รวมวิธีรับมือกับภาวะหมดไฟ Burnout Syndrome จากสถานการณ์ทางอารมณ์ที่ลุกลามในตัวเรา และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงาน ด้วยวิธีการสร้างแรงกระตุ้นใหม่ๆ สภาพแวดล้อม และการหลีกเลี่ยง เพื่อปรับอารมณ์ให้กลับมาปกติดังเดิม

ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) เป็นสภาวะทางจิตที่เปลี่ยนแปลงอารมณ์ เหตุเกิดจากความเครียดสะสม การอ่อนล้าทางอารมณ์ จากงานที่สะสมมากจนเกินไป ทำให้ผู้ที่พบเจอกับภาวะหมดไฟนี้ไม่สามารถรับมือกับงานที่หนักอึ้งที่จะเกิดขึ้นได้อีก ขาดสมาธิ ถดถอย และไม่อยากที่จะทำงานต่อไป ซึ่งโรคนี้ได้ถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคทางจิตใจ จากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่มีผลจากการความเครียดเรื้อรังสะสมในการทำงาน และสภาพแวดล้อมจากการทำงานได้เช่นกัน

ภาวะหมดไฟในการทำงาน ส่วนใหญ่มาจากความเครียด ความกดดัน และการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจของตนเองที่ได้รับการสะสมมาอย่างต่อเนื่องจากการทำงาน ผู้ร่วมงาน และทัศนคติของตนเอง จนเกิดเป็นความเครียดเรื้อรังที่ไม่สามารถบอก หรือคุยกับใครได้ มักจะมีอาการร่วมดังต่อไปนี้ ไม่อยากทำงานในแต่ละวัน, มีความเหนื่อยล้ากาย และทางอารมณ์, รู้สึกไม่มีแรงบันดาลใจ, เกิดทัศนคติเชิงลบ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และขาดความมั่นใจ และความคิดที่จะไม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน 

สถานการณ์ที่สร้างความเสี่ยงจะทำให้เกิด ‘ภาวะหมดไฟ’

  • โดนลิดรอนอำนาจ ลดบทบาท ลดขั้น ลดตำแหน่ง
  • ภาระงานที่รับผิดชอบมากจนเกินไป
  • ค่าตอบแทนที่ไม่สมเหตุสมผล
  • ไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง แม้มีการทำงานที่ดี
  • ไม่มีใครเชื่อใจ และเปิดใจยอมรับ
  • เพื่อนร่วมงานไม่ดี
  • ระบบการจัดการของบริษัทที่ไม่มีประสิทธิภาพ
  • งานที่ไม่เหมาะสมกับความสามารถตนเอง

...

วิธีรับมือกับภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome)

  • พูดคุยปัญหาโดยตรงกับเจ้านาย

การบอกเล่าเรื่องราว กับปัญหางานที่เกิดขึ้นโดยตรงกับเจ้านายอาจเป็นทางออกหนึ่งที่น่าสนใจ เพื่อที่จะปรับจูนทัศนคติทั้งตนเอง และผู้บังคับบัญชาให้ตรงกัน ระบายความในใจ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งอาจทำให้อาการหมดไฟมีทางออก หรือทุเลาลงได้บ้าง

  • เปลี่ยนมุมมองของตนเอง ยอมรับในปัญหา แก้ไขปัญหา

บางครั้งเราอาจจต้องแก้ที่ตัวเราเองในการมองถึงปัญหา และยอมรับในสิ่งที่ผิดพลาด หรือทบทวนตนเองเพื่อเรียกสติกลับมาอีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาให้ถูกต้อง เพราะในบางครั้ง ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตอนนี้ มาจากมุมมองของเราเองก็ได้ 

  • ผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงานให้มากขึ้น

ภาวะหมดไฟในบางครั้งมาจากความโดดเดี่ยวในสังคมการทำงาน มีบุคคลประเภทนี้ไม่น้อย ที่ไม่ชอบยุ่ง หรือสุงสิงกับเพื่อนร่วมงาน บางครั้งการสร้างสังคมให้เราได้รู้จักคนใหม่ๆ ในที่ทำงานอาจสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ประสบการณ์ใหม่ๆ รวมถึงการปรับตัว และการใช้ชีวิตในองค์กรได้ดียิ่งขึ้น

  • พักเบรกตนเอง 

ความเหนื่อยล้าจากการทำงานอย่างหนักตลอดหลายเดือน เป็นอีกหนึ่งเชื้อเพลิงชั้นดี หากมีเวลาให้พักผ่อนตัวเองบ้าง วางมือจากงานออกไปท่องเที่ยวสักระยะ เพื่อเรียกสติ และกำลังใจ ร่วมถึงแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการกลับไปทำงานอีกครั้งหนึ่ง

  • พบปะเพื่อนฝูง ออกไปสังสรรค์ หากิจกรรมที่สนใจทำ

ถ้าหากไม่มีเวลาพักร้อน ช่วงวันหยุดอาจเวลาตรงนี้ในการออกไปพบปะเพื่อนฝูงที่สามารถพูดคุย และปรึกษาได้ เพื่อที่ทำให้ตนเองเกิดความสบายใจ หรือมีทางออกที่น่าสนใจสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็อาจจะช่วยให้ตัวเราเองได้สบายใจ และผ่อนคลายได้บ้าง หรือแม้แต่การหากิจกรรมที่ตัวเองสนใจทำ อาจจะทำให้เราเลิกโฟกัสกับงานที่ทำอยู่ไปบ้าง เพื่อให้จิตใจได้ผ่อนคลาย และสงบลง

  • ไม่กดดันตนเอง

การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนให้แก่ตนเองเป็นเรื่องดี แต่เราต้องเผื่อใจกับการกดดันตัวเอง แล้วไม่เป็นดั่งใจไว้บ้าง เพราะหากเราตั้งเป้าหมายไว้สูง แล้วไม่สามารถไปถึงได้ในระยะกำหนดอาจก่อให้เกิดความเครียดได้โดยไม่รู้ตัว

  • พักผ่อนให้เพียงพอ

การพักผ่อนเป็นเรื่องเล็กๆ ที่สำคัญ เพราะหากเราพักผ่อนไม่เพียงพอในแต่ละวัน ส่งผลให้การทำงานของเรานั้นจะอ่อนเพลีย และเหนื่อยล้าได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจได้โดยตรง

  • ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ถ้าทดลองทำทั้งหมดในข้างต้นแล้ว ไม่สามารถเยียวยาจิตใจให้ตนเองได้รู้สึกดีขึ้น การพบแพทย์เป็นอีกหนึ่งทางออกที่น่าสนใจ เพื่อการค้นหาต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น จากแพทย์เฉพาะทาง ก่อนที่อาการนั้นรุนแรง และคุกคามการใช้ชีวิตของเรา เพราะความเครียดอาจจะก่อให้เกิดโรคทางจิตอื่นๆ ที่จะตามมาภายหลัง

ภาวะหมดไฟเป็นอีกหนึ่งโรคที่ไม่ควรละเลย หรือมองข้าม เพราะถ้าหากอาการรุนแรงมากจากการสะสมยิ่งทำให้มีโรคภาวะทางจิตอื่นๆ ตามมาได้อย่างแน่นอน การสังเกตตัวเอง และระมัดระวังตัวเองให้ออกมาจากวังวนของภาวะหมดไฟได้เร็วที่สุดจึงเป็นเรื่องดี เพื่อที่จะปรับสุขภาพจิต รวมไปถึงผลักดันสุขภาพกายของเรากลับมาแข็งแรง และอาจสร้างพลังงานใหม่ๆ ให้กับชีวิตได้เช่นเดียวกัน

ภาพ : iStock

ข้อมูล : สสส., bangkokhospital