หนึ่งในกิจกรรมสำคัญช่วง Pride Month คือการเดินขบวนพาเหรดของชาว LGBTQIAN+ ซึ่งปีนี้บางกอกไพรด์ 2023 (Bangkok Pride 2023) ชู 4 ประเด็นขับเคลื่อนสังคมเพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตที่เท่าเทียมของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอีกด้วย

งานบางกอกไพรด์ 2023 (Bangkok Pride 2023) มีชื่อเดิมว่า บางกอกนฤมิตไพรด์ (Bangkok Naruemit Pride) ซึ่งจัดกิจกรรมเดินขบวนพาเหรดของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเมื่อปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนชื่อใหม่ในครั้งนี้ก็เพื่อขอลิขสิทธิ์ในการจัดงาน World Pride ในปี ค.ศ.2028 ซึ่งต้องได้การยอมรับจากชุมชน สังคม ภาคธุรกิจ ความพร้อมของเมือง รวมถึงการผ่านกฎหมายที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ

แนวคิดของการจัดงานบางกอกไพรด์ 2023 (Bangkok Pride 2023) คือ Beyond Gender เพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหาในหลากหลายมิติที่จะทำให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน โดยชู 4 ประเด็นสำคัญคือ

  1. สมรสเท่าเทียม (Marriage Equality)
  2. การรับรองเพศสภาพ (Gender Recognition)
  3. สิทธิของ Sex Workers (Sex Work Rights)
  4. สวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับ LGBTQIA+ (Equal Right to Health)

วาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด บอกกับไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์ว่า 4 ประเด็นที่ต้องการนำเสนอในปีนี้เป็นเรื่องที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศเรียกร้องมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แต่เสียงของพวกเขาเพิ่งเริ่มเป็นที่สนใจในสังคมรวมทั้งภาคเอกชนและภาคการเมืองเมื่อไม่นานนี้ การที่มีกระแสจากทั่วโลกในการจัดขบวนไพรด์พาเหรดบนท้องถนนได้ ก็ถึงเวลาแล้วที่ควรนำ 4 ประเด็นดังกล่าวออกมาพูดถึงในสังคมให้รับรู้

ภาพงานศิลปะต้อนรับ Pride Month 2023 บนผนังหอศิลป์ (BACC)
ภาพงานศิลปะต้อนรับ Pride Month 2023 บนผนังหอศิลป์ (BACC)

...

สมรสเท่าเทียม (Marriage Equality)

วาดดาว เผยว่า ประเด็นแรกที่ต้องการเน้นคือเรื่อง สมรสเท่าเทียม (Marriage Equality) ตอนนี้ได้ถูกนำเข้าไปในสภาแล้ว และรอให้รัฐบาลใหม่นำกลับมาพิจารณา พร้อมทั้งมีการผลักดันสมรสเท่าเทียมภาคประชาชนด้วย เผื่อในกรณีที่การยื่นผ่านรัฐสภาแล้วมีปัญหา ก็พร้อมจะยื่นข้อเสนอสมรสเท่าเทียมภาคประชาชนเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการจัดตั้งครอบครัวได้ ซึ่งตอนนี้สามารถรวบรวมได้มากกว่า 300,000 รายชื่อแล้ว

“การจัดตั้งขบวนบางกอกนฤมิตรไพรด์ในปีที่แล้วทำให้ข้อเสนอสมรสเท่าเทียมถูกนำเข้าสภาได้ ปีนี้เราจึงยังมีเรื่องนี้อยู่ โดยมีคู่รักที่คบกันมายาวนานจนถึงหลายสิบปีมาร่วมเดินขบวนมากกว่า 100 คู่ ที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีตัวตนอยู่จริงๆ เพราะที่ผ่านมาเขามีความรักให้กันแต่ไม่มั่นใจว่าสังคมเปิดให้พวกเขาไหม พอสังคมเริ่มเปิดก็ออกมาเฉลิมฉลอง”

การรับรองเพศสภาพ (Gender Recognition)

ประเด็นที่สองในเรื่องของ การรับรองเพศสภาพ (Gender Recognition) จากรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่า พระราชบัญญัติชื่อบุคคลของประเทศไทยที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในปี 2550 อนุญาตให้คนข้ามเพศขอเปลี่ยนชื่อตนเองได้ แต่ไม่อนุญาตให้บุคคลสามารถขอเปลี่ยนเพศสภาพตามกฎหมายได้ โดยการขอเปลี่ยนชื่อจะต้องได้รับความเห็นชอบตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่แต่ละคน

6 ทูตนฤมิตบางกอกไพรด์ 2023 ตัวแทนกระบอกเสียงให้กับชาว LGBTQ+
6 ทูตนฤมิตบางกอกไพรด์ 2023 ตัวแทนกระบอกเสียงให้กับชาว LGBTQ+

เรื่องนี้ส่งผลให้คนข้ามเพศทุกคนมีเอกสารซึ่งระบุเพศสภาพแตกต่างจากอัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศของตน เมื่อมีการขอดูเอกสารของคนข้ามเพศ พวกเขาจึงมักรู้สึกอับอาย ในบางกรณี คนข้ามเพศระบุว่าข้าราชการทำให้พวกเขาอับอายเมื่อพบว่าเอกสารไม่ตรงกับเพศสภาพของตน

การเรียกร้องในเรื่องนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาในการรับรองสิทธิของคนข้ามเพศ รวมถึงคนที่เป็น Non binary หรือคนที่ไม่ได้เป็นตามเพศสภาพที่กำหนดมาจากรัฐ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องแก้ไขปัญหาสองอย่างนั่นคือ

  • การรับรองเพศสภาพ คือ รับรองความเป็นหญิง ความเป็นชาย และรับรองเพศอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจริง
  • การเปลี่ยนคำนำหน้านาม หรือ พ.ร.บ.การเปลี่ยนคำนำหน้านาม จากเด็กหญิง เด็กชาย สามารถเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงเปลี่ยนจากนาง นางสาว เป็นนายได้ และสามารถที่จะมีคำนำหน้านามที่เป็น Gender nutral หรือ Gender X ที่ทุกคนเข้าถึงได้

สิทธิของ Sex Workers (Sex Work Rights)

สำหรับประเด็นที่สามเรื่อง สิทธิของ Sex Workers (Sex Work Rights) ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีพนักงานบริการทางเพศ หรือ Sex Workers เป็นจำนวนมาก และจำนวนไม่น้อยที่เป็น LGBTQ+ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบที่สืบเนื่องมาจากเมื่อ 10 ปีก่อนมีการเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน ทำให้คนที่เป็นสาวประเภทสอง เป็นเกย์ มีทางเลือกในการประกอบอาชีพน้อยมาก หลายคนจึงต้องมาทำงานเป็นพนักงานบริการทางเพศ แต่ด้วย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ปี 2539 ส่งผลกระทบต่อคนที่ทำอาชีพนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้

...

การยกเลิกกฎหมายนี้ก็เพื่อคุ้มครอง Sex Workers ให้เป็นพนักงานบริการในฐานะลูกจ้างในสถานบริการให้เป็นแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ เหมือนภาคแรงงานทั่วไป โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนเฉพาะ

“การเอาคำว่าศีลธรรมอันดี การเอาเงื่อนไขเรื่องโรคทางเพศสัมพันธ์ หรือเงื่อนไขปัจจัยอื่นๆ มากีดกันไม่ให้เขาไม่ได้รับสิทธิ์นั้นไม่ใช่สิทธิมนุษยชน เราจึงต้องการแค่ยกเลิก พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี และทำให้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายแรงงานได้”

สวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับ LGBTQIA+ (Equal Right to Health)

ประเด็นสุดท้ายคือเรื่อง สวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับ LGBTQIA+ (Equal Right to Health) เพื่อเรียกร้องให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิและสวัสดิการสุขภาพให้เท่าเทียมกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงบริการรับฮอร์โมนและศัลยกรรมเพื่อการข้ามเพศในสถานบริการสุขภาพ หรือโรงพยาบาลของรัฐได้อย่างทั่วถึง รวมถึงการดูแลเรื่องโรค HIV การดูแลเรื่องวัคซีน PCV ที่มีมาตรฐาน ปราศจากการเลือกปฏิบัติ อยู่ในการคุ้มครองในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

“การเรียกร้องสิทธิต่างๆ เหล่านี้เราไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิทธิของผู้พิการ ผู้สูงอายุ เยาวชน และกลุ่มชาติพันธุ์ การเดินขบวนบางกอกไพรด์ 2023 จึงเป็นประตูที่เปิดเข้าสู่ความหลากหลายของสังคม ซึ่งปีนี้มีอาสาสมัครคนพิการลงทะเบียนมามากกว่า 30% สะท้อนถึงความตื่นตัวของสังคมว่าถ้าอยากดูแลคนอย่างเท่าเทียมกันจะต้องเป็นแบบไหน”

งานบางกอกไพรด์ 2023 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากภาครัฐและเอกชน
งานบางกอกไพรด์ 2023 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากภาครัฐและเอกชน

...

วาดดาว เผยว่า การเรียกร้องสิทธิใน 4 ประเด็นนี้ของงานบางกอกไพรด์ 2023 (Bangkok Pride 2023) ก็เพื่อช่วยขับเคลื่อนสังคมให้เปิดรับความแตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้การที่ประเทศไทยเปิดรับความหลากหลายทางเพศยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึง Medical Hub Tourism

เนื่องจากประเทศไทยมีชื่อเสียงที่ดีในหมู่ชาวต่างชาติว่าเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการยืนยันเพศและสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ สามารถผ่าตัดแปลงเพศได้ พร้อมทั้งมีการรับรองด้านสุขภาพจิตด้วย อีกทั้งยังมีราคาที่จับต้องได้พร้อมด้วยบริการที่สะดวกสบายรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวระดับพรีเมียม ซึ่งวาดดาวมองว่าหากรัฐบาลมีการเก็บข้อมูลตัวเลขในส่วนนี้อย่างจริงจังและมีการสนับสนุนธุรกิจ Medical Hub Tourism ในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่ม LGBTQIA+ ไปทั่วประเทศ ก็อาจสร้างเม็ดเงินได้ถึงหลักแสนล้านบาท

“ไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศของเอเชียที่นักท่องเที่ยว LGBTQIA+ อยากเดินทางมามากที่สุด เพราะสังคมไทยไม่รังเกียจคนกลุ่มนี้ ประเทศของเราไม่ใช่แค่เป็นพื้นที่ come out ของคนหลากหลายทางเพศ แต่เป็นพื้นที่ที่ทำให้เขาสามารถแสดงตัวตนได้อย่างอิสระเสรี เพราะบางคนไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้เมื่ออยู่ในประเทศตัวเอง แม้แค่การแต่งหน้าแต่งตัวก็ตาม ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหลายคนมาไทยเพราะที่นี่สามารถแต่งหน้าแต่งตัวใส่วิกผมได้อย่างอิสระ และเดินถนนได้อย่างปลอดภัย หรือหลายคนอาจจะมีคนรักที่คบกันมานานแต่ไม่สามารถแสดงความรักต่อกันในประเทศตัวเองได้ เพียงแค่ 1 วันที่แสดงตัวตนออกมาได้ก็มีความหมายมากสำหรับคนกลุ่มนี้”.