ประวัติ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี ทั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และรัฐประหาร ล่าสุดหากฟ้าลิขิต ตามที่สมคิดเชื่อ เขาอาจได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนต่อไป

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เติบโตในย่านถนนทรงวาด-เยาวราช มีเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน ด้วยความขยันในการเรียน เขาจบการศึกษาในสถาบันที่มีชื่อเสียง ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์การคลัง และเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้าปริญญาโท MBA สาขาบริหารการเงิน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แล้วได้ทุนไปจบปริญญาเอก สาขาบริหารธุรกิจ เน้นการจัดการด้านการตลาด ที่ Kellogg School of Management มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา โดยนิด้าได้มอบตำแหน่งทางวิชากร “ศาสตราภิชาน” ให้

ประวัติ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับจุดเริ่มต้นทางการเมืองของ

“เฮียกวง” คือชื่อเล่น หรือ “ป๋าดัน” แต่ในเกือบทุกแวดวงจะเรียกว่าอาจารย์สมคิด เพราะมีความโดดเด่นในการผลักดันนโยบายกระตุ้นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทยของ “ทักษิณ ชินวัตร” โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมต่างๆ มักจะมีเงาของเขา และ “พันศักดิ์ วิญญรัตน์” ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านนโยบายเศรษฐกิจ ในรัฐบาลทักษิณอยู่กลายๆ โดยในมีฐานบัญชาการแห่งหนึ่งช่วงนั้นอยู่ที่ชั้น 30 ตึกออฟฟิศใหญ่ บริเวณพหลโยธินซอย 8

เส้นทางทางการเมืองของ “สมคิด” นั้นไม่ใช่เริ่มต้นจากพรรคไทยรักไทย แต่มาจากการผลักดันของพี่ชาย “ศ.สม จาตุศรีพิทักษ์” อดีตประธานสมาคมธนาคารไทย ที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาล “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” โดยสมคิดมาเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น คือ ทนง พิทยะ ที่ดำรงตำแหน่ง 21 มิ.ย. 2540 – 24 ต.ค. 2540 ก่อนจะไปเป็นที่ปรึกษา ทักษิณ ชินวัตร ที่เข้ามาเล่นการเมืองในตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

...

สมคิด ร่วม ทักษิณ ปั้นไทยรักไทย

หลังจากได้ร่วมงานกับ “ทักษิณ” และกลายเป็น 1 ใน 23 ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย (ทรท.) กับทักษิณ เมื่อปี 2541 ร่วมปลุกปั้นนโยบาย “ประชานิยม” จนได้ผล ทำให้ ทรท. ชนะการเลือกตั้งปี 2544 ด้วยคะแนน 11 ล้านเสียง กวาด ส.ส. เข้าสภาได้ 248 คน

รองนายกฯ สมคิด นั่งข้าง ทักษิณ นายกฯ ในขณะนั้น ที่ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร  ระหว่างการประชุมงบประมาณรายจ่ายปี 2549 เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2548
รองนายกฯ สมคิด นั่งข้าง ทักษิณ นายกฯ ในขณะนั้น ที่ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการประชุมงบประมาณรายจ่ายปี 2549 เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2548

ทำให้เขากลายเป็น “ขุนพลเศรษฐกิจ” คู่บุญของรัฐบาล "ทักษิณ 1" มาต่อเนื่อง แม้มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึง 10 ครั้ง แต่ยังมั่นคงบนเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สลับกับรองนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่องไปจนถึงรัฐบาล "ทักษิณ 2" ซึ่ง ทรท.ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายด้วยคะแนนเกือบ 19 ล้านเสียง จนจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จด้วยที่นั่งในสภา 377 เสียง และ “สมคิด” ก็ยังได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นบางช่วง

สมคิด กับเส้นทางการเมืองสะดุดเว้นวรรค 5 ปี

การเมืองที่เหมือนโรยกลีบกุหลาบของ “สมคิด” ต้องมาสะดุดหยุดลง เมื่อเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นำโดย “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในนามคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งแม้ “สมคิด” จะลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ทรท. แต่ไม่รอดจากการถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ทรท. และเพิกถอนสิทธิการเมืองกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) รวม 111 ชีวิต

ถึงจะมีการตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี แต่สมาชิกบ้านเลขที่ 111 ก็ไม่หยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยสมาชิกแต่ละคนก็แตกกระสานซ่านเซ็นไปตั้งกลุ่ม-ตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดย “สมคิด” กลับมาปรากฏอีกครั้งในฐานะสมาชิกกลุ่มมัชฌิมาที่มี “สมศักดิ์ เทพสุทิน” อดีตรองหัวหน้า ทรท. เป็นแกนนำหลัก แต่เมื่อกลุ่มมัชฌิมาเปลี่ยนมาเป็นพรรคมัชฌิมาธิปไตย “สมคิด” ที่เริ่มมีชื่อเสียง ก็ประกาศแยกวงจากทักษิณ

ตอกย้ำข่าวลือเรื่องรอยร้าวที่สนั่นทำเนียบรัฐบาล เรื่องทักษิณเริ่มไม่วางใจสมคิด ที่เริ่มก่อต้วในช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ 2

บทบาท “สมคิด” หลังหมดยุคทักษิณ 2

หลังรัฐประหาร 2549 สมคิดยังมีบทบาทในทางการเมือง ส่วนทักษิณต้องบินไปอยู่ต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน โดยในวันที่ 14 ก.พ. 2550 ด้วยความเป็นมือดีทางเศรษฐกิจ จึงได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” ให้เป็นผู้ทำความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับต่างชาติ โดยเฉพาะกับญี่ปุ่น แต่หลังดำรงตำแหน่งได้ไม่กี่วัน “สมคิด” ก็ประกาศลาออก เนื่องจากแรงกดดันจากหลายฝ่าย และต่อมาเขาเลือกไปเปิดตัวในฐานะที่ปรึกษาพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา (รช.) ที่มี “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” อดีตรองหัวหน้า ทรท. และ “ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์” อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นแกนหลัก เพื่อลงสู่สนามเลือกตั้งปี 2550 แต่ รช.ก็ไปไม่ถึงฝัน เมื่อได้ ส.ส.เข้าสภาผู้แทนราษฎรได้เพียง 9 เก้าอี้ เขาจึงถอยฉากจากการเมืองไปพักใหญ่

...

ชีวิตของ “สมคิด” ดูเหมือนจะถูกโฉลกกับการรัฐประหาร เพราะเมื่อเกิดรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำนั้น “สมคิด” กลับมามีชื่อเป็น “คณะบุคคลที่มีอำนาจสูงสุด” ของประเทศ โดยเป็น 1 ใน 15 สมาชิก คสช. ทำหน้าที่ดูแลด้านเศรษฐกิจให้กับ คสช. โดยมี “มีชัย ฤชุพันธุ์” ก็เป็นอีกหนึ่งสมาชิกที่ทำหน้าที่ในเรื่องกฎหมาย และมีนายทหารอีก 13 นาย

ในเดือน ส.ค. 2558 “สมคิด” ก็กลับมาโลดแล่นในตำแหน่งผู้บริหารประเทศอีก เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ปรับ ครม.ประยุทธ์ 1/3 ดึง “สมคิด” เข้ามาเสียบแทน “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” ในเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ หลังจากนั้นเขาก็กลายเป็นหัวหอกหลักในการเข็นวาระ "ประชารัฐ" ของรัฐบาล ก่อนกลายเป็นชุดนโยบายมารดาประชารัฐของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2561 เพื่อเลือกตั้งปี 2562

สมคิด พล.อ.ประวิตร และพล.อ.ประยุทธ์ ในห้อง​ประชุม​สภาฯ เมื่อ​วัน​ที่ 26 ก.ค. 2562 ณ รัฐสภา​ชั่วคราว ทีโอที
สมคิด พล.อ.ประวิตร และพล.อ.ประยุทธ์ ในห้อง​ประชุม​สภาฯ เมื่อ​วัน​ที่ 26 ก.ค. 2562 ณ รัฐสภา​ชั่วคราว ทีโอที

...

ช่วงนั้นพรรค พปชร.ก่อตั้งขึ้นมาหวังสานต่อเก้าอี้ “พล.อ.ประยุทธ์” ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย โดยมี 4 นักการเมืองคนสนิทของ “สมคิด” ที่ถูกเรียกว่ากลุ่ม “สี่กุมาร” เป็นผู้บริหารพรรค ทั้ง “อุตตม สาวนายน” เป็นหัวหน้าพรรค “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เป็นเลขาธิการพรรค “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รองหัวหน้าพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็น​ประธานเปิดการประชุมประจำปี 2562 ของสศช. เรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่​อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัด​นนทบุรี  โดยมีสมคิด และอนุทิน ร่วมงานด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็น​ประธานเปิดการประชุมประจำปี 2562 ของสศช. เรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่​อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัด​นนทบุรี โดยมีสมคิด และอนุทิน ร่วมงานด้วย

...

หลังเลือกตั้ง 2562 พรรค พปชร.ก็ช่วงชิงเสียงในสภาจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และส่ง “พล.อ.ประยุทธ์” ครองตำแหน่งผู้นำได้อีกสมัย ทำให้ “สมคิด” และสี่กุมาร ได้เก้าอี้รัฐมนตรีสมนาคุณ แต่ดูเหมือน “น้ำผึ้งพระจันทร์” อยู่ได้ไม่นาน เพราะเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2563 กลุ่ม 4 กุมารก็ถูกบีบให้ระเห็จออกจากพรรค พปชร. และเก้าอี้รัฐมนตรี ซึ่งรวมถึง “ป๋าดันสมคิด” ก็ออกตามมาติดๆ

ถึงเวลาเปิดตัวชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

หลังจากนั้น 4 กุมารก็เริ่มห่างหายไปจากสนามการเมือง โดยไปใช้ชีวิตในสายงานที่แต่ละคนถนัด แต่ดูเหมือน “อุตตม-สนธิรัตน์” ยังคงติดใจในกลิ่นการเมือง เพราะได้หวนคืนสู่แวดวงการการเมืองตั้งแต่ปลายปี 2564 และมาเปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง 19 ม.ค. 2565 ในฐานะหัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรคใหม่ที่ชื่อ “สร้างอนาคตไทย”

แล้วชื่อของ “สมคิด” ก็กลับมาอีกครั้ง เมื่อพรรคสร้างอนาคตไทยได้เปิดตัวอาจารย์สมคิด เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ในฐานะประธานพรรคสร้างอนาคตไทย รวมทั้งยังเป็นแคนดิเดตในบัญชีรายชื่อของพรรคในการชิงนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในวัย 70 ปีด้วย (สมคิด เกิดเมื่อวันพุธ 15 กรกฎาคม 2496)

แม้ชีวิตในสนามการเมืองของเขาจะอยู่มานานกว่า 25 ปี นับตั้งแต่ปี 2540 เคยร่วมงานหลายพรรคการเมือง และเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของ 2 นายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้งและการรัฐประหาร แต่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพียง 2 พรรคคือ พรรคไทยรักไทย ที่เขาร่วมก่อตั้ง และล่าสุดคือพรรคสร้างอนาคตไทย ที่เขาเป็นประธานเท่านั้น

พรรคสร้างอนาคตไทยเปิดตัว สมคิด เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2565 ในฐานะประธานพรรคสร้างอนาคตไทย
พรรคสร้างอนาคตไทยเปิดตัว สมคิด เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2565 ในฐานะประธานพรรคสร้างอนาคตไทย

ขวากหนามก้าวสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30

“สมคิด” จะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี อย่างที่ตัวเขามีความเชื่อว่าตำแหน่งนี้ต้องอยู่ที่ “ฟ้าลิขิต” ด้วยหรือไม่นั้น ต้องติดตาม เพราะลำพังแรงบันดาลใจอย่างเดียวไม่เพียงพอ และที่แน่ๆ คือพรรคที่สนับสนุนต้องสามารถกวาดที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ 25 เสียงขึ้นไป

เพราะในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 นั้น หมวด 8 คณะรัฐมนตรี มาตรา 159 กำหนดไว้ว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคล ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

หรือพูดง่ายๆ คือต้องมีเสียง 25 เสียงก่อนถึงเสนอชื่อเข้าชิงได้ และยิ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ขณะนี้อยู่ในชั้นการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้กลับไปใช้การหาร 100 แทนในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็หมายความว่า พรรคเล็กหรือพรรคเกิดใหม่แทบจะหมดโอกาสในคว้าเก้าอี้ผู้แทนราษฎรเลยก็ว่าได้

เงื่อนไขนี้พรรคสร้างอนาคตไทย และสมคิดเองก็รู้ซึ้งดี ช่วงนี้จึงได้ยินเสียงกระหึ่มถึงการจับมือและควบรวมพรรคสร้างอนาคตไทยและพรรคไทยสร้างไทยของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพราะทั้ง “สมคิด” และ “สุดารัตน์” ก็ไม่ใช่คนห่างไกลกัน เพราะเคยอยู่ในกลุ่ม 8 ส. บวกกับ ส. พิเศษในยุคพรรคไทยรักไทยที่มีทั้ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมศักดิ์ เทพสุทิน สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล สุวิทย์ คุณกิตติ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ สุรนันท์ เวชาชีวะ สนธยา คุณปลื้ม สรอรรถ กลิ่นประทุม และ ส.พิเศษ คือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มาแล้ว

ส่องเรื่องครอบครัวและฐานะ บัญชีทรัพย์สิน

สำหรับชีวิตส่วนตัวของ “เฮียกวง” ระหว่างเรียนปริญญาเอก พบรักกับ “อนุรัชนี ภิงคารวัฒน์” และแต่งงานในปี 2550 มีบุตรชายก่อนเข้าสู่วงการการเมือง 2 คน คือ “ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์” ชื่อเล่น ลูกคิด และ “ณพล จาตุศรีพิทักษ์” ชื่อเล่น ลูกเต๋า และเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นขุนคลัง “สมคิด” มีบุตรชายคนสุดท้อง เป็นคนที่ 3 ชื่อ “ณฉัตร จาตุศรีพิทักษ์” หรือ ลูกคลัง

ลูกชายทั้ง 2 คน สมรสแล้ว ในช่วงหลังจากที่ “สมคิด” พ้นจากนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และปัจจุบันมีหลานชาย 3 คน ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาเคยระบุไว้ในการลาออกจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ว่าต้องการไปเลี้ยงหลานๆ

สำหรับฐานะ บัญชีทรัพย์สินของของนายสมคิดนั้น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของเขา เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 หลังพ้นตำแหน่งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2/1

โดยกรณีพ้นตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2563 มีทรัพย์สิน 43,560,716 บาท ได้แก่ เงินสด 3.2 แสนบาท เงินฝาก 10,792,398 บาท เงินลงทุน 9,801,774 บาท ที่ดิน 9,694,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 11,152,544 บาท ยานพาหนะ 1.3 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป) 5 แสนบาท ไม่มีหนี้สิน

แจ้งรายได้ระหว่างดำรงตำแหน่ง 2,065,258 บาท เป็นเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง 1,439,040 บาท ดอกเบี้ยและรับผลประโยชน์ 53,961 บาท เงินปันผล 4.8 แสนบาท เบี้ยประชุม 92,257 บาท มีรายจ่ายรวม 1,152,500 บาท ค่าเดินทางและท่องเที่ยว 1.7 แสนบาท ค่าการกุศล 212,500 บาท และลงทุนสลากออมสิน 5 หมื่นบาท

ส่วน นางอนุรัชนี จาตุศรีพิทักษ์ คู่สมรสมีทรัพย์สิน 92,938,712 บาท ได้แก่ เงินสด 2 แสนบาท เงินฝาก 24,912,992 บาท เงินลงทุน 1,746,950 บาท ที่ดิน 31,528,350 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 30,265,200 บาท ยานพาหนะ 8.5 แสนบาท สิทธิและสัมปทาน 2,735,220 บาท ทรัพย์สินอื่น 7 แสนบาท ไม่มีหนี้สิน มีรายได้ระหว่างดำรงตำแหน่ง 243,940 บาท เป็นดอกเบี้ยและผลประโยชน์ 124,565 บาท เงินปันผล 119,375 บาท มีรายจ่ายรวม 1,692,500 บาท เป็นค่าเดินทางและท่องเที่ยว 1.3 แสนบาท ค่าใช้จ่ายในบ้านอื่นๆ 7.2 แสนบาท ค่าการกุศล 2,500 บาท

ขณะที่บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมีทรัพย์สิน 12,866,820 บาท ได้แก่ เงินฝาก 1,120,820 บาท ที่ดิน 9,546,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 1 แสนบาท สิทธิและสัมปทาน 2.1 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน มีรายได้รวม 5,604 บาท เป็นดอกเบี้ยและผลประโยชน์ รวมทั้งหมดมีทรัพย์สินทั้งสิ้น 149,366,248 บาท ไม่มีหนี้สิน

เปรียบเทียบแล้ว มีทรัพย์สินรวมมากกว่าก่อนรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2558 เล็กน้อย คือช่วงนั้นมีทรัพย์สินทั้งสิ้น 146,916,928 บาท ไม่มีหนี้สิน โดยเป็นของนายสมคิด 56,944,641 บาท นางอนุรัชนี 78,579,988 บาท บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 11,392,299 บาท