เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับการประกาศจากยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของไทย มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจอย่างไรบ้าง

ประวัติเมืองโบราณศรีเทพ

เมืองโบราณศรีเทพ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์จำนวน 10 แห่งของประเทศไทยปัจจุบัน จัดตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อปี 2527 สำหรับชื่อเรียก “ศรีเทพ” นั้นเป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในปี 2447

พื้นที่ที่มีการตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพนั้น นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยปัจจุบัน เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่ปรากฎร่องรอยหลักฐานซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ซึ่งรวมระยะเวลาที่มีความเจริญรุ่งเรืองถึงกว่า 800 ปี ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้งประการใดประการหนึ่งหรือทั้งสองประการ ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงก่อนที่วัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก และมีการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาจนเท่าถึงปัจจุบัน

...

เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดอยู่ในบริเวณเขตที่สูงภาคกลาง อันเป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนสินค้า เส้นทางการค้า และวัฒนธรรมระหว่างพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องจนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 8-18)

เมืองโบราณศรีเทพเป็นตัวแทนของเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบ การตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของคนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนพัฒนาตนเองด้วยการติดต่อกับสังคมภายนอก และรับวัฒนธรรมทางศาสนาจากอินเดีย ในราวพุทธศตวรรษที่ 7-11 และเรียนรู้การขุดคูน้ำคันดิน ทำเป็นคูเมือง กำแพงเมือง และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

มีการพบหลักฐานสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนดั้งเดิมในวัฒนธรรมทวารวดีกับวัฒนธรรมอินเดียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 10 การรับศาสนาพราหมณ์และพุทธทั้งแบบเถรวาทและมหายาน ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 คือการเข้ามามีอิทธิพลอย่างถาวรของพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาท มหายาน และศาสนาพราหมณ์พบหลักฐาน เช่น รูปเคารพ พระพุทธรูป พระนารายณ์และศาสนสถาน อันเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมทวารวดีที่ยังคงความครบถ้วนสมบูรณ์

โดยเฉพาะผังเมืองโบราณ มีความแตกต่างไปจากผังเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีเมืองอื่นๆ ที่พบในประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตลักษณ์ของตนเองตั้งแต่ลักษณะการวางผังเมืองที่มีลักษณะเป็นเมืองแฝดหรือเมืองขยาย คือ “เมืองใน” และ “เมืองนอก” พบหลักฐานงานศิลปกรรมใน “สกุลช่างศรีเทพ” ที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวได้รับการยกย่องจากนักวิชาการเรื่องเทคนิคงานช่างเมืองศรีเทพที่กล้าสร้างประติมากรรมลอยตัวอย่างแท้จริง

เนื่องจากไม่มีแผ่นโค้งด้านหลังรองรับ นิยมการยืนท่าตริภังค์ อันแสดงให้เห็นเสมือนการเคลื่อนไหว ซึ่งต่างจากประติมากรรมในแหล่งอื่นๆ ในระยะเวลาเดียวกัน มีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 โบราณสถานเขาคลังนอกที่ได้รับอิทธิพล ทั้งรูปแบบและแนวความคิดในเรื่องของมณฑลจักรวาลหรือศูนย์กลางจักรวาล ของพุทธศาสนามหายานจากศิลปอินเดียภาคใต้และศิลปชวาภาคกลาง จากประเทศอินโดนีเซีย และพัฒนามาเป็นรูปแบบเฉพาะของตนเอง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ในรูปแบบของศิลปทวารวดีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

...

นอกจากนี้ยังแสดงแนวความคิดเรื่อง มณฑลจักรวาลตามคติความเชื่อของท้องถิ่นที่แตกต่างไปจากมณฑลจักรวาลที่พบ ทั้งในอินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และเมียนมา โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ อยู่ห่างจากเมืองโบราณศรีเทพไปทางทิศตะวันตก ราว 15 กิโลเมตร ในแนวแกนเดียวกันกับโบราณสถานเขาคลังนอกส่วนที่เป็นแกนกลางถ้ำเป็นผนังที่สลักภาพประติมากรรมนูนต่ำรูปพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์จำนวนประมาณ 7 องค์ทั้งหมดจัดอยู่ในศิลปะทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 นับเป็นตัวอย่างของศาสนสถานประเภทถ้ำที่แสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อของพุทธศาสนามหายานและภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งเดียวที่พบในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

...

จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “เมืองโบราณศรีเทพ” เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati  Monuments

นอกจากเมืองโบราณศรีเทพแล้ว ยังมีโบราณสถานในสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง ได้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่เป็นแหล่งแบบต่อเนื่อง อีก 2 แหล่ง ได้แก่

โบราณสถานเขาคลังนอก

เป็นโบราณสถานที่ค้นพบมานานแล้วในหมู่โบราณสถานของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่เพิ่งบูรณะแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2555 ลักษณะของเขาคลังนอกเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13–14 ในสมัยทวารวดี สันนิษฐานว่าเดิมมีลักษณะเป็นสถูปขนาดใหญ่ที่สามารถขึ้นไปด้านบนได้ ปัจจุบันเหลือเพียงฐานขนาดใหญ่ ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยศิลาแลง สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน กว้างด้านละประมาณ 64 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอด ประมาณ 20 เมตร แบ่งเป็น 2 ชั้นหลักๆ โดยแต่ละชั้นสูงประมาณ 5 เมตร แต่ละทิศมีเจดีย์รายรอบเล็กๆ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อเกี่ยวกับมณฑลจักรวาล และอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของอินเดียตอนใต้และชวากลางคล้ายบรมพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย

...

โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์

ตั้งอยู่ในเขตตำบลโคกสะอาด อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ห่างจากเมืองศรีเทพไปทางทิศตะวันตก ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นศาสนสถานที่ดัดแปลงจากถ้ำหินปูนธรรมชาติ ภายในถ้ำมีคูหาเดียวหันหน้าไปทางด้านทิศเหนือ ขนาดความกว้างประมาณ 4.6 เมตร สูง 13 เมตร และความยาวประมาณ 20 เมตร บริเวณเกือบกึ่งกลางคูหามีเสาหินปูนธรรมชาติซึ่งสามารถเดินวนได้โดยรอบ

ภายในมีประติมากรรมสลักนูนต่ำรูปพระพุทธรูปประทับยืนอยู่บนฐานดอกบัว พระหัตถ์ทั้งสองข้างอยู่ในอิริยาบถแสดงธรรม และรูปพระโพธิสัตว์ ส่วนผนังถ้ำด้านในปรากฏภาพสลักรูปพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ สถูปเจดีย์ ธรรมจักร และพระโพธิสัตว์ รวมจำนวนทั้งหมด 11 องค์ รูปพระโพธิสัตว์บางองค์มีลักษณะทางศิลปกรรมคล้ายกับประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์ที่พบในเขตที่ราบสูงโคราช แถบอำเภอประโคนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ และบ้านโตนด อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับศิลปะเขมรแบบกำพงพระ และคล้ายคลึงกับประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์ที่พบจากเมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี ภาพประติมากรรมในโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์นี้เกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อในพุทธศาสนาแบบนิกายมหายาน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14

มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของไทยนี้อยู่ภายใต้เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ด้วยเกณฑ์ข้อที่ 2 คือ ความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง หรือในพื้นที่ในวัฒนธรรมใดๆ ของโลกผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือ ทางเทคโนโลยีอนุสรณ์ศิลป์ การวางแผนผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์ และเกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยมหรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณีวัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ หรือสูญหายไปแล้ว

เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ถือเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทยแห่งที่ 4 ต่อจากเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร, นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และเป็นแหล่งมรดกโลกแหล่งที่ 7 ของประเทศไทย

สำหรับผู้ที่สนใจเดินทางไปเที่ยวชมมรดกโลกแห่งใหม่นี้ เมืองโบราณศรีเทพอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ 130 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอวิเชียรบุรีประมาณ 25 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 21 (เฉลิมพระเกียรติ-หล่มสัก) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 102 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2211 ไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตรจะเห็นป้ายบอกทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพอยู่ด้านขวามือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-16.30 น. โทร. 0-56921-322, 0-56921-354

ข้อมูลอ้างอิง : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ