ไหล่ของทวีปแอนตาร์กติกาเป็นภูมิภาคที่ให้ผลผลิตทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในมหาสมุทรโลก เป็นผลมาจากสารอาหารจำนวนมากที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาสมุทร น้ำแข็งในทะเล และหิ้งน้ำแข็ง นักสมุทรศาสตร์มีปัญหาอย่างมากในการทำงานตรวจสอบธรรมชาติด้วยเรือในบริเวณพื้นที่ไหล่ทวีปแอนตาร์กติกา เพราะอุปสรรคคือน้ำแข็งเกาะติดอยู่ที่ชายฝั่ง
หลายปีมานี้นักวิจัยได้พยายามหาแนวทางใหม่เพื่อให้งานเดินหน้าด้วยดี วิธีที่เชื่อว่าจะได้ผลก็คืออาศัยการเคลื่อนที่ของสัตว์ทะเลตามธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันแห่งชาติเพื่อการวิจัยขั้วโลก ของญี่ปุ่นเผยว่า การวิจัยก่อนหน้านี้มีการใช้อุปกรณ์ผูกติดกับแมวน้ำช้างตอนใต้และแมวน้ำเวดเดลล์ เป็นสัตว์นักล่าที่ดำน้ำลึก ได้แสดงให้เห็นกระบวนการทางกายภาพที่น่าสนใจในพื้นที่แอนตาร์กติกา อุปกรณ์ที่ติดบนหัวแมวน้ำที่เรียกว่า CTD-Satellite Relay Data Loggers จะบันทึกโปรไฟล์แนวตั้งของอุณหภูมิ การนำไฟฟ้า และความดัน
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก CTD-Satellite Relay Data Loggers ถือเป็นพื้นฐานในการกำหนดลักษณะของน้ำทะเล และช่วยให้นักวิจัยประเมินที่มาของน้ำได้ การใช้แมวน้ำที่ติดเซ็นเซอร์ ดูจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการสำรวจสภาพมหาสมุทรและระบบนิเวศทั่วทวีปแอนตาร์กติกา ที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง ซึ่งหวังจะใช้ข้อมูลที่ได้มาเพื่อคาดการณ์ว่าระบบนิเวศทางทะเลชายฝั่งแอนตาร์ก ติก ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกได้อย่างไร.
(ภาพประกอบ Credit : Nobuo Kokubun (NIPP))