นานหลายสิบปีที่นักบรรพชีวินวิทยาถกเถียงกันว่าไดโนเสาร์มีเลือดอุ่นเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกยุคปัจจุบัน หรือมีเลือดเย็นเหมือนสัตว์เลื้อยคลานยุคใหม่ การได้รู้ว่าไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลือดอุ่นหรือเลือดเย็นก็จะช่วยให้รู้ว่ามันมีความตื่นตัวแค่ไหน ชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร แต่วิธีการกำหนดความเลือดอุ่นหรือเลือดเย็นของพวกมัน หรือการเผาผลาญที่สามารถเปลี่ยนออกซิเจนเป็นพลังงานได้เร็วแค่ไหน ยังเป็นเรื่องที่หาข้อสรุปไม่ได้
ล่าสุดทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย และพิพิธภัณฑ์ฟีลด์ในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยวิธีการใหม่ในการศึกษาอัตราการเผาผลาญของไดโนเสาร์ โดยใช้เบาะแสใน กระดูกที่ระบุว่าสัตว์แต่ละตัวหายใจเข้าไปมากแค่ไหนในโมงยามสุดท้ายของชีวิต ทีมตรวจด้วยเทคนิคฟูเรียร์ทรานส์ฟอร์มอินฟราเรดสเปกโตรสโคปีที่กระดูกโคนขาสีเข้มของสัตว์ต่างๆ 55 กลุ่มรวมทั้งไดโนเสาร์ เพราะสีเข้มเหล่านั้นบ่งชี้ว่ามีสารอินทรีย์จำนวนมากถูกเก็บรักษาไว้ และเมื่อใช้ระบบโปรแกรมประยุกต์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ก็ช่วยให้คาดคะเนการเผาผลาญในสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ได้โดยตรง และตอนนี้ทีมวิจัยมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าไดโนเสาร์ส่วนใหญ่เป็นเลือดอุ่น
ทั้งนี้ ทีมพบว่าอัตราการเผาผลาญของไดโนเสาร์โดยทั่วไปสูง ซึ่งไดโนเสาร์แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือซอริสเชียนเป็นพวกที่มีกระดูกสะโพกคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน และออร์นิธิสเชียนเป็นพวกที่มีกระดูกสะโพกคล้ายสัตว์ปีก ไดโนเสาร์ที่มีสะโพกคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน เช่น ไทรเซอราทอปส์และสเตโกซอรัส มีอัตราการเผาผลาญต่ำเมื่อเทียบกับสัตว์เลือดเย็นยุคใหม่ ขณะที่ไดโนเสาร์ที่มีกระดูกสะโพกคล้ายสัตว์ปีก เช่น เธอโรพอด ซอโรพอด มีเลือดอุ่น บางตัวไม่ได้แค่เลือดอุ่นแต่มีอัตราการเผาผลาญเทียบเท่านกสมัยใหม่ ซึ่งสูงกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาก.
...
(ภาพประกอบ Credit : J. Wiemann)