เมตา และพันธมิตร เผยนโยบาย แนวทาง และเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับปัญหาภัยโลกออนไลน์ เพิ่มความปลอดภัย และให้ความรู้กับผู้ใช้งาน และผู้ดำเนินธุรกิจ
ปัญหาภัยบนโลกออนไลน์ (Scam) เป็นหนึ่งปัญหาสำคัญของโลกแห่งเทคโนโลยีในปัจจุบัน ที่มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และรวดเร็ว ทำให้คนส่วนใหญ่มักหลงกล และตกเป็นเหยื่อด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนหลงกล และหลีกเลี่ยงได้ยากยิ่งขึ้นจากระบบเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาเพื่อใช้ในการฉ้อโกงโดยเฉพาะ
คุณเฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้ความเห็นในประเด็นของปัญหาภัยบนโลกออนไลน์ว่า ปัจจุบันความปลอดภัยบนโซเชียลเป็นสิ่งท้าทายอย่างมากต่อผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน พร้อมกับยังมีเงินทุนสนับสนุน และทำงานกันอย่างเป็นระบบในรูปแบบกระบวนการของสแกมเมอร์ โดยปัญหาการโกงออนไลน์เหล่านี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากเหล่าสแกมเมอร์มักแฝงตัวในพื้นที่สาธารณะออนไลน์ต่างๆ ลุกลามไปถึงการปฏิบัติการนอกแพลตฟอร์มด้วย ทางเมตาจึงต้องมีการพัฒนา เข้าถึงปัญหา และปรับปรุงเทคนิคต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
การหลอกลวงบนแพลตฟอร์ม ถือเป็นการทำผิดกฎของนโยบาย และกฎหมาย เมตาจึงมุ่งมั่นในการรักษาความปลอดภัยในการให้บริการ รวมถึงการมอบเครื่องมือ ฟีเจอร์ และโซลูชันต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้ปลอดภัยจากปัญหาบัญชีปลอม และพฤติกรรมที่ไม่ประสงค์ดี
เมตา เผยข้อมูล ของเดือนธันวาคม 2565 ยังได้ดำเนินการลบเนื้อหา (โพสต์) ที่เป็นภัยหลอกลวงเป็นจำนวน 1.1 พันล้านโพสต์ และในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ได้เดินหน้าลบบัญชีปลอมออกกว่า 676 ล้านบัญชีทั่วโลกบน Facebook ซึ่งถูกตรวจพบ และลบออกไปผ่านเทคโนโลยี AI ก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามาจากผู้ใช้
...
5 วิธีการคัดกรอง เพื่อตรวจจับภัยลวงออนไลน์ จาก เมตา
- เทคโนโลยี Machine Learning เพื่อตรวจสอบเนื้อหาและบัญชีที่ละเมิดนโยบายของ Meta
- ลดการเข้าถึงของเนื้อหาที่อาจเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นภัยลวง
- ความเข้มข้นในการตรวจสอบบัญชีที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการละเมิดกฎต่างๆ
- เพิ่มช่องทางการรายงานเนื้อหาภัยลวง โดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้ และหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย
- ตรวจสอบเพื่อลบบัญชีปลอมออกจากแพลตฟอร์มเป็นประจำ
มาตรฐานการโพสต์โฆษณาใหม่ในเชิงธุรกิจ และโฆษณาต่างๆ เป็นอีกสิ่งที่สำคัญต่อผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ควรทราบ และผู้ดำเนินธุรกิจต้องปรับตัวตามเพื่อความปลอดภัย
มาตรฐานการโพสต์ เป็นหนึ่งการรับมือกับปัญหาการปลอมแปลงตัวตนเป็นผู้อื่น (impersonation) และยังเป็นการป้องกันไม่ให้โฆษณาบนแพลตฟอร์มถูกใช้งานเพื่อสนับสนุนพฤติกรรมการหลอกลวงเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยเหตุนี้ เมตา จึงได้พัฒนามาตรฐานการโฆษณา เพื่อเป็นแนวทางที่ระบุว่าโฆษณาแบบใดได้รับอนุญาตใช้บนแพลตฟอร์มในเครือของเมตา โดยมีนโยบายที่ไม่อนุญาตให้โฆษณาที่มีเนื้อหาหลอกลวงหรือสร้างความเข้าใจผิด รวมถึงสแกม และหากเราตรวจจับโฆษณาที่ละเมิดมาตรฐานการโฆษณาของเรา ซึ่งจะมีการดำเนินการไม่อนุมัติโฆษณาดังกล่าวในทันที
ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก Meta กล่าวเสริม ปัจจุบันมีกระบวนการดำเนินงานที่หลากหลาย เพื่อตรวจจับและตรวจสอบโฆษณา บัญชี และผู้ดูแลที่อาจละเมิดนโยบาย มีการดำเนินงานเชิงลึกที่มากกว่าการตรวจสอบโฆษณาแต่ละชิ้น โดยเรายังตรวจสอบ และสำรวจพฤติกรรมของนักโฆษณา และอาจจำกัดการใช้งานของนักโฆษณาที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการโฆษณา โดยเรายังคงมองหาวิธีการในการขยายกระบวนการดำเนินงาน และเครื่องมือของเราอย่างต่อเนื่อง รวมถึงวิธีการที่ช่วยให้ผู้คนสามารถรายงานโฆษณาได้
นอกจากนี้ทาง เมตา ยังได้แชร์เคล็ดลับในการป้องกันตนเองจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย และโฆษณาที่ปลอมตัวเป็นผู้อื่น เช่น การตรวจสอบตัวสะกดของเนื้อหาโฆษณา หรือตรวจสอบว่าโฆษณาชิ้นนั้นเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ที่แท้จริงของแบรนด์ หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคตามมาตรฐาน และการปกป้องการฉ้อโกงบนโลกออนไลน์แล้ว ยังเป็นการสนับสนุนร้านค้าที่มีความโปร่งใส และมอบประสบกาณ์ที่ดีในการซื้อ-ขายได้มากยิ่งขึ้น
Machine Learning เครื่องมือ ช่วยหยุดการหลอกลวงออนไลน์
...
เทคโนโลยี Machine Learning เป็นโมเดลใหม่ เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกลโกงที่ได้รับการยืนยันก่อนหน้านี้จากผู้ใช้งานจริงเพื่อช่วยตรวจจับกลโกงใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น การมองหาวิธีที่ผู้คนเข้าถึงได้นอกเหนือจากเครือข่ายการเชื่อมต่อโดยทั่วไป หรือในการกระทำกิจกรรมในปริมาณมากผิดปกติ ควบคู่ไปกับรูปแบบพฤติกรรมอื่นๆ ที่ได้รับแจ้งมา โดยเทคนิคการตรวจจับอัตโนมัติใหม่เหล่านี้เป็นเพียงวิธีหนึ่งที่เราจัดการกับกลโกงบนเฟซบุ๊ก นอกจากนี้ยังมีทีมงานที่ได้รับการฝึกอบรมในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งมุ่งเน้นการกำจัดกลโกง ทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมายในแต่ละวัน
ความร่วมมือทั้งสองทำให้ทางเมตา มีตัวอย่างกิจกรรมการหลอกลวงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เมื่อระบบของเราประเมินว่าบัญชีมีแนวโน้มที่จะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมหลอกลวง เจ้าของบัญชีจะไม่สามารถใช้ได้จนกว่าต้องดำเนินการยืนยันตัวตนให้เสร็จสิ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ใช้งานบัญชีปลอมหรือแสดงตัวตนอันเป็นเท็จ หากเจ้าของไม่ผ่านการตรวจสอบ หรือทีมงานพิจารณาว่ามีการละเมิดนโยบาย บัญชีผู้ใช้งานเหล่านี้จะถูกลบออกทันที
ปัจจุบันเมตา มองเห็นความสำคัญในการอัปเดตข้อมูล และลงทุนในเทคโนโลยีนี้เพิ่มเติมต่อไป เพื่อทำให้นักต้มตุ๋นดำเนินการบน Facebook ได้ยากขึ้นในอนาคต โดยเทคนิคการเก็บข้อมูล การเรียนรู้ของเครื่องมือใหม่นี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และยังมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ เพื่อแจ้งข้อมูลของมิจฉาชีพให้หน่วยงานรัฐดำเนินการบังคับใช้กฎหมายโดยตรง เพื่อเป็นข้อมูลให้สามารถสืบสวนการฉ้อโกง หรือกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น
เมตา ประเทศไทย ยังได้ร่วมทำงานกับพันธมิตรหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระทรวงดีอีเอส, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ, นักวิชาการ และภาคประชาสังคม
...
ดร. เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะหน่วยงานพันธมิตร ให้ข้อมูลว่า “ปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ต่างๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการหลอกลวงทางด้านการเงิน และการลงทุนนับเป็นปัญหาที่ดีอีเอสให้ความสำคัญ และมุ่งเน้นการทำงานในเชิงรุก เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัล ได้มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่บังคับกฎหมาย หน่วยงานภาคเอกชน และบริษัทเทคโนโลยี เช่น เมตา เพื่อช่วยกำจัดมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
...
พ.ต.อ.เจษฎา บุรินทร์สุชาติ ผู้กำกับการ กลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเสริม อาชญากรรมไซเบอร์ และปัญหาเรื่องสแกมเมอร์เป็นหนึ่งในปัญหาเร่งด่วนที่เราให้ความสำคัญและทำงานอย่างเต็มที่ เราอยากให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังอยู่เสมอเมื่อมีปฏิสัมพันธ์หรือทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าคุณจะใช้แพลตฟอร์มหรือช่องทางไหน เพราะว่าอาชญากรไซเบอร์ในปัจจุบันมีการพัฒนากลลวงเพื่อการหลอกล่อที่ซับซ้อนและอำพรางได้แนบเนียนมากขึ้น ปัจจุบันทางตำรวจไซเบอร์ได้เปิดสายด่วน 1441 เพื่อขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงแจ้งเบาะแสได้
อิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ Facebook ประเทศไทยจากเมตา กล่าวถึง การรับมือปัญหาภัยหลอกลวงบนโลกออนไลน์ด้วย Machine Learning ว่า “ทางเมตามีการแบ่งปันข้อมูลกับกระทรวงดีอีเอส และหน่วยงานอื่นๆ ในการจัดการเนื้อหาที่เป็นปัญหาอย่างรวดเร็วที่ทางกระทรวงได้แจ้งข้อมูลเข้ามา รวมถึงการสร้างการตระหนักรู้ และแคมเปญการให้ความรู้ต่างๆ เพื่อให้ผู้คนสามารถรู้เท่าทันกลลวงและรู้วิธีการรายงานเนื้อหาเข้ามาได้ ทำให้การตรวจหา และไล่ลบบัญชีที่มีการตรวจพบว่าเป็นเนื้อหาที่เป็นอันตราย หลอกลวงหรือละเมิดกฎอยู่เป็นประจำ และด้วยเทคโนโลยี Machine Learning และ AI ก็ทำให้เราสามารถตรวจพบเนื้อหาเหล่านั้นก่อนที่ผู้ใช้อื่นๆ จะได้เห็นด้วย”
นอกจากนี้ยังมีแคมเปญ StayingSafeOnline ภายใต้โครงการ We Think Digital Thailand ที่มีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้แก่ชาวไทยเกี่ยวกับวิธีสังเกตพฤติกรรมของผู้ประสงค์ร้าย และป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากสแกมอีคอมเมิร์ซ สแกมความปลอดภัย และการหลอกลวงแบบฟิชชิง รวมถึงภัยบนโลกออนไลน์อื่นๆ ด้วยการเปิดตัวหลักสูตรการเรียนรู้ และวิดีโอเพื่อให้ความรู้ที่ให้บริการเป็นภาษาไทย ภายในสัปดาห์นี้จะมีการเปิดตัวซีรีส์วิดีโอเพื่อให้ความรู้ที่มีชื่อว่า “ถอดรหัสสแกม” (Decode Scam) ผ่านเพจเมตา ประเทศไทย บน Facebook เพื่อสอนให้ผู้คนรู้จักกับภัยลวงบนโลกออนไลน์ที่มีหลากหลายประเภท พร้อมให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ Facebook ประเทศไทยจาก Meta กล่าวเพิ่มเติม “เฟสต่อไปของแคมเปญ StayingSafeOnline ซึ่งเราจะยังคงร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศและร่วมสร้างสรรค์ชุดเนื้อหาการเรียนรู้ใหม่ๆ ร่วมกับครีเอเตอร์ชาวไทย เกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าวในหลากหลายรูปแบบเนื้อหา ตั้งแต่วิดีโอสั้น ภาพประกอบที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ไปจนถึงมีมเพื่อให้ความรู้ต่างๆ เพื่อให้คำแนะนำและเคล็ดลับแก่ชาวไทยเกี่ยวกับวิธีการป้องกันตนเองจากเหล่าสแกมเมอร์ ในรูปแบบการเรียนรู้ที่เข้าถึงง่ายมากขึ้น”
โครงการนี้ได้มีการร่วมพัฒนาแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ร่วมกับหลากหลายองค์กรทั้งจากภาครัฐและภาคประชาสังคม ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.), คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, โคแฟค ประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แคมเปญดังกล่าวได้เข้าถึงชาวไทยเป็นจำนวนกว่า 30 ล้านคนแล้วในปัจจุบัน ตั้งแต่มีการเปิดตัวในปี พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ แคมเปญ StayingSafeOnline ยังกำลังจะเปิดตัวการดำเนินงานเฟสใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยจะให้ความสำคัญกับเคล็ดลับในการระมัดระวังและรู้เท่าทันสแกมเมอร์ที่มีอยู่หลากหลายประเภท