โรคภัยไข้เจ็บในปัจจุบันนั้นนับวันก็จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมาการรักษาโดยส่วนมากก็จะเป็นการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ยังมีการรักษาอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “แพทย์ทางเลือก” ซึ่งตอบโจทย์การรักษาพยาบาลได้ดีเช่นกัน ซึ่งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีก็มีบริการ “แพทย์ทางเลือก” ด้วย

แพทย์ทางเลือกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. Complementary Medicine คือ การแพทย์ทางเลือกที่นำไปใช้เสริม หรือใช้ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน

2. Alternative Medicine คือ การแพทย์ทางเลือกที่สามารถนำไปใช้ทดแทนการแพทย์แผนปัจจุบันได้ โดยไม่ต้องอาศัยการแพทย์แผนปัจจุบัน

การจำแนกตามกลุ่มของการแพทย์ทางเลือก หน่วยงานของ National Center of Complementary and Alternative Medicine (NCCAM) ของสหรัฐอเมริกา ได้จำแนกออกเป็น 5 กลุ่ม เมื่อปี 2005 ดังนี้

1.1 Alternative Medical Systems คือ การแพทย์ทางเลือกที่มีวิธีการตรวจรักษาวินิจฉัยและการบำบัดรักษาที่มีหลากหลายวิธีการ ทั้งด้านการให้ยา การใช้เครื่องมือมาช่วยในการบำบัดรักษาและหัตถการต่างๆ เช่น การแพทย์แผนโบราณของจีน (Traditional Chinese Medicine) การแพทย์แบบอายุรเวชของอินเดีย เป็นต้น

1.2 Mind-Body Interventions คือ วิธีการบำบัดรักษาแบบใช้กายและใจ เช่น การใช้สมาธิบำบัด โยคะ ชี่กง เป็นต้น

1.3 Biologically Based Therapies คือ วิธีการบำบัดรักษาโดยการใช้ สารชีวภาพ สารเคมีต่างๆ เช่น สมุนไพร วิตามิน Chelation Therapy Ozone Therapy หรือแม้กระทั่งอาหารสุขภาพ เป็นต้น

...

1.4 Manipulative and Body-Based Methods คือ วิธีการบำบัดรักษาโดยการใช้หัตถการต่างๆ เช่น การนวด การดัด การจัดกระดูก Osteopathy Chiropractic เป็นต้น

1.5 Energy Therapies คือ วิธีการบำบัดรักษาที่ใช้พลังงานในการบำบัดรักษาที่สามารถวัดได้ และไม่สามารถวัดได้ในการบำบัดรักษา เช่น การสวดมนต์บำบัด พลังกายทิพย์ พลังจักรวาล เรกิ โยเร เป็นต้น

ส่วนแพทย์ทางเลือกของโรงพยาบาลรามาธิบดีนั้นมีการรักษา โดยแพทย์แผนจีน และแพทย์แผนไทย ซึ่งในบทความสัปดาห์นี้จะขอกล่าวถึง “แพทย์แผนจีน” ก่อน

การรักษาโดยแพทย์แผนจีน

การแพทย์แผนจีน หมายถึง การแพทย์ที่มีประวัติการใช้ในการรักษาในชาวจีนยาวนานมากว่า 5,000 ปี และมีทฤษฎีสมบูรณ์ที่สุด โดยมีองค์ประกอบหลัก คือ การวินิจฉัย หรือการบอกโรค การรักษาด้วยการฝังเข็ม ครอบแก้ว สมุนไพรจีน การนวดทุยนา ชี่กง และอาหารที่เป็นยา เป็นต้น โดยใช้การรักษาแบบองค์รวม เน้นการปรับสมดุลจากภายในสู่ภายนอกเป็นหลัก

การฝังเข็ม คือ การใช้เข็มขนาดเล็กมาก ฝังตามจุดฝังเข็มบนร่างกาย ซึ่งเป็นจุดที่มีพลังงานมากกว่าจุดอื่นๆ เพื่อทำให้พลังงาน และอวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่เสียสมดุลไป กลับมาอยู่ในภาวะสมดุล

การครอบแก้ว ในสมัยโบราณจะใช้เขาสัตว์ หรือกระบอกไม้ไผ่ แต่ปัจจุบันวัสดุที่ใช้จะเป็นแก้วใสทรงกลม จุดไฟแล้วนำเปลวไฟเข้าไปในแก้วทรงกลมเพื่อให้เกิดสุญญากาศภายในแก้ว แล้วจึงนำมาวางครอบบริเวณต่างๆ บนร่างกาย ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนอธิบายไว้ว่า ความร้อนจากไฟขณะทำการครอบจะช่วยขับไล่ความเย็นที่อยู่ในเส้นลมปราณ ความเย็นมีกลไกของโรคทำให้การไหลเวียนของลมปราณติดขัดเมื่อเกิดการติดขัดก็จะทำให้เกิดอาการปวด เมื่อครอบแก้วแล้วลมปราณภายในร่างกายจะไหลเวียนเป็นไปอย่างปกติ อาการปวดจึงหายไป

ข้อบ่งชี้ในการรักษากับแพทย์แผนจีน

- ผู้ที่ต้องการการบำรุงสุขภาพเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
- ผู้ที่ต้องการลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาและการรักษา
- ผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน
- ผู้ที่มีอาการผิดปกติหลายอย่างโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

แพทย์แผนจีนรักษาโรคอะไรบ้าง

องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การรับรองและระบุโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยการฝังเข็ม รวมทั้งล่าสุดยังมีหลายงานวิจัยพบว่า โรคบางโรค เช่น กรดไหลย้อน ปวดหัว ปวดศีรษะไมเกรน การรักษาด้วยการฝังเข็มให้ผลการรักษาดีเทียบเท่า หรือมากกว่าการใช้ยา โดยปลอดภัย และไม่ต้องเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยาอีกด้วย โดยกลุ่มโรคและอาการที่พบบ่อยมีดังนี้

...

1. กลุ่มอาการปวดและโรคทางระบบกล้ามเนื้อ เช่น Office syndrome ปวดหลัง ปวดต้นคอ ปวดไหล่ ปวดเข่า ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน

2. กลุ่มโรคระบบประสาท เช่น ชาปลายมือ ปลายเท้า อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคอัมพาตใบหน้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง

3. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ หวัดเรื้อรังและหอบหืด

4. กลุ่มโรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ความดันต่ำ

5. กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหารและลำไส้ เช่น กรดไหลย้อน ท้องผูก อาหารไม่ย่อย

6. กลุ่มโรคทางนรีเวช เช่น ปรับสมดุล ปรับฮอร์โมน ประจำเดือนมาไม่ปกติ เข้าสู่วัยทอง ทั้งบุรุษและสตรี และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

7. กลุ่มโรคอื่นๆ เช่น การฝังเข็มเพื่อเสริมสุขภาพ เช่น เครียด กังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ

สัปดาห์หน้ายังมีเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษา ขั้นตอนการรักษา ค่าใช้จ่ายในการรักษา และการดูแลตนเองหลังเข้ารับการรักษา รอติดตามกันนะคะ

__________________________________

แหล่งข้อมูล
แพทย์แผนจีน รุจาวดี อุดมศิลป์ (แพทย์ประจำหน่วยตรวจผู้ป่วยนอกแพทย์ทางเลือก) ฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี