาจากเรื่องงานเสมอไปเพียงอย่างเดียว
4. ปล่อยวาง
บางครั้งอารมณ์ขุ่นมัวหรืออาการหัวร้อนของเจ้านาย อาจไม่ได้มาจากเนื้องาน แต่เป็นเรื่องส่วนตัวหรือเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรง ในมุมของลูกน้องที่อยู่ในสังคมเดียวกัน อาจต้องปล่อยวางกับอาการหัวร้อนที่เกิดขึ้น แล้วโฟกัสกับหน้าที่รับผิดชอบของเราตรงหน้าให้ดีที่สุด แต่หากรู้สึกแย่กับบรรยากาศลบๆ ลองปิดหน้าจอแล้วออกมานั่งพัก หาเรื่องอื่นที่ผ่อนคลายทำสัก 10 นาที แล้วค่อยไปลุยงานต่อ ก็สามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง
5. อย่าสาดอารมณ์ให้เหตุการณ์บานปลาย
แน่นอนว่าไม่มีใครชอบทำตัวเป็นกระโถนรองรับอารมณ์ แต่การใช้อารมณ์สวนกลับเจ้านายที่กำลังหัวร้อนไป คงไม่ใช่ทางออกที่ดีในอนาคตการงานของเราแน่ๆ การนิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการรับมือเจ้านายขี้เหวี่ยง หากเราสาดอารมณ์เข้าใส่กลับไป สิ่งที่ได้ในตอนนั้นอาจเป็นความสะใจ แต่ผลที่ตามมาจากนั้นย่อมไม่ดีแน่นอน เพราะนอกจากไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงานแล้ว อาจมีผลตอนประเมินผลงานอีกด้วย
6. พัฒนาผลงานให้ดี
...
การต้องทำงานกับเจ้านายขี้เหวี่ยงวีน หัวร้อนอยู่ตลอดเวลา ย่อมสร้างความ Toxic ให้เกิดขึ้นในสังคมการทำงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ หากเราพยายามหาวิธีรับมือทุกวิถีทางแล้ว แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น หรืออาจทำให้เรากลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ ขอแนะนำว่าให้เก็บความไม่พอใจมาพัฒนาผลงานของเราให้ดีจนโดดเด่น เพื่อลบคำสบประมาท นอกจากนี้ยังได้เป็นพอร์ตที่ดีที่เราสามารถนำไปใช้เพื่อหางานใหม่ได้ด้วย แม้ว่าการหางานใหม่อาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่การต้องทนอยู่กับสภาพสังคมทำงานที่ย่ำแย่ ก็ส่งผลเสียกับเราในระยะยาวเช่นกัน ดังนั้นการมองหางานใหม่ที่เหมาะกับเรา และสภาพสังคมการทำงานดีกว่า จึงไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด เพราะสุดท้ายแล้วคนที่สำคัญที่สุดคือตัวเราเอง
ในสังคมการทำงานที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายร้อยพ่อพันแม่ คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเจอคนที่ถูกใจเราไปเสียทุกอย่าง การได้เรียนรู้นิสัยใจคอคนหลายๆ แบบ ก็ทำให้เราได้รู้วิธีการรับมือกับผู้คนต่างๆ ในสังคมได้ดี หากเจอคนหัวร้อน ซึ่งอาจจะมาในรูปแบบหัวหน้า เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้า เราก็สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ เพียงแต่อย่าเก็บมาเป็นอารมณ์ขุ่นมัวในจิตใจจนกระทบกับตัวเองและคนรอบข้าง อย่าลืมหาวิธีผ่อนคลายจิตใจที่ต้องเจอกับคนหัวร้อน เพื่อสุขภาพจิตที่ดีในระยะยาวของเราเอง