จากการที่เหล่าผู้บริหารตัวท็อปของ บมจ.อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ องค์กรสื่อรายใหญ่ของไทย ประกาศลาออกจากบริษัทพร้อมกันถึง 3 คน ทำให้ชื่อของเครืออมรินทร์ เป็นที่สนใจในแวดวงสื่อ สำหรับจุดเริ่มต้นขององค์กรสื่อแห่งนี้มีที่มาอย่างไร เรารวมข้อมูลมาให้แล้ว
ประวัติ เครืออมรินทร์
ก่อนที่จะมาเป็น บมจ.อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ ในปัจจุบัน จุดเริ่มต้นของเครืออมรินทร์ มาจากกองบรรณาธิการเล็กๆ ที่ ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกและพนักงานจำนวนเพียงไม่กี่คน ร่วมกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดวารสารบ้านและสวนเพื่อเริ่มผลิตนิตยสาร “บ้านและสวน” ฉบับแรกออกวางจำหน่ายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2519 ซึ่งในยุคสมัยนั้นยังต้องอาศัยการพิมพ์จากโรงพิมพ์ภายนอก ต่อมาจึงได้มีการก่อตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด อมรินทร์การพิมพ์ เพื่อจัดพิมพ์นิตยสารเอง ขณะเดียวกันก็รับจ้าง งานพิมพ์อื่นด้วย
ถึงแม้จะมีพนักงานจำนวนไม่กี่คน แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นอันยิ่งใหญ่ ที่ส่งผลให้กิจการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อมา ทำให้มีความจำเป็นต้องระดมทุนและแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2536 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)”
ในปีเดียวกัน บริษัทได้ขยายกิจการด้านการจัดจำหน่าย โดยการก่อตั้งบริษัทอมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ จำกัด เพื่อดูแลการจัดจำหน่ายสิ่งพิมพ์ทั้งหมด รวมถึงการจัดตั้งร้านค้าปลีกขึ้น โดยให้ชื่อว่า “ร้านนายอินทร์”
เมื่อปริมาณผู้อ่านที่เริ่มต้นขึ้นจากเพียงไม่กี่กลุ่มขยายตัวเพิ่มขึ้น และมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น บริษัทจึงเริ่มผลิตนิตยสารอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อ่านโดยมีนิตยสารแนวผู้หญิง ออกตามมาคือ “แพรว” และ “สุดสัปดาห์” และผลิตนิตยสารอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันบริษัทมีนิตยสารทั้งสิ้น 9 หัว ผลิตหนังสือเล่มปีละหลายร้อยเล่ม รับจ้างพิมพ์และขยายออกไปสู่ธุรกิจอื่นอีกหลากหลาย
...
จากนั้นอมรินทร์กรุ๊ปได้ขยายธุรกิจสื่อครบวงจรทั้ง สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ สถานีโทรทัศน์ ไปจนถึงการจำหน่ายผ่านร้านค้าและงานมหกรรม โดยมีการพัฒนาแต่ละแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่มีคุณค่าทุกช่วงเวลาของชีวิต เพื่อความสุขและความรุ่งโรจน์ของสังคม ดังปณิธานที่ผู้ก่อตั้งได้วางรากฐานไว้
อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด ได้ประกาศขายหุ้นจำนวน 47.62% ให้กับบริษัท วัฒนภักดี จำกัด ในเครือไทยเบฟเวอเรจ ของกลุ่มทีซีซี ซึ่งเป็นของตระกูลสิริวัฒนภักดี ทำให้ตระกูลอุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอมรินทร์ มีสัดส่วนหุ้นลดลงเหลือ 30.83%
ต่อมาเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2566 ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 และเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น AMARIN ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของบริษัท จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีสัดส่วน 13.86% ให้กับ บริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด (ผู้ซื้อ) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ เจริญ สิริวัฒนภักดี หรือ “เจ้าสัวเจริญ”
และล่าสุดในวันนี้ (18 ต.ค. 2566) บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการลาออกของกรรมการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ได้แก่
- นางเมตตา อุทกะพันธุ์ ลาออกจากตําแหน่งประธานกรรมการ, กรรมการผู้มีอํานาจลงนาม และกรรมการกํากับดูแลบรรษัทภิบาล
- นางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ ลาออกจากตําแหน่งกรรมการบริษัท, กรรมการผู้มีอํานาจลงนาม, กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน, กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการความยั่งยืนและบริหารความเสี่ยง กรรมการบริหาร, กรรมการผู้อํานวยการใหญ่และเลขานุการบริษัท
- นายโชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์ ลาออกจากตําแหน่งกรรมการบริษัท และกรรมการผู้มีอํานาจลงนาม
โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ได้มีมติแต่งตั้ง นายศิริ บุญพิทักษ์เกศ ดํารงตําแหน่ง รักษาการกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ โดยคณะกรรมการบริษัทฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาสรรหาและแต่งตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดํารงตําแหน่งแทนตําแหน่งที่ว่างลง โดยจะแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบต่อไป
การประกาศลาออกของกลุ่มผู้บริหารเดิมที่เป็นผู้ก่อตั้งอมรินทร์ฯ อย่างตระกูล อุทกะพันธุ์ เป็นการผลัดใบไปยังตระกูล สิริวัฒนภักดี อย่างชัดเจน
ข้อมูลอ้างอิง : บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)