เรามักจะได้ยินข่าวการเสียชีวิตกะทันหันในผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีและอายุยังน้อยอยู่บ่อยครั้ง ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าภาวะดังกล่าวเกิดจากอะไร และสามารถป้องกันได้หรือไม่
ภาวะเสียชีวิตกะทันหัน สาเหตุเกิดจากอะไร
ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่มีสุขภาพร่างกายภายนอกสมบูรณ์แข็งแรงดี อาจมีความผิดปกติของการทำงานภายในร่างกายซุกซ่อนอยู่ โดยเฉพาะการทำงานของอวัยวะที่ส่งผลต่อระบบสำคัญต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ภาวะเสียชีวิตกะทันหันได้ นอกจากนี้ยังเกิดได้กับคนทุกช่วงวัย ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุหรือวัยกลางคนเท่านั้น
“ภาวะเสียชีวิตกะทันหันในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงมาก่อน สามารถเป็นได้จากหลายสาเหตุ แต่ก่อนอื่นนั้นอาจต้องดูว่าผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติอะไร ในความเป็นจริงแล้วมีโรคประจำตัวอะไรซ่อนอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นอันตรายต่อหลายระบบสำคัญในร่างกาย เช่น ระบบหลอดเลือดหัวใจ และระบบประสาท เป็นต้น” พญ.วริษฐา เล่าสกุล แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลนวเวช กล่าว
โดยการเสียชีวิตเฉียบพลันนั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุของอวัยวะสำคัญของร่างกาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอายุ และปัจจัยทางสุขภาพของแต่ละคน เช่น
- หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Death)
- หลอดเลือดปอดอุดตันเฉียบพลัน (Pulmonary Embolism)
- หลอดเลือดสมองตีบ หรือ แตกเฉียบพลัน (Stroke)
สำหรับภาวะเสียชีวิตกะทันหันที่เกิดจาก ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden cardiac death) คือการที่หัวใจหยุดทำงานฉับพลัน ทำให้ไม่สามารถบีบเลือดให้ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ ทำให้สมอง และอวัยวะสำคัญจะเริ่มขาดเลือดและเสียชีวิตในที่สุด
...
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
- เส้นเลือดหัวใจตีบ (Ischemic Heart Disease) หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจ (Coronary Anomalies)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ การนำไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติไป เช่น การเต้นผิดจังหวะของหัวใจห้องล่าง (Ventricular Fibrillation, Ventricular Tachycardia)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (Low Ejection Fraction) หรือ กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ
- สาเหตุความผิดปกติอื่นที่เกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจพิการแต่กำเนิด การเกิดการบาดเจ็บหรือได้รับการกระแทกอย่างรุนแรงบริเวณหน้าอก (Commotio Cordis)
นอกจากนี้ ในขณะที่เราออกกำลังกาย หัวใจจะมีการสูบฉีดเลือดมากขึ้นกว่าปกติ อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นกว่าเดิม ความดันโลหิตเพิ่มสูงข้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิด “กล้ามเนื้อหัวใจหนา” ขึ้นบริเวณห้องล่างซ้ายและล่างขวา ซึ่งเป็นกลไกการปรับตัวของกล้ามเนื้อหัวใจเมื่อต้องทำงานหนักนั่นเอง
โดยพบว่า การออกกำลังกายแบบเวตเทรนนิ่งที่เน้นเพาะกล้ามเพียงอย่างเดียว สามารถเพิ่มโอกาสให้กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาขึ้นได้มากกว่าการออกกำลังกายประเภทอื่น ในขณะที่การปั่นจักรยานมาราธอนหนักๆ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขยายออกและหนาขึ้นในคราวเดียวกัน ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดและการทำงานของหัวใจ สาเหตุสำคัญของการเกิด “หัวใจวายเฉียบพลัน” ได้ ซึ่งการตรวจหัวใจ EKG และ Echo จะช่วยให้รู้ทันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาได้
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะเสียชีวิตกะทันหัน
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะเสียชีวิตกะทันหันมีหลายข้อด้วยกัน เช่น
- ภาวะไขมันในเลือดสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคไตเสื่อม
- การสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด
- ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวมีคนเสียชีวิตเฉียบพลันตั้งแต่อายุน้อย (อายุน้อยกว่า 55 ปี)
- การมีโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของหัวใจ
แนวทางการป้องกันภาวะเสียชีวิตกะทันหัน
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวไปข้างต้น
- คอยสังเกตอาการ หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น อาการเจ็บหน้าอก อาการวูบ หมดสติ หายใจเหนื่อย ใจสั่น หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติเกี่ยวกับโรคหัวใจ
- ตรวจสุขภาพเพื่อประเมินว่ามีความผิดปกติของโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่โดยในแต่ละบุคคลอาจมีแนวทางการตรวจรักษาที่ต่างกันไป เช่น ผู้ที่อายุต่ำกว่า 35 ปี ผู้ที่เป็นนักกีฬา และกลุ่มผู้สูงอายุ
...
ในปัจจุบันมีผู้ที่เสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันประมาณ 3 ล้านคนต่อปีจากทั่วโลก นอกจากการป้องกันและคอยตรวจดูความเสี่ยงแล้ว สิ่งสำคัญคือเราทุกคนควรเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลและการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น (Basic Life Support) ซึ่งมีส่วนสำคัญมากในการเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันซึ่งสามารถเกิดกับใครก็ได้
ภาวะเสียชีวิตกะทันหันในวัยชรา
นอกจากภาวะเสียชีวิตกะทันหันที่เกิดในวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และวัยกลางคน ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว เรามักจะพบเจอภาวะเสียชีวิตกะทันหันในกลุ่มวัยชราที่มีร่างกายแข็งแรงด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการหลับแล้วเสียชีวิตไปอย่างกะทันหัน หรือที่เรามักจะเรียกกันว่า “โรคไหลตาย” นั่นเอง
นพ.ราชรัฐ ปวีณพงศ์ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจ โรงพยาบาลวิมุต เผยว่าผู้สูงวัยที่จากไปอย่างกะทันหันเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจาก “โรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” รวมถึงอาการจากโรคหัวใจอื่นๆ ซึ่งการที่ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดีจากไปในลักษณะนี้อาจเป็นเพราะว่าที่ผ่านมาไม่เคยตรวจเจอโรคเหล่านี้แอบแฝงมาก่อน
ส่วนแนวทางการป้องกันสำหรับผู้สูงอายุที่อาจเกิดความเสี่ยงจากภาวะเสียชีวิตกะทันหันคือควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะการตรวจหัวใจ หากพบความผิดปกติจะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวก็ควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามการรักษาทุกครั้ง ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บที่กำลังเป็นอยู่
ขณะเดียวกัน ข้อมูลในทางนิติวิทยาศาสตร์เผยว่าสาเหตุของภาวะเสียชีวิตกะทันหันโดยไม่คาดคิดจากโรคธรรมชาติในกลุ่มคนทุกช่วงวัย ส่วนใหญ่แล้วมาจาก 3 กลุ่มโรค คือ โรคหัวใจ การตายจากโรคในโพรงกะโหลก และโรคทางเดินหายใจ ซึ่งแต่ละกลุ่มโรคก็มีอาการแตกต่างกันไป และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเสียชีวิตกะทันหันได้นั่นเอง
...
ข้อมูลอ้างอิง: ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร