การเตรียมตัวในการเข้ารับการรักษากับแพทย์แผนจีน มีดังนี้

1. รับประทานอาหารตามปกติให้อิ่มก่อนเข้ารับการฝังเข็ม 1-2 ชั่วโมง ไม่มากจนเกินไป เพราะถ้าฝังเข็มในช่วงผู้ป่วยอ่อนเพลีย หิว หรือแน่นท้องมาก จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นลมได้ง่าย

2. นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ 6-8 ชั่วโมง ในคืนก่อนมาเข้ารับการฝังเข็ม

3. สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสม ไม่ควรรัดแน่นจนเกินไป

4. รับทราบข้อปฏิบัติตัว และข้อห้ามในการฝังเข็ม

5. ปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด

6. วัดสัญญาณชีพก่อนเข้ารับการฝังเข็มทุกราย

ขั้นตอนการรักษา

1. ขณะทำหัตถการ ควรอยู่ในท่าที่แพทย์กำหนด โดยไม่ขยับร่างกาย ไม่เครียดจนเกินไป หรือทำตามคำแนะนำของแพทย์

2. ขณะรับการทำหัตถการ อาจมีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการปวดมากขึ้น หน้ามืดใจสั่นเป็นลม ต้องรีบแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบทันที

3. หลังจากทำหัตถการ เช่น ฝังเข็ม หรือครอบแก้วแล้ว ควรนั่งพัก หรืออยู่ในท่านั้นๆ เป็นระยะเวลาประมาณ 25-30 นาที หรือตามที่แพทย์กำหนด ไม่ควรขยับเขยื้อนแขนขาจนครบเวลา

...

ค่าใช้จ่ายในการรักษา

การรักษาโดยแพทย์แผนจีนที่โรงพยาบาลรามาธิบดี การฝังเข็มจะคิดค่ารักษาตามจำนวนเข็มที่ใช้ แบ่งเป็น 1-7 เข็ม 8-25 เข็ม 25 เข็มขึ้นไป ส่วนครอบแก้วจะอยู่ที่ 150 บาท แต่ถ้ามีการใช้เครื่องกระตุ้น และโคมไฟอินฟราเรดจะไม่มีค่าใช้จ่าย

การดูแลตนเองหลังเข้ารับการรักษา

1. ยังไม่ควรอาบน้ำ หรือออกกำลังกายทันที ควรเว้นห่างหลังการรักษาไปแล้วอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง

2. ควรพักผ่อนให้เพียงพอ

3. รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ และตรงเวลา

4. ออกกำลังกาย หรือออกท่ากายบริหารตามที่แพทย์แนะนำ

ข้อห้ามในการฝังเข็ม

1. สตรีที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์

2. ผู้ป่วยโรคมะเร็ง (ที่ยังไม่ได้รับการรักษา)

3. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดที่มีความผิดปกติของระบบแข็งตัวของเลือด

4. ผู้ป่วยโรคที่ต้องการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างแน่นอน

5. ผู้ป่วยที่มีโรคที่ยังไม่ทราบการวินิจฉัยแน่นอน

6. ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ใส่เครื่องกระตุ้นการเต้นหัวใจ (Pacemaker)

ผลข้างเคียงในการฝังเข็มที่อาจเกิดขึ้นได้

1. เป็นลม สาเหตุเกิดจากตื่นเต้น กลัวเข็ม ร่างกายอ่อนเพลีย ท้องว่าง หิวข้าว หรือเกิดจากการกระตุ้นเข็มมากไป

2. เข็มติด เข็มงอ เข็มหัก สาเหตุเกิดจากมีการขยับตัวเวลาปักขับ ดังนั้นผู้ป่วยต้องพยายามอยู่นิ่งให้มากที่สุด

3. เลือดออก สาเหตุเกิดจากการปักเข็มถูกเส้นเลือดที่อยู่ใต้ผิวหนัง หรืออยู่ในกล้ามเนื้อ ซึ่งแพทย์พยายามหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว แต่อาจเกิดได้ ตอนถอนเข็มต้องกดทันทีเพื่อหยุดเลือดไม่ให้ออก

4. ลมขังในโพรงเยื่อหุ้มปอด ข้อแทรกซ้อนนี้ค่อนข้างรุนแรง แก้ไขโดยแพทย์ต้องระมัดระวัง ไม่ปักเข็มในบริเวณที่อาจทะลุเข้าปอดได้ และคนไข้ต้องอยู่นิ่งๆ ในขณะทำการฝังเข็ม

การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบันที่คอยเตือนทุกคนอยู่แล้วว่า เราไม่สามารถละเลยการดูแลใส่ใจในสุขภาพของตัวเองได้ ศาสตร์การแพทย์แผนจีน จึงเป็นศาสตร์อีกทางเลือกหนึ่งให้ผู้ป่วยที่ต้องการรักษาแบบองค์รวม โดยให้ร่างกายและธรรมชาติบำบัด ช่วยดูแลและฟื้นฟูตนเอง รวมถึงการฝังเข็ม สมุนไพรจีน การรมยา การครอบแก้ว กัวซา โดยแพทย์จะเลือกการรักษาที่ตอบโจทย์กับร่างกายของผู้ป่วยมากที่สุดเสมอ

------------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล
แพทย์แผนจีน รุจาวดี อุดมศิลป์ (แพทย์ประจำหน่วยตรวจผู้ป่วยนอกแพทย์ทางเลือก) ฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

...