สิงคโปร์ กำลังจะเป็นประเทศแรกในโลก ที่ประกาศสงครามกับโรคเบาหวาน ด้วยการเตรียมออกมาตรการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ภายในอีก 4 ปีข้างหน้า
เอ็ดวิน ตง (Edwin Tong) รมต.สาธารณสุขอาวุโสของสิงคโปร์ บอกว่า ใจความสำคัญของประกาศกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ คือ ในอนาคตอันใกล้นี้ ‘เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง’ จะถูก “ห้ามไม่ให้โฆษณา” ในสื่อที่เป็น Mass Media ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณา รวมถึงช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย
“ประกาศนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอิทธิพลของโฆษณาเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงซึ่งมีผลต่อความต้องการของผู้บริโภค” เอ็ดวิน ย้ำ พร้อมกับบอกว่า ได้ระบุวัตถุประสงค์ดังกล่าวไว้ในประกาศเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการดำเนินการของสิงคโปร์ครั้งนี้ ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกมาตรการที่เข้มงวดดังกล่าว ซึ่งดูเหมือนจะล้ำหน้ากว่าเม็กซิโก สหราชอาณาจักร และ แคนาดาที่เคยมีประกาศในลักษณะเดียวกันในการจำกัดโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีแคลอรีสูงในสื่อต่างๆ แต่ยังอนุญาตให้ออกอากาศทางโทรทัศน์ได้
...
รมต.สาธารณสุขอาวุโสของสิงคโปร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ขอเรียกร้องให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล (sugar-sweetened beverages : SSBs) พิจารณาปรับโครงสร้างเครื่องดื่มที่มีปริมาณ น้ำตาลปานกลางถึงสูง จะต้องติดฉลากที่ด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ เพื่อส่งสัญญาณเตือน ว่า ‘ไม่ดีต่อสุขภาพ’ โดยแบ่งเป็นรหัสสีและแสดงเกรดเพื่อระบุว่าเครื่องดื่มนั้นมีสุขภาพดี ปานกลาง หรือไม่ดีต่อสุขภาพ
หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขแจ้งเรื่องประกาศดังกล่าว ต่อสาธารณชน ได้มีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ ว่า ประกาศดังกล่าวจะกระทบทันทีกับเครื่องดื่ม 2 ใน 3 ที่วางขายอยู่ในสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำพร้อมดื่ม และโยเกิร์ต ซึ่งทางสิงคโปร์ให้เหตุผลว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนมีทางเลือกมากขึ้น อย่างวิธีการติดฉลากบนบรรจุภัณฑ์ ได้มีการใช้แล้วใน 30 ประเทศทั่วโลก และประสบความสำเร็จด้วยดี ตัวอย่างเช่นในชิลี หลังการติดฉลาก พบว่า ยอดขายเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพลดลง 25% หลังจากผ่านไป 1 ปีครึ่ง และเหตุผลสำคัญที่สิงคโปร์ต้องออกมาเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง เป็นเพราะข้อมูลจากสหพันธ์เบาหวานนานาชาติระบุว่า ผู้ใหญ่ 13.7% ในสิงคโปร์เป็นโรคเบาหวาน และจำนวนคนสิงคโปร์ที่อายุ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มเป็นสองเท่าในอีก 10 ปีข้างหน้า
เอ็ดวิน บอกว่า ประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและแนวโน้มของโรคเรื้อรังที่เพิ่มสูงขึ้น จะนำเราไปสู่ระบบที่ไม่ยั่งยืนและมีค่าใช้จ่ายสูง หากเราไม่เข้าไปแทรกแซง ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมการที่จะออกประกาศดังกล่าว อาห์เหม็ด เยเฮีย (Ahmed Yehia) ผู้จัดการ Coca-Cola ประจำสิงคโปร์และมาเลเซีย ได้ออกมาขานรับ โดยระบุว่า จะพยายามลดระดับน้ำตาลในเครื่องดื่มที่ขายในสิงคโปร์ สำหรับมาตรการดังกล่าวเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์อาจพิจารณาความเป็นไปได้ในการเก็บภาษีน้ำตาล หรือห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มบางชนิด โดยรายละเอียดที่ชัดเจนจะออกมาภายในปีหน้า
ก่อนหน้านี้ สหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation) ได้แสดงความกังวลของสถานการณ์โรคเบาหวานในโลก โดยคาดว่าประชากรวัยผู้ใหญ่จะเป็นเบาหวานกันเพิ่มขึ้นเป็น 700.1 ล้านคน หรือ 10.9% ของประชากรโลก ภายในปี 2588 จากเดิมในปี 2562 ที่พบว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานมากถึง 463 ล้านคน หรือประมาณ 9.3% ของประชากรโลกในช่วงอายุ 20-79 ปี และ หากประเมินตามรายภูมิภาคจะพบว่า ประชากรในอเมริกาเหนือและตะวันออกกลางเป็นโรคเบาหวานกันมากที่สุด ส่วนเอเชียใต้ถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของโรคเบาหวานพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะเทียบเท่ากับเอเชียตะวันตกและอเมริกาใต้ได้ทันภายในปี 2588
...
เบาหวาน ถือเป็นภัยเงียบของโลก ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากร 1 คน ในทุกๆ 8 วินาที...!!