โดยคำศัพท์ Frugality แปลว่า ความประหยัด แต่ในเทรนด์ของการใช้ชีวิตสำหรับคนยุคใหม่มนุษย์ Frugal คือ การเปลี่ยนวิธีคิด และวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ของคนในยุค Next Normal หลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง

หลังการออกมาเปิดเผยตัวเลขคนตกงานทั่วโลกของ กาย ไรเดอร์ (Guy Ryder) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ว่า ตัวเลขคนตกงานทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นถึง 205 ล้านคนภายในปี ค.ศ.2022 จากเดิมในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่ตัวเลขคนตกงานทั่วโลกอยู่ที่ 187 ล้านคน และสถานการณ์การว่างงานในประเทศรายได้สูงมีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศรายได้ต่ำ และนอกจากตัวเลขคนว่างงานจะสูงขึ้นเรื่อยๆแล้ว วัฒนธรรมการทำงานก็กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย

Frugality เทรนด์การทำงานใหม่กำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ที่คนรุ่นใหม่เริ่มมีวลีติดปากว่า งานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต และการทุ่มเททำงานหนักไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

ในยุโรปหลายประเทศ โดยเฉพาะสวิตเซอร์แลนด์ คนส่วนใหญ่เลือกที่จะลดชั่วโมงการทำงานลง และยอมได้รับเงินเดือนที่น้อยลงแลกกับการมีเวลาชีวิตส่วนตัวที่มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ แม้จะต้องแลกกับการยอมใช้จ่ายน้อยลง ใช้ชีวิตประหยัดขึ้น และทิ้งกิจกรรมที่ไม่จำเป็น อย่างการกินบุฟเฟต์ทุกวันศุกร์หลังเลิกงาน การซื้อเสื้อผ้าใหม่บ่อยๆก็ตาม

...

เว็บไซต์บลูมเบิร์ก (Bloomberg) อธิบายถึง Frugality ว่า เป็นเทรนด์ที่มีต้นตอต่อมาจากปรากฏการณ์ The Great Resignation ที่มาจากการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งมีผลต่อทัศนคติการทำงานของผู้คน ความเหนื่อยหน่าย ภาวะหมดไฟ ที่ทำให้ผู้คนเริ่มมองหา Work-Life Balance หรือการทำงานควบคู่ไปกับชีวิตที่ดีมากขึ้น

ผลการศึกษาหนึ่งของเฟล็กซ์จ็อบส์ (FlexJobs) เว็บไซต์หางานชื่อดังระบุว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า เกือบ 2 ใน 3 บอกว่ายอมลดค่าจ้างเพื่อปรับปรุง Work-Life Balance ซึ่งสอดคล้องกับประธานบริหารของซาโนฟี่ (Sanofi) ที่พูดถึงเรื่องนี้ในบทความเรื่อง ‘Gen Zisn’t looking for a ‘dream job. Here’s what they want instead’ บนเว็บไซต์ฟอร์บส์ (Forbes) ว่า ทุกวันนี้ คน Gen Z ไม่ได้มองหางานในฝันอีกต่อไป แต่เริ่มให้คุณค่ากับ Work-Life Balance ตั้งคำถามถึงสถานะ และมองหาสิ่งเติมเต็มกับคุณค่าในตัวเองกัน

มารี เครสปิน (Marie Crespin) มนุษย์ออฟฟิศสาวชาวฝรั่งเศสวัย 31 ปี เล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ตรงของการลาออกจากงานด้านทรัพยากรบุคคลว่า สมัยก่อนตนเคยได้เงินเดือน 2,300 ยูโร แต่ตลอดเวลาที่ทำงานนี้กลับรู้สึกเครียดมาก เธอตัดสินใจเปลี่ยนไปทำงานด้านการออกแบบเว็บไซต์แทน โดยยอมที่จะลดเงินเดือนลงไปอยู่ที่ 1,600 ยูโร แลกกับการทำงานที่น้อยลง จาก 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็น 20-25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเธอบอกว่า “งานไม่ควรเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต การมีอิสระในสิ่งที่ทำคือความหรูหราที่แท้จริงต่างหาก”

เซลีน มาร์ตี (Celine Marty) นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์แห่งประเทศฝรั่งเศส (French University Sciences) และผู้เขียนหนังสือ Working Less to Live Better บอกว่า “การระบาดครั้งใหญ่ทำให้หลายๆคนตระหนักว่า งานไม่ใช่ทุกอย่าง และไม่ใช่ทั้งหมด บางคนสามารถใช้เงินน้อยลง จ่ายน้อยลง และไม่จำเป็นต้องทำงานหนักเพื่อสนุกกับชีวิตสะดวกสบายเสมอไปก็ได้

จากเทรนด์ในระดับบุคคล ส่งผลให้เกิดโดมิโน เอฟเฟกต์ กระจายไปทั่วโลก หลายองค์กรเริ่มให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance ที่มองความสุขด้านชีวิตส่วนตัวและไลฟ์สไตล์ของพนักงานมากขึ้น เกิดเป็นเทรนด์ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ มีการผลักดันโครงการโดยโจ ไรล์ (Joe Ryle) ผู้สนับสนุนแคมเปญทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยเขียนจดหมายถึงผู้นำระดับโลกหลายประเทศ ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ว่า นอกจากจะลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสแล้ว ยังสามารถแบ่งงานบางส่วนให้คนว่างงานได้อีกด้วย ซึ่ง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายๆประเทศเริ่มตอบรับและทดลองการลดวันทำงานให้เหลือสัปดาห์ละ 4 วัน

เช่น อังกฤษ ขับเคลื่อนแคมเปญ 4 Day Week ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ Platform London องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ในการศึกษาผลกระทบเชิงบวกของการลดเวลาทำงานที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ว่ามีผลดีหรือผลเสียอย่างไร และเมื่อต้นปีที่ผ่านมามีการทดลองให้ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ หรือ 35 ชั่วโมง โดยได้รับค่าแรงเท่าเดิม

สเปน ลดวันทำงานให้เหลือเพียง 4 วัน หรือ 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 3 ปี โดยร่วมกับบริษัทต่างๆที่สนใจ ตั้งแต่ปี 2021 โดยรัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนสำหรับโครงการนี้ 50 ล้านยูโร หรือประมาณ 1.7 พันล้านบาท

...

ญี่ปุ่น ลดวันทำงานเหลือ 4 วันเช่นกัน แลกกับเงื่อนไขลดจำนวนเงินเดือนลง เนื่องจากคนญี่ปุ่นนั้นบ้างานหนักมาก แต่ก่อนเกิดเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 มีข่าวว่าบริษัท ไมโครซอฟต์ ประเทศญี่ปุ่น เคยทดลองให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยให้พนักงานหยุดทำงานวันศุกร์เป็นเวลา 1 เดือน แต่ได้เงินเท่าเดิม ผลปรากฏว่าพนักงานมีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น

และยังมีอีกหลายประเทศที่สนับสนุนนโยบายการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เช่น ไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ เยอรมนี ที่แต่เดิมคือประเทศที่มีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ต่ำสุดในยุโรป เพียงแค่ 34.2 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ เฉลี่ยวันละไม่ถึง 7 ชั่วโมง แต่สหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนีก็มีการเรียกร้องให้รัฐบาลลดวันทำงานลงเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ ล่าสุดรัฐบาลสกอตแลนด์อนุมัติงบประมาณกว่า 10 ล้านปอนด์ หรือราว 445 ล้านบาท ร่วมกับบริษัทต่างๆ สนับสนุนให้ทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่ลดเงินเดือน

หรือจะถึงเวลาแล้วที่ “ความสุข” ซึ่งหาได้ยาก กำลังเปิดเผยตัวตนเพื่อให้ผู้คนที่หลงใหลกับเงินตราและวัตถุนิยมมานาน ได้หันมาค้นหา ความสุขภายในและความสัมพันธ์ที่เปี่ยมไปด้วยความงดงามมากขึ้น.

...