ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQIAN+ เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้อย่างไร สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจาก พ.ร.บ. นี้มีอะไรบ้าง

ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเป็นร่างกฎหมายที่เปิดโอกาสให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมาย พร้อมมีสิทธิในการสมรสไม่ต่างจากคู่สมรสชายหญิง โดยมีเนื้อหาที่ตอบโจทย์มากกว่าร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ทั้งในเชิงหลักการและในเชิงปฏิบัติ อย่างไรก็ดี หลังจากคณะรัฐมนตรีและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมในวาระที่ 1 ในเดือนมิถุนายน 2565 ปัจจุบันยังรอพิจารณาวาระที่ 2-3 ต่อไป

นอกจากหลักการของ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นแล้ว หากมีการบังคับใช้เป็นกฎหมายในอนาคต จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยในหลากหลายบริบท รวมทั้งในตลาดอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) ชวนจับตาความน่าสนใจของร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เมื่อผ่านเป็นกฎหมายแล้วจะช่วยคู่สมรส LGBTQIAN+ ให้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างไรบ้าง

1. เปิดโอกาสในการกู้ซื้ออสังหาฯ ร่วมกัน

แม้ปัจจุบันบางธนาคารจะเปิดโอกาสให้คู่รักชาว LGBTQIAN+ สามารถกู้ร่วมซื้อบ้านได้เช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ หรือมีแคมเปญรองรับคู่รักกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะแล้ว อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะทลายกรอบทางเพศลง เปิดทางให้คู่รักทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้และมีสถานะทางกฎหมายเป็นคู่สมรส ซึ่งจะสามารถยื่นกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในนามคู่สมรส และมีกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยร่วมกันเช่นเดียวกับคู่สมรสชาย-หญิง

ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะเปิดทางให้คู่รักทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้และมีสถานะทางกฎหมายเป็นคู่สมรสเช่นเดียวกับคู่สมรสชาย-หญิง
ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะเปิดทางให้คู่รักทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้และมีสถานะทางกฎหมายเป็นคู่สมรสเช่นเดียวกับคู่สมรสชาย-หญิง

...

2. มีสิทธิ์การจัดการทรัพย์สินหรือสินสมรสร่วมกัน

ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะช่วยให้คู่สมรส LGBTQIAN+ มีสิทธิในการบริหารจัดการสินสมรสร่วมกันตามกฎหมาย ได้แก่ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส หรือทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือการให้เป็นหนังสือโดยระบุว่าเป็นสินสมรส รวมทั้งทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว ในกรณีที่ผู้บริโภคมีการซื้อบ้าน/คอนโดมิเนียมตั้งแต่ตอนยังโสดจะถือว่าที่อยู่อาศัยนั้นเป็นสินส่วนตัว หากมีการจดทะเบียนสมรสในภายหลัง และต้องการเพิ่มชื่อคู่สมรสเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ดังนี้

  • ค่าใช้จ่ายในการให้ 0.5% ของราคาประเมิน
  • ภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร ผู้ให้เปรียบเสมือนเป็นผู้ขายจึงต้องนำเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะในส่วนที่ให้คู่สมรส
  • ค่าอากรแสตมป์ 0.5% ของราคาซื้อขาย แต่ต้องไม่ต่ำกว่าราคาประเมินที่ดิน โดยต้องครอบครองมากกว่า 5 ปีขึ้นไป หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี หากไม่ตรงตามเกณฑ์นี้ จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 3.3% ของราคาซื้อขายแทน

3. ในกรณีซื้อบ้านหรือคอนโดฯ

หลังจดทะเบียนสมรสแล้วจะถือว่าเป็นสินสมรส หากต้องการเพิ่มชื่อคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสเรียบร้อยแล้วเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อีกคน จะเสียค่าธรรมเนียมอยู่ที่ประมาณ 75 บาท หรือหากต้องการเพิ่มชื่อคู่สมรสในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนจากการกู้เดี่ยวมาเป็นการกู้ร่วมนั้น ธนาคารจะนำรายได้และภาระหนี้ของคู่สมรสที่กู้ร่วมมาพิจารณาด้วยอีกครั้ง

4. สิทธิในการรับมรดกจากคู่สมรส

พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ได้รับมรดกที่มีมูลค่าสุทธิรวมเกิน 100 ล้านบาท โดยทรัพย์สินมรดกที่จะต้องเสียภาษีมี 5 ประเภท ได้แก่

  1. อสังหาริมทรัพย์
  2. หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  3. เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันซึ่งอยู่ในประเทศไทย
  4. ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน
  5. ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา

หากผู้ที่ได้รับมรดกเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องของเจ้าของมรดกนั้นๆ คู่สมรสจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมรดก ซึ่งร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะทำให้คู่สมรส LGBTQIAN+ ได้รับสิทธินี้เช่นกัน หรือหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตและไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ คู่สมรส LGBTQIAN+ ที่ยังมีชีวิตจะถือเป็นทายาทโดยธรรมอันมีสิทธิรับมรดกของคู่สมรสที่เสียชีวิตได้ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องเสียภาษีมรดกเช่นกัน

ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะทำให้คู่สมรส LGBTQIAN+ ได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมรดก
ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะทำให้คู่สมรส LGBTQIAN+ ได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมรดก

...

รายงาน “Brand Purpose in Asia” ของ BBDO Asia เผยมุมมองที่น่าสนใจว่าผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ให้การยอมรับเรื่องของ LGBTQIAN+ อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เห็นได้จากการที่องค์กรภาคเอกชนมากมายได้ขับเคลื่อนนโยบายที่ตระหนักถึงกลุ่มพนักงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สังคมยังคงรอความชัดเจนในประเด็นการรับรองความเท่าเทียมทางเพศตามกฎหมาย

แม้ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะต้องรอการพิจารณาในวาระอื่นๆ แต่ถือได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะสร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญในสังคมไทยอีกครั้ง ปัจจุบันคู่รัก LGBTQIAN+ ที่ต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยสามารถศึกษาเงื่อนไขการกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในแคมเปญต่างๆ ของหลายธนาคารที่มีออกมารองรับได้เช่นกัน