ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั่วโลกได้ตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ทำให้ "คาร์บอนเครดิต" กลายเป็นคนที่ถูกพูดถึงมากขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งถูกนำมาใช้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เพื่อหวังลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ คาร์บอนเครดิตคืออะไร สำคัญอย่างไร ไทยรัฐออนไลน์จะสรุปง่ายๆ ดังนี้ 

ทำความรู้จัก "คาร์บอนเครดิต" (Carbon Credit) คืออะไร?

คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ ที่กำหนดให้บริษัทสามารถปล่อยได้ต่อปี หากปล่อยมลภาวะน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็สามารถนำส่วนต่างไปจำหน่ายให้กับบริษัทอื่นๆ ในภาคอุตสาหกรรมได้ ซึ่งสิ่งนี้นี่เองที่เราเรียกว่า "คาร์บอนเครดิต" โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตถูกนำมาใช้เป็นแรงจูงใจและเป็นส่วนหนึ่งของกลไกลตลาดเพื่อโน้มน้าวให้โรงงานอุตสาหกรรมและผู้ผลิตรายใหญ่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ

ทั้งนี้ ประเทศในสหภาพยุโรปถือเป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ที่รณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยมีการเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจก หรือ "ภาษีคาร์บอน" (Carbon Tax) ซึ่งหลายๆ บริษัทก็มักจะทำโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย เช่น การปลูกต้นไม้คืนพื้นที่สีเขียวสู่สังคม หรือจ้างชาวบ้านในชุมชนปลูกต้นไม้สำหรับช่วยกรองมลภาวะและคาร์บอนฯ เพื่อเป็นการสร้างคาร์บอนเครดิต ถือเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกทาง เพราะถือว่าต้นไม้ยิ่งมีจำนวนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยทำให้ก๊าซคาร์บอนฯ ในชั้นบรรยากาศลดลง

...

รู้หรือไม่? ประเทศไทยมีหน่วยงานจัดการก๊าซเรือนกระจก

ไทยมีหน่วยงานที่ดูแลจัดการเรื่องก๊าซเรือนกระจกและเป็นศูนย์กลางข้อมูลให้ความรู้ด้านคาร์บอนเครดิต ซึ่งก็คือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. (ภาษาอังกฤษ Thailand Greenhouse Gas Management Organization หรือ TGO) ซึ่งมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีหน้าที่ในการให้คำรับรองโครงการที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด รวมถึงส่งเสริมโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.tgo.or.th

คาร์บอนเครดิตสำคัญอย่างไร ทำไมจึงเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม

คาร์บอนเครดิต เปรียบเสมือนสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อแต่ละโรงงานถูกกำหนดให้ปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ สู่ชั้นบรรยากาศให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด แต่การผลิตขนาดใหญ่ทำให้จำเป็นต้องปล่อยเกินปริมาณที่กำหนดไว้ จึงจำเป็นต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ผลิตรายอื่น คล้ายๆ กับการซื้อโควตาเพิ่ม ไม่เช่นนั้นก็ต้องจ่ายค่าปรับและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น

ในขณะที่ผู้ผลิตที่สามารถควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้ ก็จะมี "ส่วนต่าง" หรือมีปริมาณคาร์บอนที่ยังไม่ได้ปล่อยเหลืออยู่ ซึ่งคาร์บอนเครดิตนี้ก็นำไปขายให้ผู้ผลิตรายอื่นได้นั่นเอง แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ภายในขอบเขตที่แต่ละประเทศกำหนดไว้ว่าไม่ควรเกินค่ามาตรฐานเท่าใด ทำให้หลายบริษัทหันมาพัฒนากระบวนการผลิตของตนให้หันไปใช้สัดส่วนของพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นนโยบายที่โน้มน้าวใจให้ผู้ผลิตแต่ละรายหันมารักษาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นนั่นเอง

คาร์บอนเครดิต ราคาเท่าไหร่ หาซื้อได้จากที่ไหน?

คาร์บอนเครดิตสามารถหาซื้อได้จาก "ตลาดคาร์บอนเครดิต" (Carbon market) ซึ่งเป็นตัวกลางสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอนเครดิต

  • ติดตามข้อมูลระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
    http://carbonmarket.tgo.or.th
  • ติดตามรายละเอียดภาษีคาร์บอนเครดิต 
    https://www.rd.go.th

ราคาคาร์บอนเครดิตในไทย

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ผู้ที่เข้าร่วมการซื้อขายจะต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และดำเนินภายใต้ผ่านโครงการ Thailand Voluntary Emissions Reduction หรือที่เรียกว่า T-VER ซึ่งเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยโดยความสมัครใจ ส่วนหน่วยวัดของคาร์บอนเครดิต คือ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)

...

สำหรับราคาคาร์บอนเครดิตในไทย อิงตามรายงานของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ระบุว่า ราคาคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยแล้ว มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

  • ราคาคาร์บอนเครดิต ปี พ.ศ. 2561 อยู่ที่ 21.37 บาท / tCO2eq
  • ราคาคาร์บอนเครดิต ปี พ.ศ. 2562 อยู่ที่ 24.71 บาท / tCO2eq
  • ราคาคาร์บอนเครดิต ปี พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 25.76 บาท / tCO2eq
  • ราคาคาร์บอนเครดิต ปี พ.ศ. 2564 อยู่ที่ 34.34 บาท / tCO2eq
  • ราคาคาร์บอนเครดิต ปี พ.ศ. 2565 อยู่ที่ 107.23 บาท / tCO2eq

ทั้งนี้ จะเห็นได้ชัดว่าราคาคาร์บอนเครดิตในปี 2565 ก้าวกระโดดอย่างมาก เทียบเท่าราคา 3 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) โดยราคาคาร์บอนเครดิตในแต่ละตลาดก็มีราคาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเพราะมีการยึดค่ามาตรฐานที่แตกต่างกัน แต่สำหรับราคาคาร์บอนเครดิตโลก มีราคาประมาณ 25 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ว่าโครงการคาร์บอนเครดิตในไทย จะมีทิศทางการเติบโตอย่างไร และจะสามารถผลักดันนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไปสู่ Zero-Carbon ได้จริงหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

...