อย่าไปคิดมาก...อย่าไปแก้วงเยอะ และขยันซ้อม!! นี่คือสุดยอดเคล็ดวิชาของ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” เจ้าของอาณาจักร “กัลฟ์” ผู้นำอุตสาหกรรมพลังงานของเอเชีย ที่ใช้ได้ดีทั้งกับชีวิตการทำงานและการตีกอล์ฟ พอถามจริงไหมคุยความลับต้องไปคุยในสนามกอล์ฟ ก็ได้คำตอบว่า “ไม่มีๆ ถ้างั้นเล่นไม่ได้เลย ผมว่าความสุขจากการตีกอล์ฟทำให้ได้เพื่อนได้คุยสนุกสนานเฮฮา ไม่ได้มีความลับอะไรต้องคุยหรอก แต่นัดคนไว้แล้วต้องมา ไม่งั้นเดี๋ยวเขาว่าเอา”

นอกจากจะทุ่มเทปลุกปั้นอาณาจักรธุรกิจหลายแสนล้าน หนึ่งในความฝันของ “คุณกลาง” คือการสร้างสนามกอล์ฟมาตรฐานโลก ที่มีความพร้อมในการจัดการแข่งขันกีฬากอล์ฟระดับนานาชาติ เพื่อยกระดับวงการกีฬาและการท่องเที่ยวไทย สร้างความภูมิใจให้คนไทยทั้งชาติ หลังใช้เวลาก่อสร้างอยู่นานถึง 5 ปี โดยมอบหมายให้ลูกชายคนโต “สาริศ รัตนาวะดี” เป็นหัวเรือใหญ่ดูแลทั้งหมด ในที่สุดก็ได้ฤกษ์ดีเปิดสนามกอล์ฟในฝัน “สโตนฮิลล์” (Stonehill) ด้วยมาตรฐาน 18 หลุม บนพื้นที่กว่า 950 ไร่ บริเวณตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ประเดิมสนามด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ใหญ่ระดับโลก “LIV GOLF INVITATIONAL BANGKOK” วันที่ 7-9 ตุลาคม 2565 ชิงเงินรางวัลรวม 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 900 ล้านบาท งานนี้เจ้าของอาณาจักร “กัลฟ์” พาชมสนามกอล์ฟด้วยตัวเอง พร้อมเปิดใจให้สัมภาษณ์แบบลึกแต่ไม่ลับ!!

...

“ผมอยากทำสนามกอล์ฟดีๆ มาตรฐานโลกมานานแล้ว เวลาไปต่างประเทศจะเห็นว่ามีสนามกอล์ฟดีๆค่อนข้างเยอะ มันเหมือนสถานที่ท่องเที่ยวอย่างหนึ่ง และเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ ก็ตั้งใจทำสนามกอล์ฟแห่งนี้ให้มีคุณภาพ เป็นสนามกอล์ฟที่สามารถจัดการแข่งขันระดับโลกได้ และพยายามเลือกที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ตอนผมซื้อที่ดินแปลงนี้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ยังเป็นทุ่งนาโล่งๆ ไม่มีอะไร ก็หาที่ดินอยู่หลายแปลง ไปดูแถวบางนา–ตราด มีแต่โรงงานอุตสาหกรรม และแถบนั้นมีสนามกอล์ฟเยอะแล้ว ความรู้สึกจากการตีกอล์ฟกับธรรมชาติก็จะไม่มี ปัญหาที่ตามมาคือแถวบางนา–ตราด ไม่ค่อยมีน้ำ ถ้าใช้น้ำจากบางปะกงเป็นน้ำกร่อย ทำให้บริหารจัดการยาก จึงตัดทิ้งไป พอไปดูคลอง 6 แถวนั้นรถติดไม่มีทางด่วนไปลง ก็เลยเลือกปทุมธานีเพราะมีทางด่วนถึงเลย และรถไม่ค่อยติด ที่สำคัญคือสนามนี้ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยามาก คุณภาพของน้ำในสนามกอล์ฟจะดีมาก สนามกอล์ฟดีๆสร้างได้ครั้งเดียวจบแล้วจบเลย จึงเลือกเฟ้นนักออกแบบสนามกอล์ฟอยู่หลายคน มาลงตัวที่ “ไคล์ ฟิลลิปส์” และ “ทิโมตี้ สแลทเทอรี่” เพื่อสร้างสโตนฮิลล์ให้เป็นจุดหมายระดับโลก ถามว่าสโตนฮิลล์มีความพร้อมแค่ไหน ถือว่าสมบูรณ์ครับ จะให้แข่งพรุ่งนี้ก็ได้เลย”

งานยุ่งขนาดนี้ แบ่งเวลามาเล่นกอล์ฟตอนไหนคะ

เดี๋ยวนี้มีมือถือมีอะไรก็ใช้ได้หมดได้ทุกที่ เสาร์อาทิตย์มีเวลามาเล่นกอล์ฟได้ ส่วนมากจะตีกอล์ฟกับเพื่อนด้วยกัน หรือไม่ก็ตีกับลูก ปกติผมตื่นตีห้าและมาออกรอบ 6 โมงครึ่ง เดี๋ยวมันร้อนครับ

จริงไหมคุยความลับต้องไปคุยในสนามกอล์ฟ ปกติเอางานไปทำในสนามไหม

ไม่มีๆ ถ้างั้นเล่นไม่ได้เลย ผมว่าความสุขจากการตีกอล์ฟทำให้ได้เพื่อนได้คุยสนุกสนานเฮฮา ไม่ได้มีความลับอะไรต้องคุยหรอก แต่นัดคนไว้แล้วต้องมา ไม่งั้นเดี๋ยวเขาว่าเอา

เคล็ดลับการตีกอล์ฟเหมือนเคล็ดลับการทำธุรกิจไหม

อย่าไปคิดมาก...อย่าไปแก้วงเยอะ และขยันซ้อม แต่กอล์ฟน่าจะสนุกกว่าการทำงานนะ (ยิ้ม)

ประสบการณ์ตีกอล์ฟครั้งแรกน่าประทับใจแค่ไหน

ผมเริ่มตีกอล์ฟตอนอายุ 20 กว่าๆ กีฬาที่นับหนึ่งก็ยากหมดทุกชนิดนะครับ ตอนนั้นรู้สึกว่าจะไปรอดไหมเนี่ย แต่ก็ตีมาจนถึงวันนี้

แนะนำมือใหม่ที่อยากเล่นกอล์ฟหน่อยค่ะ

ต้องมีใจอยากเล่น เพราะกอล์ฟเป็นกีฬาที่เล่นยากและซัฟเฟอร์ครับ มันต้องอดทนสูง

นอกจากกอล์ฟแล้ว ทราบว่าชอบฟุตบอลด้วย มีทีมในดวงใจไหม

ดูจากอายุได้นะ ถ้า 40 ก็ต้องแมนฯยู แต่ถ้า 50 กว่าอย่างผม เชียร์ลิเวอร์พูลครับ

อีกไม่กี่ปีก็ 60 แล้ว ทำยังไงให้ฟิตทั้งกายใจ

ก็ใช้ชีวิตปกติ อย่าไปเครียดมาก ซึ่งผมก็ไม่เครียดอยู่แล้ว วันหนึ่งนอน 4-5 ชั่วโมง เป็นคนตื่นเช้า

...

ขอคาถาเอาตัวรอดในยุคโควิดปะทะสงครามรัสเซีย–ยูเครน

ผมเชื่อว่าเดี๋ยวมันจะปรับสมดุลตัวมันเอง หาจุดที่ลงตัวได้ เพราะโลกคือโลกของดีมานด์ซัพพลาย ไม่สามารถเอียงไปทางหนึ่งทางใดได้ ดอกเบี้ยเคยต่ำก็ดอกเบี้ยขึ้น พลังงานต่ำแล้วสูงเดี๋ยวก็ลงมา อย่างช่วงโควิดราคาพลังงานต่ำมาก ก๊าซแค่ 2 เหรียญ เจอวิกฤติได้เดี๋ยวมันก็ผ่านพ้นไปได้ครับ ในโลกเรามีวิกฤติหลายครั้ง พอวิกฤติกลับมาเราก็ต้องพยายามเซอร์ไวฟ์ให้ได้ แล้วมันก็จะผ่านพ้นไปและกลับมาสู่ปกติ ไม่สามารถมีวิกฤติฟอร์เอเวอร์ได้หรอก!! ดูอย่างการเมืองไทยผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง และเดี๋ยวมันก็ผ่านพ้นไปได้ แต่โลกที่ดอกเบี้ยราคาถูกไม่มีแล้วครับ มันจบลงแล้ว เราต้องอยู่บนโลกที่ดอกเบี้ยราคาแพง ทุกคนต้องปรับตัวให้ได้

วิกฤติดอกเบี้ยจะบานปลายใหญ่โตไหม

ดอกเบี้ยเวลาขึ้นมากระทบหนี้ครัวเรือนและหนี้ชาวบ้านค่อนข้างสูง บริษัทใหญ่ๆคงมีเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยง แต่เอสเอ็มอีน่าเป็นห่วง เพราะต้นทุนสูงขึ้น เราจะไม่อยู่บนโลกของการมีดอกเบี้ยถูกๆอีกต่อไป อันนี้ก็หวังว่าถ้าดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นด้วย จะทำให้แก็ประหว่างเงินกู้ลดน้อยลง แต่ผมเชื่อว่ามันก็ต้องปรับตัวไป ไม่ใช่สถานการณ์ที่เรากำหนดได้ ทั้งเรื่องเงินเฟ้อในยุโรปและอเมริกาก็ตาม มันบังคับให้ทุกประเทศต้องขึ้นดอกเบี้ยหมด ถ้าเราไม่ขึ้นดอกเบี้ยก็จะมีปัญหาเหมือนปี 1997 ที่เราโดนโจมตีเงินบาท เราอยู่ในโลกที่ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด ก็ยังดีในช่วงโควิดที่รัฐบาลกู้เงินเยอะเพื่อช่วยประชาชน และทั้งหมดกู้เป็นเงินบาท ถ้ากู้เป็นดอลลาร์หนี้เราคงขึ้นมาเยอะ และอาจถูกโจมตีเงินบาทอีก ถือเป็นความรอบคอบของทีมเศรษฐกิจ

...

วิกฤติพลังงานโลกจะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน

ช่วงนี้อย่าไปอะไรเยอะมันช่วงวิกฤติครับ ถ้าอยากรู้ต้องฮอตไลน์คุยกับปูตินอย่างเดียว เขารบกันก็เรื่องของเขา มันเป็นความขัดแย้ง 2 ประเทศ คนที่ซัฟเฟอร์กว่าเราคือยุโรป เราแค่รับผลกระทบเรื่องค่าไฟอย่างเดียว มันหนักหน่อยเพราะสองอย่างที่โลกเจอพร้อมกันคือ วิกฤติดอกเบี้ย และวิกฤติพลังงาน เรื่องดอกเบี้ยยังจัดการได้ คือขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการเงินเฟ้อ แต่วิกฤติพลังงานจัดการยาก ต้องรอ 2-3 ปี จนกว่าซัพพลายจะเข้ามามากขึ้น พลังงานเป็นเรื่องของดีมานด์ซัพพลาย ถ้าซัพพลายมีมากขึ้น ผลิตถ่านหินและก๊าซมากขึ้น ก็ทำให้ราคาพลังงานลงมาเอง

...

ประเทศไทยควรบริหารจัดการต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นยังไง

ในต่างประเทศค่าไฟเพิ่มสูงขึ้น 6-7 เท่า ไม่มีประเทศไหนค่าไฟไม่ขึ้น อยากจะซื้อก๊าซซื้อน้ำมันราคาถูกเหมือนกัน แต่คงหาไม่ได้ครับ เพราะเป็นกลไกของโลก ก็คงต้องหาทางเลือกอื่นๆมาทดแทน แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นสถานการณ์ระยะสั้นแค่ 2 ปี เนื่องจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ถ้าเกิดสงครามจบ ทุกคนพยายามทำอะไรเยอะแยะ ไปๆมาๆเชื้อเพลิงจะล้นโลกหรือเปล่า ทุกคนพยายามหาทางเลือกใหม่ มันก็จะกลายเป็นปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก ในฝรั่งเศสเริ่มกลับมาใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่ หลายประเทศที่เลิกถ่านหินก็กลับมาใช้ถ่านหินใหม่ สภาวะที่บอกว่ากลัวเรื่องโลกร้อน จากที่เป็นอันดับหนึ่งก็กลายเป็นอันดับสองอันดับสาม เพราะอันดับแรกคือต้องมีไฟมีพลังงานใช้ก่อน ถึงเวลาคำว่าโลกสวยก็ไปอยู่หลังๆหน่อย ต้องเอาให้รอดก่อน อันที่สองคือต้องหาทางทำให้ต้นทุนพลังงานดีที่สุด และอันดับสามค่อยคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม อันนี้ถือเป็นการดิสรัปต์อย่างหนึ่งเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก

แล้วทำยังไงไม่ให้อาณาจักร “กัลฟ์” ถูกดิสรัปชัน

เรื่องดิสรัปชันเป็นเรื่องปกตินะครับ ก็ต้องดิสรัปต์ตัวเองบ้างอะไรบ้าง จะได้เห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปยังไง ผมเฉยๆนะครับก็ปล่อยมันไป คำว่าดิสรัปต์ที่จริงมันไม่ถูกหรอกครับ ผมว่าทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง สมัยก่อนกล้องใช้ฟิล์ม เดี๋ยวนี้ก็เป็นดิจิทัลหมดแล้ว

เมืองไทยอนาคตยังสดใสไหม

ผมว่าดีครับ เมืองไทยน่าอยู่นะครับ เรามีอะไรดีๆตั้งเยอะ รอหลังจาก 30 กันยาก่อน ดูว่าการเมืองเป็นยังไง รอศาลรัฐธรรมนูญตัดสินครับ เมืองไทยเราผ่านอะไรมาเยอะ มีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง แต่มันก็ไปได้ของมัน ถ้าการเมืองเราดีการเมืองเราแข็ง มันก็ทำให้ทุกอย่างไปได้ดีมากขึ้น

อะไรคือความสุขที่เงินซื้อไม่ได้สำหรับ “คุณกลาง”

ได้ตีกอล์ฟกินข้าวคุยกับเพื่อน ผมกินอะไรก็อร่อยครับ ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าก็อร่อย กล้วยแขกก็อร่อย คืออร่อยทุกอย่างครับ อาหารเมืองไทยมันเยอะ กินอะไรก็อร่อย หรืออย่างมาทำสนามกอล์ฟสโตนฮิลล์ก็เป็นสิ่งที่ดีได้ทำให้สังคม ผมเป็นคนชอบกีฬา โดยเฉพาะกีฬากอล์ฟ คิดว่าถ้ามีโอกาสได้สร้างสนามกอล์ฟดีๆในเมืองไทย ทำให้เป็นระดับชั้นนำ หรืออันดับต้นๆในเอเชียได้ มันก็เป็นสิ่งที่ดีกับวงการกอล์ฟและการท่องเที่ยวของไทย เพราะสนามกอล์ฟก็เป็นแม่เหล็ก เวลาคนมาเที่ยวเมืองไทยคงอยากเล่นกอล์ฟด้วย ถ้าสามารถจัดการแข่งขันกีฬากอล์ฟระดับนานาชาติได้ มีทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆมาลง ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของเมืองไทยดีขึ้น.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ