วิกฤติโควิด-19 สร้างโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจมากมาย หนึ่งในนั้นคือการแจ้งเกิดของธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งคาดว่า
จะมีมูลค่าตลาดทั่วโลกรวมกันสูงถึง 6.9 ล้านล้านบาท ภายในปี 2026
...
ผลจากการกักตัวอยู่บ้านนานๆในช่วงโควิด ทำให้ชาวโลกมองหากิจกรรมคลายเครียด จนปลุกกระแสให้เกิดปรากฏการณ์ “Pet Humanization” ระบาดไปทั่วเมือง เมื่อเจ้าของหันมาประคบประหงมเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงของตัวเองเสมือนลูกและสมาชิกในครอบครัว แม้แต่คนโสดก็แก้เหงาด้วยการเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวเลี้ยงนก
จากข้อมูลของ “สมาคมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงแห่งอเมริกา” (American Pet Pro ducts Association) บ่งชี้ว่า ในปี 2021 สัดส่วนครอบครัวชาวมะกันที่มีสัตว์เลี้ยงในบ้าน เพิ่มขึ้นจาก 67% เป็น 70% ขณะที่ผลสำรวจของ “มอร์แกน สแตนลีย์ รีเสิร์ช” ระบุว่า เกือบ 70% ของผู้เลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงของตัวเองเสมือนสมาชิกในครอบครัว, 66% มีความรักความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงมาก, 47% เลี้ยงน้องหมาน้องแมวเสมือนลูก และ 37% พร้อมประเคนทุกอย่างให้สัตว์เลี้ยงในดวงใจ รวมถึงควักกระเป๋าซื้อสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อให้น้องหมาน้องแมวมีความสุขที่สุด โดยหนึ่งในค่าใช้จ่ายดูดเงินคือ ค่าอาหารและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพทั้งหลาย
...
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก จึงได้อานิสงส์เต็มๆจากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย ในปี 2022 จะแตะระดับ 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตราว 20% แม้จะชะลอตัวเล็กน้อยจากปี 2021 ที่คาดว่าจะโต 23% แต่ประเทศไทยก็จ่อขึ้นแท่นเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 3 ของโลก อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ในต่างประเทศที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งปริมาณการเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และพฤติกรรม “Pet Humanization” ที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงพร้อมจ่ายเงินเพื่อซื้ออาหารคุณภาพสูง นอกจากนี้ เมืองไทยยังมีความได้เปรียบด้านภาษีจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงสำคัญบางประเทศ เช่น อาเซียน และญี่ปุ่น
...
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการแข่งขันรุนแรงจากเวียดนาม ที่เริ่มมีบทบาทในตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ผู้ส่งออกไทยจำเป็นต้องสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองมากขึ้น โดยเน้นที่กลุ่มอาหารสัตว์พรีเมียม จากปัจจุบันผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงในไทยกว่า 80% รับจ้างผลิต (OEM) ให้แบรนด์ชั้นนำของเยอรมนี, สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ซึ่งครองตลาดโลก ขณะที่ผลิตภายใต้แบรนด์ไทยแค่ 20%
...
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเสนอแนะว่า ผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงในไทยยังต้องปรับตัวเพื่อยกระดับมาตรฐานการส่งออกให้สอดคล้องกับมาตรฐานการผลิตสากล ซึ่งคำนึงถึงห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการปล่อยคาร์บอน (CO2) และมีการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ นอกจากนี้ ควรเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการพัฒนาสูตรอาหารมุ่งเน้นสุขภาพอนามัยของสัตว์เลี้ยง เนื่องจากสัตว์เลี้ยงยุคใหม่มีแนวโน้มอายุยืนขึ้น จึงมีปัญหาสุขภาพตามมาสารพัด ใครทำให้น้องหมาน้องแมวแข็งแรงแฮปปี้ได้...คนนั้นคือผู้ชนะ!!