เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์สำคัญของโลก ดังที่เวทีการประชุม COP26 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ที่กลาสโกลว์ ได้ระบุถึงวิกฤติสามอย่างที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ คือภาวะโลกร้อน การสูญพันธุ์ ปัญหามลพิษและขยะ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อสอบให้ทุกคนต้องแก้ไข เพราะไม่มีใครเลยในโลกที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเหล่านี้
สิงห์ เอสเตท บริษัทมหาชนด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ยึดหลักปรัชญาการเติบโตอย่างยั่งยืน รักษาความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งตระหนักถึงโจทย์สำคัญข้อนี้ จึงได้ร่วมกับศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย หรือ EEC (Environmental Education Centre) จัดกิจกรรม SeaYouTomorrowCamp: Fighting Climate Crisis “ค่ายผู้นำและเยาวชน รวมพลังต้านวิกฤติโลกร้อน’ ขึ้น ที่โรงแรมทราย พีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ เกาะพีพี เมื่อวันที่ 14-16 ธันวาคม 2564
กิจกรรมนี้มีพนักงานระดับหัวหน้างานของสิงห์ เอสเตท 15 คน และเยาวชนในพื้นที่อีก 10 เข้าร่วมกิจกรรมในห้องเรียนธรรมชาติ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เห็นความเชื่อมโยงกันของระบบนิเวศ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่สมดุล ซึ่งนำมาสู่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และเพื่อพัฒนาผู้ร่วมแคมป์ให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงหรือ Change Agent โดยหัวหน้างานได้ใช้ความรู้ไปเป็นแนวทางในการทำงานตามนโยบายของบริษัทที่มุ่งวิสัยทัศน์สู่ความยั่งยืน และส่งต่อแนวคิดไปยังเพื่อนพนักงาน ขณะที่เยาวชนซึ่งอยู่ในพื้นที่ก็ได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรที่ชุมชนของตนมีอยู่ เกิดความภาคภูมิใจและอยากจะปกป้องทะเลและผืนป่าให้คงความสมบูรณ์เอาไว้จากวันนี้ไปถึงอนาคต
SeaYouTomorrow ทะเลวันพรุ่งนี้อยู่ในมือคุณ
“SeaYouTomorrow หรือในชื่อไทยคือ ทะเลวันพรุ่งนี้อยู่ในมือคุณ เกิดจากการที่สิงห์ คอร์ปอเรชั่น บริษัทแม่ได้เน้นเรื่องความยั่งยืนเป็นหลัก และได้มุ่งทำเรื่องน้ำเพราะมีธุรกิจเกี่ยวกับน้ำ ขณะที่สิงห์ เอสเตท ซึ่งเป็นบริษัทลูก มีลักษณะธุรกิจที่มีพื้นที่อยู่ติดกับทะเล จึงได้ทำเรื่องทะเล โดยก่อนโควิด-19 ที่โรงแรมนี้มีลูกค้า 90 เปอร์เซ็นต์ตลอดปี คือประมาณ 127,000 คน หากดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนไปด้วยจะสร้างผลกระทบเชิงบวกได้มหาศาล โครงการ SeaYouTomorrow จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้และมุ่งหวังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของภาคประชาชนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยการสร้างองค์ความรู้” ศิริธร ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโครงการอันเป็นที่มาของค่ายนี้
นอกจากโรงแรมทราย พีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ จะดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับธรรมชาติ และได้รับประกาศนียบัตรชดเชยคาร์บอน มีนโยบายการจัดการของเสียและขยะพลาสติก การบริหารจัดการน้ำและน้ำทิ้ง กระจายรายได้สู่ชุมชนด้วยการใช้เรือหางยาวหรือเรือท้องถิ่นเป็นเรือท่องเที่ยว ฯลฯ ยังได้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ทางทะเล Marine Discovery Center ซึ่งได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์และอนุบาลปลาการ์ตูนก่อนปล่อยคืนสู่ท้องทะเล และเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้อย่างไม่จำกัดเฉพาะแขกของโรงแรม มากไปกว่านั้นยังสามารถเดินเท้าไปเรียนรู้เรื่องป่าชายเลนซึ่งอยู่ติดกับโรงแรม และเป็นป่าชายเลนแห่งเดียวของเกาะพีพีอีกด้วย
เรียนรู้จากห้องเรียนธรรมชาติ
ด้วยภูมิทัศน์และความพร้อมของสถานที่ซึ่งสามารถสร้างการเรียนรู้ได้หลายกระบวนการ จึงเอื้อต่อการออกแบบกิจกรรม SeaYouTomorrowCamp โดยมีอเล็กซ์ เรนเดลล์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีอีซี เอชคิว จำกัด ผู้ก่อตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย (Environmental Education Centre หรือ EEC) และ น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ นักวิชาการคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานมูลนิธิโลกสีเขียว เป็นผู้ร่วมกันออกแบบค่ายและเป็นวิทยากร ให้สอดคล้องกับผู้ร่วมกิจกรรมทั้งสองกลุ่ม
โดยผู้ร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ในหัวข้อ ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)’ เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change กระบวนการเกิดก๊าซเรือนกระจก เรียนรู้เรื่องกรีนและบลูคาร์บอน และคาร์บอนฟุตพรินต์ พร้อมทั้งออกสำรวจพื้นที่จริงเพื่อให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องของคาร์บอนในระบบนิเวศธรรมชาติกับ Climate Change ด้วยการวัดค่าน้ำทะเล การเก็บตัวอย่างดินในป่าชายเลนเพื่อศึกษาเรื่องกรีนและบลูคาร์บอนในระบบนิเวศ
ศูนย์เรียนรู้ทางทะเล Marine Discovery Center คือห้องเรียนที่ผู้ร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้เรื่องการสร้างความยั่งยืนท่ามกลางปัญหา Climate Change ปัญหาภัยคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์ทะเล และทำกิจกรรม Info hunt บน worksheet เกี่ยวกับความหลากหลายของพันธุ์ปลาการ์ตูน ฟังการบรรยายจากวิทยากรเรื่องฉลามและอ่าวมาหยา ก่อนเดินทางไปสำรวจเส้นทางไปอ่าวโละลานะ เพื่อเรียนรู้เรื่องปัญหาขยะในทะเลและวิถีชีวิตของชาวเลในชุมชน และเชื่อมโยงเรื่องความยั่งยืนกับการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ รวมถึงสำรวจทรัพยากรทางทะเลที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ในเกาะไผ่ และการนำเสนอกิจกรรมจากผู้ร่วมกิจกรรม พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างผู้บริหาร และเยาวชนในชุมชนผู้เข้าอบรมในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นการปิดท้ายกิจกรรม
ส่งต่อแนวคิดรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านการสร้าง Change Agent
กิจกรรมที่ EEC ออกแบบขึ้นสำหรับการจัดค่ายครั้งนี้ ไม่ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับกลุ่มผู้บริหารและเยาวชนแต่เพียงอย่างเดียว ศิริธร ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของ SeaYouTomorrowCamp ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ว่า “ต้องการสร้างความตระหนักรู้ และให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญว่าทุกสิ่งบนโลกนี้ล้วนเชื่อมโยงกันเป็นระบบนิเวศ และเกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อนำความรู้ดังกล่าวไปต่อยอด สร้างความสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อม การนำความรู้ที่ได้รับจากในค่ายไปปฏิบัติจริง จะทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเข้าใจว่าการดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องยาก และทำให้เกิดความภูมิใจใน ‘คุณค่า’ ที่สามารถสร้างได้จากตัวเอง และยังสามารถส่งต่อไปถึงคน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้อีกด้วย”
ด้าน น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ได้กล่าวถึงความสำคัญในการที่องค์กรธุรกิจให้ความสำคัญกับการแก้โจทย์ใหญ่ของโลกในเรื่องสิ่งแวดล้อมว่า “หลังจากการประชุม COP26 ทุกคนตื่นตัวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ค่าย SeaYouTomorrow เป็นตัวอย่างของเจตนารมณ์ที่องค์กรเลือกจะจุดประกายให้กับเด็กๆ ว่าเขาจะกลับไปทำอะไรได้บ้าง และผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจในการตัดสินใจกำหนดทิศทางขององค์กรจะเอาอะไรไปปรับใช้กับงาน จากวันนี้ไปถึงอีกห้าปีสิบปี อย่างน้อยเรามีองค์กรที่แข็งแกร่งทั้งทรัพยากร บุคลากร และองค์ความรู้เพียงพอที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนไปด้วยกัน”
เช่นเดียวกับอเล็กซ์ เรนเดลล์ ซึ่งผ่านการออกแบบกิจกรรมของ EEC มามากกว่า 100 ค่าย ได้ให้มุมมองเรื่องการสร้างทัศนคติเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงว่า “เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระยะยาวคือการเปลี่ยนแปลงที่ต้นเหตุ คือเปลี่ยนที่จิตใจ สิ่งแวดล้อมแก้ปัญหาได้ด้วยการเปลี่ยนมิติทางจิต สร้างกระบวนการให้เขามีความหวงแหน กล้าออกมาเผชิญหน้า กล้าออกมาปกป้อง และถ่ายทอดสู่สาธารณะ สิ่งที่เราต้องการคือการสร้างความสามารถในการเป็นตัวแทนมาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ความสามารถในการจัดการเรื่องความยั่งยืนในอนาคต”
ค่ายเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นนโยบายที่สิงห์ เอสเตทตั้งใจจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พนักงานองค์กรในระดับต่างๆ ได้มีโอกาสเข้าร่วม รวมทั้งผลิตสื่อเผยแพร่ให้พนักงานที่ไม่มีโอกาสเข้าร่วมค่ายได้เรียนรู้เรื่องนี้ไปด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงหัวใจการดำเนินธุรกิจขององค์กร ที่นอกจากกิจกรรมนี้แล้ว ยังดำเนินงานด้านความยั่งยืนในหลายมิติ อาทิ โครงการ Singha Estate Net Zero ลดขยะที่สร้างภาระให้แหล่งฝังกลบ (landfill) การเตรียมสร้างศูนย์เรียนรู้ทางทะเลที่เกาะสมุย ซึ่งสนับสนุนชุมชนให้สามารถดูแลทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนได้ และการจับมือกับโครงการวน โดยทีพีบีไอ ร่วมกันจัดการขยะพลาสติกภายในพื้นที่ก่อสร้าง รวมทั้งการสนับสนุนเทศกาลหนังสั้น ‘โลกป่วย เราต้องเปลี่ยน’ Changing Climate, Changing Lives (CCCL) Film Festival ด้วยเชื่อว่าทุกคนคือพลังของอนาคต