จากกระแสเพลง “ทรงอย่างแบด” ที่กลายเป็นไวรัลฮิตในหมู่วัยรุ่นฟันน้ำนม นักการตลาดได้วิเคราะห์ถึงที่มาและความฮอตของเพลงนี้ไว้ได้อย่างน่าสนใจ

หลายคนเกิดคำถามว่าทำไมเพลง “ทรงอย่างแบด” ของวง Paper Planes ถึงโดนใจแฟนๆ กลุ่มวัยรุ่นฟันน้ำนมที่อยู่ในช่วงวัยอนุบาลถึงวัยประถม จนถึงกับมีผู้ปกครองร้องขอว่าขอให้จัดคอนเสิร์ตช่วงกลางวันเพื่อให้ลูกที่ยังเรียนอยู่ชั้นอนุบาลตามไปดู เนื่องจากเป็นแฟนคลับวงนี้ ซึ่ง ณัฐพล ม่วงทำ ที่ปรึกษาด้านการตลาด และ Data-Driven รวมทั้งเป็นเจ้าของเพจการตลาดวันละตอน ได้วิเคราะห์ถึงที่มาที่ไปของความฮอตไว้ดังนี้

“จุดเริ่มต้นของกระแสเพลงทรงอย่างแบดในกลุ่มเด็กน่าจะมาจากคลิปในแอป TikTok เพราะเป็นสื่อที่เด็กดูเยอะ จึงเข้าถึงกลุ่มนี้ได้ง่าย อีกทั้งยังมีเนื้อเพลงที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ร้องได้เข้าปากเหมือนเพลง Baby Shark ที่เคยฮิตในหมู่เด็กๆ” ณัฐพล กล่าว

ณัฐพล ม่วงทำ ที่ปรึกษาด้านการตลาด และ Data-Driven รวมทั้งเป็นเจ้าของเพจการตลาดวันละตอน
ณัฐพล ม่วงทำ ที่ปรึกษาด้านการตลาด และ Data-Driven รวมทั้งเป็นเจ้าของเพจการตลาดวันละตอน

...

ขณะเดียวกัน เขาก็ได้ทำการค้นหากระแสความนิยมของเพลงทรงอย่างแบด โดยใช้เครื่องมือดาต้ามาช่วยวิเคราะห์จุดเริ่มต้นที่มาของเพลงนี้ และพบว่าเพลงทรงอย่างแบดไม่ใช่เพลงใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนเป็นกระแสในกลุ่มเด็กๆ อย่างที่เราเห็นกันในวันนี้ แต่เพลงนี้ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกในโซเชียลเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 ในเพจหนุ่มจืด และได้กลายเป็นกระแสเล็กๆ จนถึงช่วงปลายเดือนเมษายน 2565 ที่พูดถึงในเพจวุ้นแปลภาษา ต่อมาในเดือนตุลาคม 2565 ได้มีซีรีส์วายเรื่องกลรักรุ่นพี่พูดถึงท่อนฮุค “ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย” ในเนื้อเรื่องและมีคนนำไปทวีตต่อบนทวิตเตอร์ จึงทำให้เพลงนี้กลายเป็นกระแสขึ้นมาอีกครั้ง

จากนั้นตอนต้นเดือนธันวาคมได้มีเด็กอนุบาลนำเพลงทรงอย่างแบดไปร้องเป็นคลิปบน TikTok จึงทำให้เกิดเป็นกระแสในหมู่เด็กอนุบาลและเด็กประถมขึ้นมาจนดังข้ามปีมาถึงตอนนี้ ซึ่งเขามองว่านอกจากเนื้อเพลงที่ติดหูจำง่าย ร้องง่ายแล้ว อาจเป็นเพราะเด็กๆ ก็มีความรู้สึกว่าอยากโตเป็นผู้ใหญ่ การได้ร้องเพลงนี้อาจทำให้รู้สึกว่าตัวเองดูโตขึ้นก็ได้

ส่วนการที่เพลงนี้กลับมาเป็นที่สนใจจนเป็นกระแสขึ้นมาทั้งที่ไม่ใช่เพลงใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวก็ไม่ใช่เรื่องแปลก กรณีนี้จะคล้ายกับร้านอาหารที่เปิดมานานแล้วแต่คนอาจจะยังรู้จักไม่เยอะ พอมีคนไปรีวิวตามๆ กันมากขึ้นก็ทำให้เกิดเป็นกระแสขึ้นมาได้นั่นเอง

“จุดเริ่มต้นของการเกิดกระแสในหมูวัยรุ่นก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในยุคที่ยังเป็นออฟไลน์ก็จะเริ่มต้นกระแสมาจากย่านสยามสแควร์ก่อน ต่อมาก็เป็นไฮไฟว์ มาเป็นเฟซบุ๊ก และตอนนี้ก็มาจาก TikTok”

ฮาย-ธันวา เกตุสุวรรณ และเซน-นครินทร์ ขุนภักดี สองนักร้องวง Paper Planes เจ้าของเพลงฮิต ทรงอย่างแบด
ฮาย-ธันวา เกตุสุวรรณ และเซน-นครินทร์ ขุนภักดี สองนักร้องวง Paper Planes เจ้าของเพลงฮิต ทรงอย่างแบด

ทางด้านของ ฮาย-ธันวา เกตุสุวรรณ และ เซน-นครินทร์ ขุนภักดี สองนักร้องวง Paper Planes เจ้าของเพลงฮิต ทรงอย่างแบด ได้เผยว่าตอนแรกที่แต่งเพลงนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้คนฟังติดหูให้คนฟังจำได้ ไม่ได้คิดถึงหน้าคนฟังที่เป็นกลุ่มเด็กๆ เลย แต่พอหลังจากที่ได้เป็นขวัญใจวัยรุ่นฟันน้ำนมก็จะแต่งเพลงที่ไม่มีคำหยาบให้มากที่สุดเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่น้องๆ แฟนเพลงในอนาคต

เมื่อกลุ่มแฟนเพลงเปลี่ยนไป พวกเขาก็ตั้งใจว่าจะแต่งเพลงให้มีคำหยาบน้อยลงเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีกับเด็กๆ ภาพจากเพจ Paper Planes
เมื่อกลุ่มแฟนเพลงเปลี่ยนไป พวกเขาก็ตั้งใจว่าจะแต่งเพลงให้มีคำหยาบน้อยลงเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีกับเด็กๆ ภาพจากเพจ Paper Planes

“ยอมรับว่าเราก็ตั้งตัวไม่ทันที่มีแฟนเพลงกลุ่มเด็กเล็กๆ เพราะก่อนหน้านี้เราเป็นวงร็อกที่มีภาพลักษณ์แข็งกระด้างดุดัน พอเปลี่ยนมาเป็นหัวหน้าแก๊งเด็กก็ทำให้เราแปลกใจ เพราะไม่ได้คิดว่าจะมาทางนี้ แต่ก็รู้สึกสนุก ตื่นเต้น และอิ่มเอมหัวใจที่ได้เจอเด็กๆ ชื่นชอบเรา ส่วนที่ทำให้เด็กชอบเพลงนี้น่าจะเพราะว่าเมโลดี้ที่เราแต่งมันจำง่ายและเนื้อเพลงก็ติดหู มีโน้ตคล้ายเพลงกล่อมเด็ก รวมถึงเนื้อหาที่ต้องการเอาชนะอะไรแบบนี้ การที่เด็กๆ ชอบก็ดีกับเราแค่เปลี่ยนกลุ่มคนฟัง และเราต้องเปลี่ยนคำพูดที่ใช้สื่อสารกับกลุ่มเด็กด้วย เช่น ให้น้องๆ อย่าลืมกินผักและแปรงฟันนะ ต่อไปก็จะพยายามทำเพลงที่ให้มีคำหยาบน้อยลง” วง Paper Planes ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา

...