อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะรวบรวมคลินิกการรักษาพยาบาลครบวงจร ด้วยโรคต่างๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยข้ามอาคาร และมีระบบจัดการห้องผ่าตัดทำให้การรักษารวดเร็วมีประสิทธิภาพ

อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ อยู่ที่ไหน

อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อยู่ระหว่างอาคาร อปร.และอาคาร สก. ฝั่งถนนราชดำริ ตัดกับถนนพระราม 4 ตรงข้ามกับสวนลุมพินี มีพื้นที่ใช้สอย 210,804 ตารางเมตร งบก่อสร้าง 7,243,277,585.21 บาท แล้วเสร็จในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558

อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ มีประวัติและความเป็นมาอย่างไร

ทุนการก่อสร้างอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มาจากจิตศรัทธาของผู้บริจาค ทั้งผ่านการประมูลสิ่งของส่วนพระองค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ ประมูลงานศิลปะ รับบริจาคร่วมกับผู้มีจิตศรัทธาทอดกฐิน ทอดผ้าป่าสามัคคี และผ่านการประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนรับรู้ข่าวการสร้าง สถานพยาบาลที่เป็นอาคารรวมความเป็นเลิศทางการแพทย์ ไว้ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

...

ภาพจาก หนังสือ ธ คู่ฟ้า ภูมิสิริมังคลานุสรณ์ Bhumsirimangalanusorn
ภาพจาก หนังสือ ธ คู่ฟ้า ภูมิสิริมังคลานุสรณ์ Bhumsirimangalanusorn

ภูมิสิริมังคลานุสรณ์” เป็นชื่อที่มีความหมายว่า “อนุสรณ์ที่เป็นมงคลของสองพระองค์” คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร และพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้กราบบังคลทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

อาคารต่างๆ ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ล้วนมีประวัติความเป็นมาจากจิตศรัทธาของผู้บริจาค เพื่อให้พื้นที่ทุกตารางนิ้วได้ถูกใช้งานอย่างมีประโยชน์ ช่วยชีวิต ต่อลมหายใจแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะถูกใช้เป็นตึกผู้ป่วย หอพักพยาบาล หรือพื้นที่รอตรวจ การก่อสร้าง อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ใช้พื้นที่มาก จึงต้องรื้อถอนอาคารเก่าจำนวน 14 อาคาร แบ่งการรื้อถอนออกเป็น 3 ช่วง

ช่วงที่ 1 เดือน มีนาคม - กรกฎาคม พ.ศ. 2552 อาคารที่รื้อถอน ได้แก่
- หอพักเจ้าคุณทหาร (หอพักพยาบาล 6 ชั้น)
- หอพักสลากกินแบ่งรัฐบาล (หอพักพยาบาล 4 ชั้น)
- หอพักบริษัทไฟฟ้า (หอพักพยาบาล 2 ชั้น)
- พอพัก คุ้ย บุ้น จุ้ย ว่อง (หอพักพยาบาล 2 ชั้น)
- อาคารสันติวัน
- อาคารจิระประวัติ
- อาคารสิงหเสนี (ธุรการตจวิทยา โรคปอด อายุรกรรม 2 ชั้น)
- อาคารสุกรี - สุภา โพธิรัตนังกูร (สำนักงานและหน่วยวิกฤตของภาควิชาอายุรศาสตร์ 2 ชั้น)
- อาคารพานิชภักดี (หอผู้ป่วยอายุรกรรม 2 ชั้น)

ช่วงที่ 2 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2553 อาคารที่รื้อถอน ได้แก่
- หอพักจุฬาลัย (หอพักพยาบาล 10 ชั้น)

ช่วงที่ 3 เดือน มีนาคม และสิงหาคม พ.ศ. 2556 อาคารที่รื้อถอน ได้แก่
- อาคารอายุรศาสตร์ (อาคารผู้ป่วยอายุรกรรมชาย - หญิง และผู้ป่วยวิกฤต 4 ชั้น)
- อาคารประสิทธิ์ - ตุ๊ พร้อมพันธุ์ (อาคารผู้ป่วยอายุรกรรมชาย - หญิง และหน่วยตรวจโรคทางเดินอาหาร 3 ชั้น)
- อาคารธนาคารกสิกรไทย (อาคารผู้ป่วยโรคไตและโลหิตวิทยา 3 ชั้น)
- อาคารวชิรญาณ สามัคคีพยาบาร (อาคารผู้ป่วยโรคไตและโรคต่อมไร้ท่อ 6 ชั้น)

ตึกภูมิสิริ แต่ละชั้น

ภาพจาก หนังสือ ธ คู่ฟ้า ภูมิสิริมังคลานุสรณ์ Bhumsirimangalanusorn
ภาพจาก หนังสือ ธ คู่ฟ้า ภูมิสิริมังคลานุสรณ์ Bhumsirimangalanusorn

...

ภายในอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ แต่ละชั้นมีพื้นที่ใช้สอย 6,400 ตารางเมตร มีพื้นที่การใช้งานที่ต้องติดตั้งเครื่องมือแพทย์ที่มีราคาสูง จึงเจาะพื้นดินลงไปลึกถึง 68 เมตร หรือเท่าความสูงตึก 12 ชั้น เพื่อลดแรงสั่นสะเทือนจากภายนอก และเครื่องมือต่างๆ ก็ติดตั้งออกแบบภายใต้โครงสร้างที่แน่นหนา เช่น ห้องเอกซเรย์ (X-ray) ป้องกันการรั่วไหลของรังสี

ห้องใต้ดิน 4 ชั้น ฝั่ง B1 เป็นครั้งยา B2-B4 เป็นอาคารจอดรถใต้ดิน ที่วางระบบป้องกันน้ำซึม

ระบบความปลอดภัยของอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ มีช่องทางหนีไฟในโซนต่างๆ ที่ทำจากแผ่นกันความร้อน หากเกิดเหตุไฟไหม้จะป้องกันความร้อนได้ ทำให้มีเวลาช่วยเหลืออพยพผู้ป่วยและผู้คนในอาคารได้ 4 ชั่วโมง โดยที่ตัวอาคารไม่ถล่มลงมาทำอันตรายขณะอพยพ

ภาพจาก หนังสือ ธ คู่ฟ้า ภูมิสิริมังคลานุสรณ์ Bhumsirimangalanusorn
ภาพจาก หนังสือ ธ คู่ฟ้า ภูมิสิริมังคลานุสรณ์ Bhumsirimangalanusorn

...

กระจกกันความร้อนของอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ เป็นกระจกที่มีคุณสมบัติรับปริมาณแสงแดดต่อวันที่พอเหมาะ และกระจกทุกบานเป็น Safety Glass มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มเมื่อเกิดการแตกหักจะไม่มีเศษแก้วกระเด็นออกมา จึงปลอดภัยต่อผู้ใช้งานในอาคาร นอกจากนี้กระจกยังมีโครงสร้างที่ป้องกันไฟ ความร้อน น้ำ และเสียงได้เป็นอย่างดี

อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ มีลิฟต์โดยสารถึง 45 ตัว เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ที่มาติดต่อรักษา และเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ลิฟต์แต่ละตัวระบุวัตถุประสงค์การใช้งาน แยกสัดส่วนการเดินทาง และระยะเวลาการขึ้นลงจากชั้นบนสุดมาชั้นล่างสุดใช้เวลา 36 วินาที ภายในลิฟต์ยังติดตั้งอุปกรณ์จำเป็นสำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินอีกด้วย

ชั้นดาดฟ้ามีลานจอดเฮลิคอปเตอร์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่รับส่งมาทางอากาศยาน บนเนื้อที่ 800 ตารางเมตร และรับน้ำหนักได้ถึง 15 ตัน จึงรองรับเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ขนาดพิเศษที่มีน้ำหนักมากที่สุดในขณะนี้ได้ ลานจอดมีระบบ 2 ชั้น ตรงกลางเป็นสุญญากาศป้องกันแสง UV และเสียง โดยมีเจ้าหน้าที่ได้รับการฝึกซ้อมตามมาตรฐานสากลรับรองโดยสถาบันการบินพลเรือน

...

อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ เปิดใช้งาน 24 ชั่วโมง จึงออกแบบตามหลักเกณฑ์อาคารสีเขียว (Green Building) ภายในอาคารจึงออกแบบด้วยสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศควบคุมเวลาเปิดปิดจากส่วนกลาง ลดค่าใช้จ่ายการดูแลรักษาในระยะยาว

อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์เปิดให้ถวายพระพร กี่โมง

พระบรมวงศานุวงศ์ที่ประทับรักษาพระอาการ ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ทางสำนักพระราชวังจึงจัดพื้นที่ให้ลงนามถวายพระพรชั้น 1 เวลา 08.00-16.00 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ

วิธีการเดินทางมายัง รพ.จุฬาฯ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ด้วยรถยนต์ส่วนตัว

อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ค่าที่จอดรถเท่าไร

อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ จอดรถได้ทั้งหมด 438 คัน ในลานใต้ดิน B2-B4 มีค่าที่จอดรถคิดเป็น 2 ช่วงเวลาของวัน นับจากชั่วโมงที่จอด ดังนี้

ช่วงเวลาที่ 1 เวลา 06.00 - 23.00 น. ค่าจอดรถ 2 ชั่วโมงแรก 20 บาท ชั่วโมงต่อไป 40 บาท เศษนาทีคิดเป็นหนึ่งชั่วโมง
ช่วงเวลาที่ 2 เวลา 23.01 - 05.59 น. ค่าจอดรถ 2 ชั่วโมงแรก 20 บาท ชั่วโมงต่อไป 50 บาท เศษนาทีคิดเป็นหนึ่งชั่วโมง

ที่จอดรถมีจำนวนจำกัด หากเดินทางมาในช่วงเวลาเร่งด่วน หรือต้องการหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด สามารถเลือกจอดรถได้ที่บริเวณใกล้เคียง แล้วเดินทางมาด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินหรือรถไฟฟ้า BTS โดยมีที่จอดรถเอกชนแนะนำคือ สวนลุมพินี และ อาคารจามจุรีสแควร์

วิธีการเดินทางมายัง รพ.จุฬาฯ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ด้วยรถสาธารณะ

รถประจำทางสาย 4, 14, 15, 25, 45, 46, 67, 74, 76, 77, 109, 115, 163, 172, 177, 16, 21, 50, 47, 76, 77, 141, 504, 505, 507, 514, 547, ปอพ.512

รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลงสถานีสีลม, รถไฟฟ้า BTS ลงสถานีศาลาแดง และเดินตามทางเดินเข้ามายังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ที่มา หนังสือ ธ คู่ฟ้า ภูมิสิริมังคลานุสรณ์ Bhumsirimangalanusorn

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :