สิ่งมีชีวิตมีอยู่แทบทุกหนทุกแห่งในมหาสมุทร ยกเว้นในบางพื้นที่ที่ออกซิเจนลดลงตามธรรมชาติ และในโซนขาดออกซิเจนซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิต แต่ถึงแม้ว่าพื้นที่เหล่านี้จะมีน้อยกว่า 1% ของมหาสมุทรทั้งหมด ทว่าก็เป็นแหล่งสำคัญของไนตรัสออกไซด์ที่เป็นก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้ โซนขาดออกซิเจนเป็นบริเวณที่ใหญ่และต่อเนื่องของมหาสมุทรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นผลมาจากจุลินทรีย์ในทะเลกลืนกินแพลงก์ ตอนพืชที่จมลงไปพร้อมกับออกซิเจนที่มีอยู่ทั้งหมดในสภาพแวดล้อม ดังนั้น การสร้างแผนที่โดยละเอียดของโซนเหล่านี้จะทำให้มีจุดเปรียบเทียบสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์ หรือเอ็มไอที ในสหรัฐอเมริกา ได้ใช้ข้อมูลสำรวจวิจัยและการทำงานของหุ่นยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในตลอดหลายปีมาวิเคราะห์และสร้างแผนที่ 3 มิติขนาดใหญ่ที่มีรายละเอียดมากที่สุดของโซนขาดออกซิเจน โดยแผนที่ใหม่นี้แสดงความละเอียดสูงของแหล่งน้ำหลัก 2 แห่งที่เป็นโซนขาดออกซิเจนในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน แผนที่ได้บ่งบอกปริมาณ ขอบเขต และความลึกที่แตกต่างกันของโซนขาดออกซิเจน เช่น แถบของน้ำที่มีออกซิเจนซึ่งรุกเข้าไปในโซนที่ไม่มีออกซิเจน

โดยทั่วไปแล้วคาดการณ์ว่ามหาสมุทรจะสูญเสียออกซิเจนเมื่อสภาพอากาศอุ่นขึ้น แต่สถานการณ์ก็มีความซับซ้อนมากขึ้นในเขตร้อน ด้วยมีโซนขาดออกซิเจนจำนวนมาก ซึ่งแผนที่ใหม่นี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เห็นภาพคร่าวๆของสิ่งที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงอาจไขปริศนาว่าออกซิเจนในมหาสมุทรถูกควบคุมอย่างไร.

(ภาพประกอบ Credits : Jarek Kwiecinski and Andrew Babbin)