คนที่อยู่ในวัยทำงานจำนวนไม่น้อยต้องเคยประสบกับอาการหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) กันมาบ้าง นอกจากนี้บางคนอาจมีอาการหมดใจในการทำงาน (Brownout Syndrome) ด้วย มาทำความรู้จักความแตกต่างของทั้ง 2 อาการว่าส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างไร พร้อมวิธีดูแลและป้องกันตนเอง
ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) คืออะไร
ไม่ว่าจะเป็นเด็กจบใหม่วัยเริ่มทำงานหรือคนที่ผ่านสมรภูมิการทำงานมาหลายปี หลายคนต้องเคยเจออาการนี้กันมาบ้าง ด้วยสาเหตุจากการทำงานหนักเกินไปจนพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง รู้สึกเหนื่อยกับงานที่ทำ ไม่อยากตื่นมาทำงาน อยากเร่งให้ถึงเวลาเลิกงานเร็วๆ แม้ว่าจะพักผ่อนเต็มที่แล้วก็ยังไม่รู้สึกดีขึ้น ทั้งหมดนี้คืออาการของคนที่อยู่ในภาวะหมดไฟ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าปกติ
ความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะหมดไฟ
- ปริมาณงานที่มากเกินไปและต้องทำในเวลาที่จำกัด
- ฝืนใจทำงานที่ตนเองไม่ถนัด ไม่ได้อยากทำ หรือไม่มีความรักในงานนั้นๆ
- ทำงานด้วยความเบื่อหน่าย อาจด้วยตัวงานเองหรือมาจากเพื่อนร่วมงาน
- ขาดอำนาจในการตัดสินใจ และไม่สามารถเรียงลำดับความสำคัญของงานได้
- ไม่ได้รับการตอบแทนหรือรางวัลที่คุ้มค่าต่อการทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจ
- รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม
- ไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเชื่อใจ
- ระบบบริหารในที่ทำงานที่ขัดต่อคุณค่าและจุดมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง
ผลกระทบจากภาวะหมดไฟมีอะไรบ้าง
...
1. ผลด้านจิตใจ
- สูญเสียแรงจูงใจ รู้สึกหมดหวัง
- ส่งผลให้มีอาการภาวะซึมเศร้าและนอนไม่หลับ
2. ผลด้านร่างกาย
- มีอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง
- ปวดเมื่อยร่างกาย ปวดศีรษะ
3. ผลต่อการทำงาน
- อาจขาดงานบ่อย
- ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
- อยากลาออกจากงาน
วิธีดูแลตนเองเมื่อรู้สึกหมดไฟ
1. พยายามแบ่งย่อยงาน หากงานที่ต้องทำมีความยากและลำบากที่จะเริ่มต้น ให้ลองแบ่งย่อยเป็นส่วนๆ ที่ง่ายกว่า และให้เครดิตตัวเองเมื่อทำงานสำเร็จ
2. ฝึกใจให้คิดบวก ใช้เวลาว่างเพื่อคิดเรื่องดีๆ ในชีวิต ลองพิจารณาว่ามีสิ่งใดที่ผ่านไปได้ด้วยดีบ้าง
3. เพิ่มความมั่นใจในตัวเอง ควรเชื่อมั่นในตนเองว่าสามารถทำงานได้เต็มที่แล้ว พยายามคิดในแง่บวกมากขึ้น
4. กระฉับกระเฉงให้มากขึ้น ความกระตือรือร้นสามารถช่วยเผาผลาญพลังงานลบในสมองได้ แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้ความเครียดหายไปทันที แต่จะทำให้เครียดน้อยลงได้
5. วางแผนล่วงหน้า เพื่อจัดการสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น จดรายการสิ่งที่ต้องทำ การเดินทางที่ต้องไป และสิ่งที่ต้องใช้งาน
6. คุยกับคนที่ไว้ใจ หาเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวที่ไว้ใจได้เพื่อปรึกษาและระบายความเครียด หรือติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยเหลือ
ภาวะหมดใจในการทำงาน (Brownout Syndrome) คืออะไร
ที่ผ่านมาเรามักจะคุ้นเคยกับคำว่าภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) แต่ยังมีอีกหนึ่งอาการที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือภาวะหมดใจในการทำงาน (Brownout Syndrome) โดยมีสาเหตุจากความเบื่อหน่ายหรือไม่พอใจกับคนและสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ซึ่งมีความรุนแรงกว่าการหมดไฟ เพราะส่งผลกับสภาพจิตใจของพนักงานและองค์กรด้วย แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) เองยังยืนยันว่าเป็นอาการที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ และยังส่งผลให้มีพนักงานลาออกจากงานมากถึง 40% ขณะที่การลาออกเพราะหมดไฟมีเพียง 5% เท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้คนหมดใจ
1. กฎระเบียบในองค์กรที่จุกจิก และไม่เป็นธรรม แม้การอยู่ร่วมกันในสังคมจะต้องการกฎเพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่กฎที่จุกจิกและไม่มีความยืดหยุ่นจะทำให้พนักงานกดดัน รู้สึกโดนควบคุมมากเกินไป และเกิดความอึดอัดใจได้ รวมถึงความไม่เป็นธรรม อย่างการยืดหยุ่นกฎระเบียบให้กับคนบางกลุ่ม ซึ่งความไม่ยุติธรรมนี้ เป็นตัวสร้างอคติและความบาดหมางชั้นดีในองค์กร
2. ทำได้มากกว่า แต่ผลตอบแทนเสมอกัน สาเหตุหลักที่ทำให้คนเก่งๆ ทยอยออกจากองค์กร คือ การไม่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า แถมยังได้พอๆ กับคนที่ทำงานแบบขอไปที สิ่งนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกว่า แล้วจะทำดีไปทำไม? นอกจากจะได้ผลตอบแทนเท่าๆ กันแล้ว บางบริษัทยังไม่มีการลงโทษ ตักเตือน หรือจัดการกับคนเหล่านั้น บวกกับคนที่ตั้งใจทำงาน ก็ไม่เคยได้รับรางวัล ปันผล หรือคำชมใดๆ หากเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ พนักงานที่ตั้งใจทำงานอาจเริ่มหมดใจ และเริ่มมองหาองค์กรใหม่ที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงแรงมากกว่า
3. หัวหน้างานเอาแต่ใจ ไม่เข้าใจความเป็นมนุษย์ หลายๆ องค์กรที่พนักงานลาออกบ่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากความเอาแต่ใจของหัวหน้า ไม่เปิดรับความเห็นต่าง ไม่ฟังเหตุผล ขาดความเห็นใจ ไม่ยอมรับผิด เอาแน่เอานอนไม่ได้ ลำเอียง และอีกมากมาย พนักงานหลายคนจึงไม่อยากไปรองรับอารมณ์ และพลังงานลบๆ อีกต่อไป
4. เป้าหมายในการทำงานไม่ชัดเจน บางองค์กรสั่งงานแล้วจบ กำหนดเพียงเดดไลน์ แต่ไม่ยอมบอกว่างานนี้ทำไปเพื่ออะไร หรืองานนี้จะส่งผลอย่างไรต่อองค์กร? เมื่อไม่เห็นเป้าหมายของงานที่ทำ พนักงานหลายคนจึงเริ่มหมดใจ เพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นมีประโยชน์ หรือมีคุณค่ากับองค์กรมากน้อยแค่ไหน? ทำแล้วได้อะไร? เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ลาออกกันมากนั่นเอง
...
เช็กลิสต์อาการของคนหมดใจ
- ความกระตือรือร้นในการทำงานลดลง
- ไม่อยากทำงานนอกเหนือเวลางาน เช่น ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานเสาร์ อาทิตย์ จากที่เมื่อก่อนเคยทำได้
- มีอาการพักผ่อนไม่เพียงพอ ป่วยบ่อย ใส่ใจตัวเองน้อยลง
- ไม่ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร
- ปลีกตัวจากสังคมเพื่อนร่วมงาน
- ขาดความสนใจในเรื่องทั่วไป ยกเว้นเรื่องงาน
- รู้สึกกดดันจากการทำงาน เหมือนองค์กรคอยเพ่งเล็ง จับผิด
ผลกระทบจากภาวะหมดใจ
ผลกระทบจากคนที่มีภาวะหมดใจในการทำงานแตกต่างจากภาวะหมดไฟ เพราะคนกลุ่มนี้ยังมีไฟในการทำงานอยู่ แต่ด้วยสาเหตุหลายๆ ปัจจัยข้างต้นจึงทำให้เลือกที่จะ “ลาออก” จากองค์กรนั้นๆ เพื่อไปหาสิ่งที่ตนเองต้องการแทน ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเกิดกับพนักงานที่มีความสามารถสูง จึงมีโอกาสหางานใหม่ได้เร็ว ในกรณีนี้แม้ว่าองค์กรจะยื่นข้อเสนอด้วยการเพิ่มเงินเดือน หรือเลื่อนตำแหน่ง ก็ไม่สามารถฉุดรั้งคนที่มีภาวะหมดใจได้ เพราะพวกเขารู้ตัวว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่งานที่ตอบโจทย์ความต้องการนั่นเอง
...
วิธีป้องกันภาวะหมดใจในการทำงาน
การป้องกันไม่ให้คนรู้สึกหมดใจในการทำงานต้องอาศัยความร่วมมือหลายส่วน ทั้งจากเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ไปจนถึงองค์กร ที่ต้องเปลี่ยนทัศนคติ ปรับระบบการทำงาน และวัฒนธรรมภายในองค์กรให้มีความยืดหยุ่นและน่าทำงานมากขึ้น ให้ความยุติธรรมเท่าเทียม ทั้งในพนักงานรุ่นใหม่และรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ และไม่สร้างวัฒนธรรมเส้นสายให้เกิดขึ้นในองค์กร
ขณะเดียวกัน ตัวพนักงานเองก็ต้องเปิดใจให้ความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาภาวะหมดใจด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การแบ่งเวลาการทำงานและการพักผ่อน ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ไปจนถึงการฟื้นฟูความรู้สึกและความมั่นใจของตัวเองโดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายเล็กๆ และกำหนดระยะเวลาทำงานที่ชัดเจน แต่ถ้าหากรู้สึกหมดกำลังใจและกำลังกายที่จะแบกรับภาระต่างๆ ลองหาเวลาพักร้อนเพื่อไปพักผ่อนสมองและหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ โดยปราศจากการทำงานสัก 2-3 วัน แล้วกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเริ่มมีอาการเศร้า หดหู่ เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว รู้สึกทุกข์ทรมานกับการใช้ชีวิต หรือมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางรักษาที่ถูกต้อง
ข้อมูลจาก:
...