ค่าไฟแพงขึ้นอยู่กับอะไร เป็นสิ่งที่คนไทยควรรู้ เพราะเราต่างต้องใช้ไฟฟ้าในที่อยู่อาศัย รวมถึงการเปิดกิจการร้านค้าที่ต้องจ่ายค่าไฟที่มีค่าอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เรื่องค่าไฟควรเป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรเข้าใจกันตั้งแต่เด็กๆ เพื่อการใช้ไฟฟ้าที่คุ้มค่า บทความนี้ไทยรัฐออนไลน์มีคำอธิบายเกี่ยวกับส่วนประกอบของค่าไฟในบิลที่เราจ่ายทุกๆ เดือน

ส่วนประกอบของค่าไฟ 2566

ลองหยิบบิลค่าไฟฟ้าขึ้นมาดู แล้วจะพบว่าแต่ละบรรทัดมีการชี้แจงว่าค่าบริการต่างๆ มีอะไรบ้าง โดยหลักๆ มีอยู่ 3 ส่วน คือ ค่าไฟฟ้าฐาน, ค่า FT และภาษีมูลค่าเพิ่ม

1. ค่าไฟฟ้าฐาน

ผู้ใช้ไฟฟ้าเมื่อไปขอมิเตอร์จะต้องแจ้งการติดตั้งมิเตอร์ตามการใช้งาน โดยแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

- บ้านอยู่อาศัย
- กิจการขนาดเล็ก
- กิจการขนาดใหญ่
- กิจการเฉพาะอย่าง
- องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
- สูบน้ำเพื่อการเกษตร
- ผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น คือ ค่าพลังงานไฟฟ้า, ค่าความต้องการพลังไฟฟ้า, ค่าบริการต่อเดือน และค่า PF

...

ผู้ขอมิเตอร์ทุกประเภทต้องจ่าย ค่าพลังงานไฟฟ้า และค่าบริการต่อเดือน ส่วนกิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ และกิจการเฉพาะอย่าง จะต้องจ่ายค่าความต้องการพลังไฟฟ้า และค่า PF

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร จะต้องจ่ายค่าความต้องการพลังไฟฟ้า ตามอัตราการใช้

2. ค่า FT

ค่า FT คือ ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง หรือค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ มีการปรับปรุงทุกๆ 4 เดือน

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%)

นอกจากการซื้อสินค้าตามห้างร้านที่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ค่าไฟก็เป็นอีกรายจ่ายที่ต้องเสีย VAT 7% เช่นกัน ลองสังเกตที่บิลค่าไฟดู

ค่าไฟหน่วยละกี่บาท

ยกตัวอย่างอัตราค่าไฟฟ้า “ประเภทที่อยู่อาศัย” ที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เป็นต้นมา ดังนี้

อัตราปกติปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน (ค่าบริการ 8.19 บาท)

  • 15 หน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) แรก (หน่วยที่ 1-15) หน่วยละ 2.3488 บาท
  • 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 16-25) หน่วยละ 2.9882 บาท
  • 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 26-35) หน่วยละ 3.2405 บาท
  • 65 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 36-100) หน่วยละ 3.6237 บาท
  • 50 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 101-150) หน่วยละ 3.7171 บาท
  • 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151-400) หน่วยละ 4.2218 บาท
  • เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 4.4217 บาท


อัตราปกติปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน (ค่าบริการ 38.22 บาท)

  • 150 หน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) แรก (หน่วยที่ 1-150) หน่วยละ 3.2484 บาท
  • 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151-400) หน่วยละ 4.2218 บาท
  • เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 4.4217 บาท

ค่าพลังงานไฟฟ้าประเภทมิเตอร์อื่นๆ

- การไฟฟ้านครหลวง คลิกที่นี่
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คลิกที่นี่

ค่าไฟแพงเกิดจากอะไร

อยู่ๆ ค่าไฟก็แพงขึ้น ถ้าใช้ไฟจำนวนหน่วยเท่าเดิม ก็แสดงว่าอาจมาจากการปรับเรียกเก็บค่า FT และค่าบริการอื่นๆ แต่หากแพงเกินกว่าเดือนก่อนอย่างมาก ควรสังเกต 2 อย่างต่อไปนี้

1. พฤติกรรมการใช้ไฟ

หากค่าไฟแพงขึ้น และมีหน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า เช่น ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ทำให้ต้องจ่ายค่าไฟมากขึ้น หรือเปิดเครื่องปรับอากาศเพราะอากาศร้อน ก็ต้องปรับพฤติกรรม กำหนดชั่วโมงการเปิดปิดเพื่อประหยัดค่าไฟ

...

2. เครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุด ไฟรั่ว

ลองสังเกตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟสูงอย่าง หม้อหุงข้าว เครื่องซักผ้า แอร์ เตารีด และอื่นๆ ที่เราใช้เป็นประจำ ว่าเกิดการชำรุด ไฟรั่วบ้างหรือไม่

เครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่างทำให้เกิดค่าไฟสูงเกินความจำเป็น เช่น ตู้เย็นเก่า ไดร์เป่าผมอันเก่า เมื่อคำนวณจำนวนวัตต์การใช้งานต่อวัน บวกกับค่าไฟแล้ว ซื้อใหม่จะคุ้มกว่า เรื่องค่าไฟจึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรรู้กันตั้งแต่เด็กๆ วันหนึ่งเมื่อเป็นเจ้าบ้านต้องติดตั้งมิเตอร์จะได้รู้ทันค่าไฟแพง

ค่าไฟแพงผิดปกติ ร้องเรียนที่ไหน

เมื่อพบว่าค่าไฟแพงผิดปกติ อย่าปล่อยทิ้งไว้นานๆ ให้รีบแจ้งไปยังผู้ให้บริการ

  • การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 1130
  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 1129

หากไม่แน่ใจว่าใช้บริการเจ้าไหน ก็ดูเบอร์ติดต่อ Call Center ที่ใบเสร็จ