ปี 2006 กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการสำรวจ Adverse Event หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในการรักษาพยาบาล โดยพบว่าสิ่งที่เป็นเหตุอันตรายอันดับแรกคือเรื่องของการให้ยาผิด (Medication error) อันดับ 2 คือเรื่องการสื่อสาร และกระบวนการรักษาที่ทำให้ประเทศไทยต้องพัฒนาระบบเงินชดเชยผ่านมาตรา 41 ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รัฐต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า รวมถึงอุบัติการณ์ที่เกิดจากความเสี่ยง และการโดนฟ้องร้องที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

2 P Safety คือ ปฐมบทแรกของการหาทางแก้ไขปัญหา...

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผอ.สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ซึ่งถือเป็นกำลังหลักในฐานะผู้ขับเคลื่อนประเด็น “Patient and Personnel Safety” ในประเทศไทย จนนำมาสู่นโยบาย 2P Safety ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยเริ่มต้นดำเนินนโยบายคุณภาพสู่ความปลอดภัยตั้งแต่ปี 1997 และเริ่มบูรณาการงานคุณภาพและความปลอดภัยสู่โรงพยาบาลในปี 2013-2015 จากนั้นนำเรื่องของ Patient Safety เข้าสู่สถาบันการศึกษา เกิดโครงการ Patient for Patient Safety รวมถึงโครงการ Hospital Safety ในปี 2016 จนมาถึงการประกาศนโยบาย Patient & Perso nal Safety ในปี 2017

...

“2P Safety Hospital นั้นเริ่มจริงๆในปี 2561 โดยทำควบคู่ไปกับ 2P Safety Goals (SIMPLE) พอปี 2562 ก็มีการบูรณาการ 2P Safety Goals ในมาตรฐาน HA เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยตามมาตรฐาน ประกาศเป็นนโยบายให้ รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นโรงพยาบาล 2P Safety Hospital จนถึงปี 2563 จึงมีการประกาศมาตรฐานสำคัญที่จำเป็นต่อความปลอดภัยเป็นเกณฑ์ในการประเมินรับรอง” คุณหมอปิยวรรณฉายภาพให้เห็นถึงความเป็นมาของ 2P Safety

ผอ.สรพ.บอกว่า จุดเปลี่ยนสำคัญอันหนึ่งคือการประกาศใช้ “มาตรฐานฉบับใหม่” ในกระบวนการรับรองคุณภาพ ซึ่งมาตรฐานฉบับใหม่นี้จะถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ความเข้มแข็งของระบบไอที หรือการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ซึ่งส่วนที่สำคัญคือ การต่อยอดนโยบาย Patient and Personnel Safety หรือ “2P Safety” ที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนกลายมาเป็น “3P Safety”

“เรามองว่าในอนาคตที่เริ่มจะมีการเปลี่ยนแปลง เกิดการดูแลรักษาคนไข้ภายนอกโรงพยาบาลมากขึ้น ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น People จึงมีความสำคัญและ มีส่วนช่วยสนับสนุนในระบบบริการสุขภาพได้ การลุกขึ้นมามี Health Literacy หรือการรู้ เท่าทัน ดูแลตัวเองได้ดี ไม่เป็นโรคหมอและพยาบาลก็ได้ดูแลเฉพาะคนไข้ที่ควรจะต้องอยู่ในโรงพยาบาล ไม่แออัดจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนขึ้นคือการป้องกันเฉพาะผู้ป่วยและบุคลากรนั้นยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีอีกส่วนในการนำพาโรคให้แพร่ไปได้ นั่นคือ “People” ประชาชนหรือญาติผู้ป่วยที่เข้ามาติดต่อด้วยนั่นเอง” คุณหมอปิยวรรณ อธิบายและว่าขณะนี้ 3P Safety ได้เข้าสู่มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพฉบับที่ 5 โดยในมาตรฐานนั้น People คือ People ในโรงพยาบาลทั้งผู้ป่วย ญาติที่เข้ามาในโรงพยาบาล และ People ในชุมชนและสังคม ที่มีโอกาส Safety และไม่ Safety จากระบบบริการสุขภาพ

โดยมาตรฐานสำคัญจำเป็นต่อความปลอดภัยมีทั้งหมด 9 ข้อ ประกอบด้วย 1.การผ่าตัดผิดคน ผิดข้าง ผิดตำแหน่ง ผิดหัตถการ 2.การติดเชื้อที่สำคัญตามบริบทขององค์กรในกลุ่ม SSI, VAP, CAUTI, CABSI 3.บุคลากรติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ 4. การเกิด Medication Errors และ Adverse Drug Event 5.การให้เลือดผิดคน ผิดหมู่ ผิดชนิด 6.การระบุตัวผู้ป่วยผิดพลาด 7.ความคลาดเคลื่อนในการวินิจฉัยโรค 8.การรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พยาธิวิทยาคลาดเคลื่อน และ 9.การคัดกรองที่ห้องฉุกเฉินคลาดเคลื่อน ซึ่งทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่สามารถป้องกันได้

...

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยหรือ 3P Safety เป็นเรื่องที่ไม่ใช่แค่การกำหนดมาตรฐานหรือออกกฎเกณฑ์แล้วจะประสบความสำเร็จได้ หากแต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องใช้ “หัวใจ” เดินไปด้วยกัน จึงจะบรรลุเป้าหมายความปลอดภัยทั้งสังคมอย่างแท้จริง.