เชื่อว่าภาพความแออัดของโรงพยาบาล การรอคิวรักษาที่ยาวนานเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นชินมานานหลายสิบปี ขณะที่ทั่วโลกกำลังมีความท้าทายต่อความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงในทุกๆด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ การดำเนินชีวิตของประชาชนที่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปสู่การดำเนินวิถีชีวิตแบบใหม่ จากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมถึงภัยพิบัติจากธรรมชาติและอุบัติภัย เทคโนโลยี นวัตกรรม ฯลฯ

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า ขณะนี้เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ยังไม่รวมการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมผู้สูงอายุที่เกี่ยวพันกับกลุ่มโรค NCDs (Non Communication diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ แต่เกิดจากการเสื่อมสภาพของร่างกาย ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สามารถติดเชื้อทั้งไวรัสโคโรนาและอื่นๆได้ง่าย และเสี่ยงต่อการที่จะมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

“ปีนี้กรมการแพทย์มีอายุครบ 80 ปี ถือว่ายาวนานมาก เป็น 80 ปีของการเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนแปลงในหลายๆเรื่อง ซึ่งสำคัญที่สุดที่เรามุ่งมั่นคือ การสร้างการแพทย์วิถีใหม่ที่ดีกว่าเดิม” นพ. สมศักดิ์บอกและว่า ในปี 2565 นี้ เราได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานไว้ชัดเจนคือ “การนำบริการทางการแพทย์ไปหาผู้ป่วย” เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เสมอภาค รวมไปถึงการพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมทางการแพทย์อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า กรมการแพทย์มีความเป็นเลิศในการรักษาโรคเฉพาะทางมากกว่า 15 สาขา ซึ่งด้วยข้อจำกัดต่างๆ จำเป็นต้องปรับบริการจากการตั้งรับเป็นการให้บริการเชิงรุก ด้วยกลไก Transform & Smart Medical Services การนำบริการทางการแพทย์ไปหาผู้ป่วยแบบทุกที่ทุกเวลา

...

“อย่างหนึ่งที่เราจะทำให้เป็นภาพคือ การทำให้เกิด Smart Hospital ในหน่วยบริการทั้งหมดของกรมการแพทย์ และนำระบบเทเลเมดิซีนเข้ามาใช้ในการวินิจฉัย บำบัด รักษา ฟื้นฟู เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล รวมถึงข้อจำกัดต่างๆที่เคยเป็นปัญหามานาน” อธิบดีกรมการแพทย์อธิบายพร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นโยบายอันหนึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้วคือ มะเร็งรักษาทุกที่ “Cancer anywhere & any kind” เป็นการขยายการรักษามะเร็งด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น ลดการเดินทาง และการแออัดของการเข้ามารักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ส่วนกลาง

อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า ในปี 2565 ที่กรมครบรอบ 80 ปี ได้ประกาศจุดเน้น “80 ปี กรมการแพทย์ ทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต” และพัฒนาบุคลากรของกรมให้มีความพร้อมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านวิชาการและบริการ เช่น การพัฒนาศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศ, การดูแลผู้ป่วย NCDs ในรูปแบบ Virtual NCD Clinic, DMS Co-Creation Training Center, ศูนย์การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) การสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรในการขับเคลื่อนศักยภาพทางการแพทย์ภายใต้ Project “ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี” วางแผนพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการบริการเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยของประชาชน, การพัฒนารูปแบบบริการแบบทุกที่ อาทิ มะเร็งรักษาทุกที่ “Cancer anywhere & any kind” การให้บริการดูแลผู้ป่วยทุกคนแบบ VIP “ที่ต้องสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย รอไม่นาน” ที่สำคัญคือการพัฒนาสู่องค์กรสมรรถนะสูง

...

“โครงการหนึ่งที่กรมการแพทย์ได้ริเริ่มและดำเนินการในปีนี้คือ การมอบชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกที่บ้าน โดยให้ประชาชนสามารถตรวจ คัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง สามารถเก็บเซลล์ในช่องคลอดด้วยตนเองที่บ้านและส่งไปตรวจที่โรงพยาบาลแล้วฟังผลด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ เป็นอีกทางเลือกในการตรวจคัดกรองที่สะดวกต่อผู้รับบริการ และเพิ่มความครอบคลุมของการตรวจคัดกรอง” นพ.สมศักดิ์กล่าวและว่า ทั้งนี้ เพราะมะเร็งปากมดลูกถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ พบอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปากมดลูกสูงเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะสามารถเข้ารับการตรวจด้วยวิธี Pap Smear และ HPV DNA Test ได้ตามสิทธิประโยชน์ แต่หลายพื้นที่ยังไม่สามารถตรวจคัดกรองได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากสตรีบางส่วนยังอายหรือไม่มีเวลาไปตรวจคัดกรอง ซึ่งโครงการนี้หญิงไทยอายุ 30-60 ปี สามารถขอรับชุดตรวจได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2565 ที่ รพ.ใกล้บ้าน.