กว่า 24 ปี ในการทำงานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. มีโอกาสได้สั่งสมประสบการณ์การทำงานอย่างเต็มที่ จนล่าสุดคณะกรรมการ ททท.ได้อนุมัติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการ ททท. คนใหม่ และเตรียมเริ่มงานในตำแหน่งผู้ว่าการ ททท. ในวันที่ 1 กันยายน 2566 ต่อจาก ยุทธศักดิ์ สุภศร ผู้ว่าการ ททท. คนปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้
การรับหน้าที่เป็น ผู้ว่าการ ททท.คนใหม่ นับเป็นการเริ่มต้นภารกิจที่ท้าทายของ ฐาปนีย์ ที่หลายคนฝากความหวังไว้ เพราะการท่องเที่ยวคือ กลไกสำคัญในการสร้างเม็ดเงินขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด และที่สำคัญการบริหารงานด้านการท่องเที่ยวมีโจทย์ใหม่ตลอดเวลา จึงต้องหายุทธศาสตร์ และคนที่มีประสบการณ์เหมาะสม สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในแต่ละช่วงเวลา
ฐาปนีย์ ผู้ว่าการ ททท. คนใหม่ ที่หลายคนเรียกขานชื่อว่า ท่านรองกลาง เปิดใจกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ถึงหลักการทำงานที่แสดงถึงความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายนี้อย่างน่าสนใจ
สไตล์การทำงาน ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ชัดเจน 2 เรื่อง
“คนที่รู้จักกลาง จะรู้ว่าเป็นคนที่มีความชัดเจน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเป็นนักคิด แต่ไม่ได้คิดแบบเศรษฐศาสตร์จ๋า เป็นพวกคิดนอกกรอบ กล้าคิดนอกกรอบ กล้าอยู่นอกคอมฟอร์ตโซน ซึ่งความกล้าคิดนอกกรอบ มันมีความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่ดีที่งานการท่องเที่ยว หลักใหญ่คือเรื่องของการตลาดที่ไม่ใช่ว่าทำพลาดไม่ได้
การตลาดของการท่องเที่ยว คือถ้านักท่องเที่ยวมีความสุข เราก็โอเค เรื่องการตลาด เป็นการซื้อใจคน บางคนอาจคิดโดน หรือไม่โดน อย่างน้อยคือพลาดได้ เพราะฉะนั้นเราอยู่นอกคอมฟอร์ตโซนได้เลยในเรื่องของการทำงาน”
...
ทฤษฎีการตลาดที่ ฐาปนีย์ บอกว่าเชื่อมานาน ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นเป็นระดับผู้อำนวยการ คือการตลาดไม่มีอะไรผิดอะไรถูก ใครจะคิดอะไรก็ได้ บางคนคิดแล้วอาจคิดว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็สำเร็จ ทฤษฎีการตลาดนั้นมีความหลากหลาย แต่สิ่งที่ตายตัว และสำคัญที่สุดคือ ผลลัพธ์ที่ได้
กระบวนการคิดนอกกรอบ แม้จะมีความเสี่ยง แต่ถ้านำประสบการณ์มาใช้อย่างเต็มที่ ก็ลดความเสี่ยงได้ เหมือนอย่างที่ ฐาปนีย์ สะสมชั่วโมงบินเรียนรู้จากประสบการณ์ในการทำงานที่ ททท. มาโดยตลอด
“กลางทำงาน ททท. ที่แรก และเติบโตมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เป็นหัวหน้างาน เป็น ผอ. อายุน้อยที่สุดมาตลอด ด้วยความที่เราคิดว่า จุดเด่นของเราตั้งแต่เข้ามาคือ ถ้าได้รับมอบหมายงานจากผู้บังคับบัญชา ก็ไม่เคยปฏิเสธ รับมาก่อน ทำได้หรือไม่ได้ก็ตาม ถ้าทำไม่ได้ตรงไหน ก็รู้ว่าอะไรคืออุปสรรค จึงเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับตัวเอง ตรงที่เวลามีปัญหาหรือมีอุปสรรค ก็รู้ว่าต้องไปขอความช่วยเหลือจากใคร”
วิธีคิดเรื่องพร้อมทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย จึงเป็นประสบการณ์อย่างดี ที่ฐาปนีย์ บอกว่า ต่างจากคนที่คิดว่าถ้าไม่ใช่งานของตัวเอง แล้วปฏิเสธ ก็ฉุดการเรียนรู้ ไม่ได้พัฒนาตัวเอง จึงไม่เคยปฏิเสธงานจากผู้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะทำได้หรือไม่ได้ ส่วนใหญ่จะทำได้ แต่ทำได้ดีหรือไม่ดี จะ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่นั้น บอกไม่ได้ แต่ทำได้แน่ๆ
นอกจาก ฐาปนีย์ จะชัดเจนว่าตัวเองเป็นนักคิดนอกกรอบแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่เจ้าตัวย้ำคือ “เป็น ดูเออร์ (doer)” คือ นักปฏิบัติที่ทำงานอย่างจริงจัง เป็นคนที่ทำงานไป ใช้ประสบการณ์ไป และปฏิบัติงานจริง อาจอิงทฤษฎีบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เรียกได้ว่าเป็นนักปฏิบัติ ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานที่ ททท.ตั้งแต่ปี 2542
จิตใจนิ่ง คือ เทคนิครับมือความเสี่ยง
การรับมือกับความเสี่ยง จากผลลัพธ์ที่คิดนอกกรอบนั้น เป็นประเด็นสำคัญมาก การรับมือกับความเสี่ยงที่ ฐาปนีย์ ใช้ คือ จิตใจ
“ต้องนิ่ง จิตใจต้องนิ่ง แต่สิ่งที่กวนใจคือ ถ้าความเสี่ยงเกิดขึ้น เช่น มีประเด็นดราม่า ทุกคนไปมองว่าโอ๊ยไม่ได้แล้ว เดี๋ยวองค์กรจะเสีย ซึ่งเราต้องนิ่ง แล้วดูว่าประเด็นดรามาคืออะไร เราตอบแบบปกติ ห้ามตื่นตระหนก ความตื่นตระหนกจะทำให้ไปกันใหญ่ ถ้าเราไม่ได้ทำผิดถึงขั้นฆ่าคนตาย ไปขโมยของคน ก็มีทางออกอยู่แล้ว ใช้ความนิ่งและมุมมองในการตอบโต้”
ความนิ่งนี้ ฝึกฝนมาจากการเจอความดรามาบ่อย และการได้โอกาสจากผู้ใหญ่
“สิ่งที่ทำให้กลางรู้สึกดีมากๆ คือ เวลาที่เราคิดนอกกรอบ แล้วเราเจอประเด็นดราม่าในบางเรื่องและเราจบได้ ผู้ใหญ่ก็ให้โอกาส เราเป็นคนทำ ก็ต้องเป็นคนแก้ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าประเด็นดรามานี้ อาจมีความเสี่ยงในการเกิดประเด็นอะไรบ้าง และเราก็มีความพร้อมที่จะแก้อยู่แล้ว ”
...
4 ยุทธศาสตร์ ผลักดันการท่องเที่ยว
การมีประสบการณ์เต็มร้อยจากการเป็นนักปฏิบัติ และจิตใจนิ่ง ในแบบที่ผู้บริหารต้องเป็นให้ได้ ทำให้ ฐาปนีย์ ในฐานะที่กำลังจะเป็นแม่ทัพของ ททท.คนใหม่ สามารถเชื่อมโยงการปฏิบัติได้จริงกับวิสัยทัศน์ที่วางไว้ 4 ยุทธศาสตร์ ซึ่งหลายแผนงาน เป็นการทำงานอย่างต่อเนื่องจาก ผู้ว่าการ ยุทธศักดิ์ สุภศร ที่จะครบวาระในตำแหน่ง 31 สิงหาคมนี้ ดังนี้
ยุทธศาสตร์แรก คือ พาร์ตเนอร์ชิป (Partnership) 360 องศา เป็นการเชื่อมโยงกับพันธมิตร ในเครือข่าย (Connection)ต่างๆ อย่างกว้างขวาง ที่มาจากประสบการณ์ที่เป็นจุดแข็งของ ฐาปนีย์ อยู่แล้ว
“ตรงนี้เองเป็นประสบการณ์สอนให้รู้ว่า ถ้าเวลาที่เจอปัญหาและมีพาร์ตเนอร์ชิปที่ดีจะช่วยได้ร้อยแปด ซึ่ง ททท. ต้องมองออกนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย ยิ่งมีมากเท่าไร ยิ่งดี เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สามารถเชื่อมโยงกันได้กับส่วนต่างๆ (Connect the dot) กับทุกอุตสาหกรรม
อย่างกลุ่มนักลงทุน บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นพาร์ตเนอร์กับ ททท. ได้ เพราะนักลงทุน ก็อยากซื้อบ้าน หรือพาร์ตเนอร์กับโรงเรียนอินเตอร์ เพราะตอนนี้หลายคนอยากส่งลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ เพื่อเตรียมอนาคตส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยต่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่สอง คือ การเร่งเชื่อมโยงเข้าสู่โลกของดิจิทัล และนวัตกรรมใหม่ๆ ในการท่องเที่ยว (Accelerate access to digital and innovation world)
ยุทธศาสตร์ที่สาม คือ วัฒนธรรมย่อย (Subculture) ซึ่งมีความสำคัญมานานมากแล้ว อย่างเรื่องความเสมอภาค ความเท่าเทียมทางเพศ ถือเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพ หรือเป็นกลุ่มที่มีความชื่นชอบเรื่องเดียวกัน เป็นคอมมูนิตี้ที่เชื่อมโยงเข้ากันได้ง่ายในโลกโซเชียลมีเดีย ที่สามารถเชิญชวนมาเป็นผู้เยี่ยมเยือน เป็นนักท่องเที่ยว เป็นนักท่องเที่ยวเชิงคุณค่า เพราะถ้ามาท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ในเรื่องเดียวกัน กลุ่มนี้จะพร้อมใช้จ่ายอย่างเต็มที่
...
ศักยภาพของตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มวัฒนธรรมย่อยมีสูง และประเทศไทยมีความพร้อม จากทั้งประเทศมี 77 จังหวัด ที่ไม่ใช่แค่เมืองหลักขายได้อย่างเดียว แต่มีเมืองรองที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มต่างๆ ตลอด 365 วันของทุกปี อย่างแคมเปญที่ออกมากับ “365 วันมหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน”
เชื่อมโยงมาถึงยุทธศาสตร์ที่สี่ คือ ความยั่งยืน โดยผลลัพธ์ที่เป็นตัวชี้วัด ไม่ใช่มีแค่จำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนมากอย่างเดียว แต่เป็นความสุขที่นักท่องเที่ยวได้รับ ความสุขที่ให้คนในประเทศไทย และความสุขที่ให้กับสภาพแวดล้อมของประเทศ เพราะหากนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก และประเทศไทยถูกทำลาย และนักท่องเที่ยวไม่ได้ใช้จ่ายเงินมากนัก ก็ได้ไม่คุ้มเสีย
นี่คือยุทธศาสตร์ที่ต้องผลักดันให้สำเร็จ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ที่มีแรงกดดันจากการถูกคาดหวังว่า การท่องเที่ยวจะสร้างรายได้ให้ประเทศ คิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ภายในปี 2070 ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยว 70-80 ล้านคน ซึ่งเทียบเท่ากับจำนวนนักท่องเที่ยวในฝรั่งเศส หรือ สเปน
ในมุมมองของ ฐาปนีย์ คือ หากมีจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่านั้น คืออาจได้แค่ 60 ล้านคน ก็ต้องหาวิธีทำให้การท่องเที่ยวมีมูลค่าสูงขึ้น หรืออยู่ท่องเที่ยวนานขึ้น หรือขายการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์มากขึ้น การตอบโจทย์ปีหน้าสำหรับการท่องเที่ยวคือ การขายประสบการณ์ ที่น่าจดจำไม่รู้ลืม (Unforgetable experience) สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนไทย
นี่คือส่วนหนึ่งของแผนที่วางไว้ จากหลักในการทำงาน ที่ ฐาปนีย์ ชัดเจนว่า มีการวางแผนในแต่ละปีว่าจะเน้นเรื่องอะไร จะติดตามแผนที่วางไว้อย่างใกล้ชิด และละเอียด เพราะกระบวนการคิด ได้ถูกบันทึกจากการจดสิ่งที่คิดออกมาเป็นแผนผังความคิดเพื่อให้เห็นภาพ และจดจำได้แม่นยำ
...
จึงไม่น่าแปลกใจที่โต๊ะทำงานของ ฐาปนีย์ จะมีกระดาษแผ่นใหญ่ ที่เต็มไปด้วยตัวอักษรที่จดไว้มากมาย
“เวลาที่ลงมือเขียนเอง คิดเอง จะอยู่ในสมองของเรา สมัยก่อนเวลาทำงานจะโยงเป็นมายด์แมปในสมุดจด เช่น นามบัตรของคนจะโยงชื่อคน ว่าคุยกับเราเรื่องอะไร มีใครนั่งอยู่ด้วย จะทำให้จำได้ ตอนนี้การใช้ไอทีมาก จะทำให้สมองเราฝ่อ เราฝากความจำในโทรศัพท์เครื่องเดียว แบตหมดก็เสร็จเลย ก็คิดว่าต้องใช้สมองอีกซีกในการทำนั่นทำนี่ และยังชอบทำพาวเวอร์พอยต์เอง ทำพรีเซนเตชั่นเอง
จะติดตามว่า สิ่งที่มอบหมายไปเสร็จหรือยัง อาจไม่ใช่ข้อดีที่สุดก็ได้ แต่เป็นคนเพอร์เฟกชั่นนิสต์ หรือทำอะไรต้องสมบูรณ์แบบเล็กน้อยในบางเรื่อง แต่คงไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องยืดหยุ่นบ้าง เคล็ดลับการทำงานจึงเขียนด้วยลายมือเองทั้งหมด”
การทำงานกับคนต่างเจเนอเรชันต้องเปิดกว้าง แล้วค่อยตัดสินใจ
สำหรับวิธีการทำงานกับทีมที่มีองค์ประกอบอยู่ทุกเจเนอเรชันนั้น ฐาปนีย์ บอกว่า จากหลักการทำงานที่เป็นคนคิดนอกกรอบอยู่แล้ว จึงเปิดใจฟังคนรุ่นใหม่เสมอ เพราะเข้าใจดีว่าคนรุ่นใหม่มีความคิดเห็นของตัวเองสูง แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจ ก็มีวิธีที่เจ้าตัวบอกว่า “ต้องเด็ดเดี่ยว”
สำหรับวิธีการโน้มน้าวเมื่อมีความเห็นต่างมี 2 แบบ คือ โน้มน้าวเชิงธรรมชาติ คุยกันให้เข้าใจ แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็คุยหลักการ และต้องให้จบ
“เวลามี 24 ชั่วโมงเท่ากัน ชักช้ากับการตัดสินใจจะไปต่อไม่ได้ กลางค่อนข้างเด็ดเดี่ยวมากๆ ในเรื่องนี้ เป็นคนแบบนี้ อย่ายื้อเวลาด้วยความลังเล จนแก้ไขอะไรไม่ได้ กลางจะให้ความสำคัญกับการฟังทุกคน แล้วค่อยตัดสินใจ แต่ต้องมีการตัดสินใจแน่นอน ซึ่งคงไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ทุกคนจะแฮปปี้ทั้งหมด ต้องบาลานซ์ที่สุดให้อยู่ในจุดไม่มีใครรู้สึกเสีย แต่ไม่ใช่ทุกคนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เป๊ะ เพราะความคิดแต่ละคนมีมิติ ความซับซ้อนของจิตใจที่แตกต่างกัน
กลางจะพูดเลยว่า ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกคนนะ ต้องถือฉันทามติ เพราะเราคุยกันแล้ว เราฟังทุกคน แต่ต้องมีโซลูชัน ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะแฮปปี้หมด บางคนอาจได้ 80 อาจได้ 90 แต่รับรองไม่มีใครได้ต่ำกว่า 50"
เมื่อหลักการและวิธีปฏิบัติชัด มาพร้อมกับประสบการณ์ ของ ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ จึงลงตัวกับภารกิจการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศนับจากนี้
ภาพ : ธนัท ชยพัทธฤทธี