BCG Model คืออะไร ทำไมจึงสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย ทำความเข้าใจได้ที่นี่
ปิดฉากงานเอเปก 2022 ไปแล้วอย่างสวยงาม พร้อมกับการประกาศ BCG Model (Bangkok Goals on BCG Economy การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) จาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพิ่มรายได้ประเทศ
BCG Model คืออะไร
BCG Model (Bangkok Goals on BCG Economy) คือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนา 3 เศรษฐกิจ ไปพร้อมกัน ได้แก่
- เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
- เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
- เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน
เพื่อเปลี่ยนข้อได้เปรียบที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน
BCG Model สำคัญอย่างไร
BCG Model จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างทั่วถึง สามารถกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันสามารถสร้างให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกในบางสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพ จึงได้กำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน BCG Model ดังนี้
...
- มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมเป้าหมาย BCG
- ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการเพิ่มรายได้เกษตรกรและชุมชน
- ยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทยขึ้นเป็นผู้ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพและส่วนประกอบอาหารมูลค่าสูง Top 5 ของโลก
- สร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ การผลิตยา เครื่องมือแพทย์ วัสดุชีวภาพให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพส่งออก เป็นแหล่งจ้างงานทักษะสูงและรายได้สูง
- ระบบบริหารจัดการท่องเที่ยว นำไปสู่ Top 3 ของเอเชีย-แปซิฟิก จัดโดย Travel & Tourism Competitiveness Index, World Economic Forum
- ลดการใช้ทรัพยากรลง 2 ใน 3 จากปัจจุบัน
BCG Model เกี่ยวข้องกับเอเปกอย่างไร
BCG Model มีวัตถุประสงค์เพื่อย้ำเจตนารมณ์ร่วมของเอเปกในการผลักดันการฟื้นตัวจากโควิด-19 และขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาวที่ยั่งยืน สมดุล และ ครอบคลุม ประกอบด้วยเป้าหมาย 4 ประการ คือ
- การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์
- การสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน
- การบริหารจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน และ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ
- การลดและบริหารจัดการของเสีย
และในวันที่ 19 พ.ย. 2565 ทุกเขตเศรษฐกิจต่างสนับสนุนไทยในการร่วมกันประกาศเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG Model ทำให้ BCG Model อาจกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญของเอเปก และเป็นมรดกที่ไทยในฐานะเจ้าภาพและประธานปีนี้ทิ้งไว้ให้ เพื่อนำทิศทางการทำงานของเอเปกให้ชัดเจนในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว สำหรับประชากร 1 ใน 3 ของโลก ที่ครอบครองเศรษฐกิจ 60% ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมของทั้งโลก
อ้างอิงข้อมูล: bcg.in.th