การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก นอกจากชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนปรับตัวแล้ววงการธุรกิจแบบชิม ช็อป ใช้ ก็ต้องปรับตัวรับสถานการณ์ปัจจุบันให้ทันท่วงที มุมมองใหม่การรับมือของคนในวงการอาหาร อย่าง พัชรินทร์ เหมอังกูร ผู้คร่ำหวอดในวงการอาหารสดมา 23 ปี บอกว่า เราเป็นผู้นำเข้าอาหารสดและส่งให้แก่โรงแรม ร้านอาหาร ซึ่งธุรกิจเหล่านี้บาดเจ็บ ทำให้เราบาดเจ็บด้วย เราทำรีเทล ที่ไม่ได้ทำออนไลน์ ไม่ได้ทำค้าปลีก ทำให้เราต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ต้องผันตัวเองทำทุกช่องทาง ไม่ว่าจะขายออนไลน์ส่งตรงผู้บริโภค เมื่อก่อนใครจะซื้อเนื้อเราต้องซื้อยกเส้น ซื้อยกลัง ตอนนี้แกะกระดูกเดียวก็ขาย เนื้อชิ้นเดียวก็ส่ง เพราะเรารู้แล้วว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ธุรกิจเราต้องปรับตัว เราจะอยู่หรือจะปิด ถ้าเราจะอยู่เราต้องอยู่แบบคิดใหม่ ทำใหม่ เราต้องเปลี่ยนวิธีการ

จากแนวคิดที่ต้องปรับตัว นักธุรกิจสาวด้านอาหารจึงผุดไอเดียในการทำธุรกิจที่ต้องตอบโจทย์วิถีชีวิตนิวนอร์มอล คนชอบทำอาหารกินเองที่บ้าน โดยเล่าว่า ตอนนี้ทุกคนต้องมีจุด
ปรับตัว อย่างร้านอาหารจะต้องส่งดีลิเวอรี แต่การดีลิเวอรีทำอย่างไรให้ลูกค้าได้กินอาหารให้อร่อยเหมือนทานที่ร้าน กินที่บ้านแล้วได้ความอร่อยเหมือนเชฟทำที่ร้าน จึงได้ตีโจทย์ออกมาเป็นแนวคิด Fine Food at Home อาหารพร้อมปรุงในชื่อ Gourmet Box by Chef Norbert ร้านอาหารแบบ Take Away & Delivery อยู่บริเวณชั้น G เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ซึ่งไม่ใช่ซื้ออาหารกล่องกลับไปถึงบ้านปุ๊บแล้วเปิดกินได้เลย แต่เป็นอาหารที่เราต้องเอาไปปรุงคุกกิ้งเองโดยใช้เวลาไม่นาน เพราะทุกคนอยากทำอาหาร โดยเรามีคำแนะนำในการปรุง แล้วทุกคนได้เล่นนิดหน่อยว่าเราเป็น คนทำอวดได้ ทำ ให้เราได้กินอาหารระดับเชฟมืออาชีพ แต่ปลอดภัยได้ อยู่ที่บ้าน จะกิน ตอนไหนนั้นก็ได้

...

ส่วนธุรกิจช็อปในวงการแฟชั่น ก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน อิ๊บ-คล้ายเดือน สุขะหุต พี่สาวคนโตของแบรนด์ Sretsis บอกถึงการปรับตัวของแบรนด์ว่า บทเรียนที่ดีในช่วงโควิด ทำให้ต้องปรับตัวเอง ทำให้ทุกบริษัทมานั่งโฟกัส มานั่งดูว่าจุดแข็งของเราคืออะไร ตัวเราเองก็ต้องมาทบทวนตัวเอง สเรทซิสครบ 20 ปี ในปีนี้เราก็มานั่งรีโฟกัส จุดแข็งของเราตรงไหน ซิกเนเจอร์ คืออะไรที่เราต้องพยายามผลักดันตรงนั้นมากขึ้น หรือว่าอันไหนที่ไม่ดีต้องหยุด และเรื่องทีมงาน เราต้องพัฒนาทีมงานดิจิทัลให้ทันโลกต่างๆ เมื่อก่อนแบรนด์เราอาจจะไม่ได้วิ่งเรื่องเทคโนโลยีเท่าไหร่ แต่ยุคนี้ไม่ได้ เราต้องปรับตัวเรื่องดิจิทัล คอนเทนต์ รวมทั้งอีคอมเมิร์ซ เราต้องทำให้ทีมเราพร้อม ที่จะปรับให้ทันโลก เป็นช่วงที่กลับมาศึกษาตัวเอง ศึกษาแบรนด์ ปรับโครงสร้างอย่างไรให้เราพร้อมที่จะไปข้างหน้าได้

คล้ายเดือน  และน้องสาวแห่งแบรนด์ Sretsis.
คล้ายเดือน และน้องสาวแห่งแบรนด์ Sretsis.

นอกจากนี้ อิ๊บ-คล้ายเดือน ยังได้มองถึงเทรนด์ธุรกิจแฟชั่นต่อไปอีกด้วยว่า ตอนนี้ทุกคนจะหันมาในเรื่องความยั่งยืน (Sustainable) มากขึ้น แม้กระทั่งอุตสาหกรรมแฟชั่นเอง เราก็ต้องดูว่าธุรกิจเราจะทำอย่างไรให้ดีต่อโลกด้วย คิดว่าทุกแบรนด์หันมามองว่าเรื่องการเลือกใช้วัตถุดิบต่างๆ เราก็อยากจะเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีต่อโลก มีการรีไซเคิลมากขึ้น หรือการคิดถึงกระบวนการผลิตอย่างไรที่ขยะเป็นศูนย์ได้ ในวงการแฟชั่นอาจจะไม่สามารถทำได้ 100% แต่ว่าเราก็จะพยายามทำ เช่น สเรทซิส เราทำคอลเลกชันผ้าห่ม-ปลอกหมอนควิลต์ หรือ ลิตเติ้ล ซิสเตอร์ เสื้อผ้าเด็ก เกิดขึ้นจากการนำผ้าที่เรามีมาทำให้มันเกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น ด้วยการทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นเสื้อผ้าเด็ก หรือปลอกหมอน ผ้าห่ม โดยปีนี้ที่เราจะคิดให้เป็นภาพใหญ่มากขึ้น รวมทั้งการสร้างบริการใหม่ ที่เป็นการพรีออเดอร์เท่านั้น ระบบนี้จะลดต้นทุน ลดการสต๊อกได้.