"กล้องฟิล์ม" อุปกรณ์ถ่ายภาพจากยุคแอนะล็อก กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยเสน่ห์ของกล้องฟิล์มที่ให้ความสวยงามในมุมมองที่แตกต่างจากกล้องดิจิทัลในปัจจุบัน สำหรับคนที่อยากเข้าสู่วงการกล้องฟิล์ม หรือกำลังคิดจะซื้อกล้องฟิล์มตัวแรก ควรรู้อะไรบ้าง และต้องเตรียมพร้อมอย่างไร ไทยรัฐออนไลน์นำข้อมูลเบื้องต้น สำหรับมือใหม่ฝากกัน

5 ข้อควรรู้ สำหรับมือใหม่หัดถ่าย "กล้องฟิล์ม"

1. ทำความรู้จัก "กล้องฟิล์ม" คืออะไร?
กล้องฟิล์ม คือ กล้องถ่ายรูปในยุคก่อนที่จะมีกล้องดิจิทัลอย่างที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แต่แตกต่างกันที่หลักการทำงานของ "ตัวรับภาพ" โดยกล้องฟิล์มจะมีฟิล์มเป็นวัสดุรับภาพ ภาพที่ถ่ายจะมีจำนวนจำกัด และต้องนำฟิล์มไปล้างในห้องมืดถึงจะได้เห็นรูปถ่ายในกล้อง แตกต่างกับกล้องดิจิทัลยุคใหม่ ที่สามารถรับภาพเข้าระบบผ่านเมมโมรี่การ์ดทันทีที่ถ่ายเสร็จ หากไม่ชอบ ก็สามารถลบทิ้ง แล้วกดถ่ายใหม่ได้ทันที

กล้องฟิล์มมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใดในการแบ่งประเภท เช่น หากเราชมภาพยนตร์คลาสสิกเก่าๆ ก็จะเห็นตัวละครถือกล้องฟิล์มใหญ่ๆ ดูเหมือนมี 2 เลนส์ ที่เรียกว่า "Twin Lens Reflex" (กล้องสะท้อนภาพเลนส์คู่) เมื่อขยับเข้ามาใกล้ยุคปัจจุบันหน่อย ก็อาจเป็นกล้องกล้องฟิล์ม RF (Rang Finder) และ SLR (Single Lens Reflex Camera) ที่ใช้ฟิล์มขนาด 35 มม. ซึ่งเป็นประเภทที่ค่อนข้างได้รับความนิยม

ส่วนกล้องฟิล์มที่มือใหม่หลายคนเลือกใช้ ก่อนจะขยับไปเล่นกล้องคลาสสิกที่ต้องปรับหลักการทำงานของกล้องต่างๆ ด้วยตัวเอง ก็คือ "กล้องฟิล์มคอมแพค" (Compact Camera) ซึ่งเป็นกล้องขนาดเล็ก ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องปรับอะไรมากมาย และกล้องที่เรียกว่า "กล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้ง" ซึ่งออกแบบมาให้ใช้งานง่าย น้ำหนักเบา ราคาหลักร้อย เหมาะสำหรับพกติดตัว และถ่ายให้ฟิล์มหมดม้วน แค่ครั้งเดียวก็ทิ้งได้เลย รวมไปถึง "กล้องฟิล์ม 3 มิติ" ที่เน้นดีไซน์เท่ พกพาง่าย และใช้งานไม่ยาก

...

2. ฟิล์มถ่ายภาพมีกี่แบบ ควรเลือกใช้แบบไหน?
ฟิล์มถ่ายภาพ
 ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการถ่ายกล้องฟิล์ม เมื่อไม่มีฟิล์มถ่ายภาพ ก็จะไม่สามารถถ่ายรูปได้ ดังนั้น การเลือกฟิล์มให้เหมาะสมเป็นเรื่องที่มือใหม่ทุกคนควรรู้

หากจะแบ่งประเภทของฟิล์มถ่ายภาพแบบง่ายๆ ตามการใช้งาน ก็คือ "ฟิล์มสี" และ "ฟิล์มขาว-ดำ" ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า ตัวเองอยากถ่ายภาพด้วยฟิล์มแบบไหน ฟิล์มสี หรือขาว-ดำ หลังจากนั้นจะต้องเลือกค่า ISO ที่มาพร้อมกับฟิล์มถ่ายภาพ ซึ่งจะมีการระบุค่า ISO ไว้บนกล่องฟิล์มถ่ายภาพเลย

ISO ย่อมาจาก International Organisation for Standardisation เป็นค่าความไวแสงของฟิล์ม หลักง่ายๆ คือ หากถ่ายในที่แสงน้อย/ที่มืด ให้ใช้ฟิล์มที่มีค่า ISO สูง และ หากถ่ายในที่แสงจ้า/ มีแดดเยอะ ให้ใช้ฟิล์มที่มีค่า ISO ต่ำ 

  • ISO 100 : เหมาะสำหรับถ่ายภาพกลางแจ้ง แดดจัดๆ
  • ISO 200 : เหมาะสำหรับถ่ายภาพกลางแจ้ง มีแสงแดดรำไร
  • ISO 400 : เหมาะสำหรับถ่ายภาพในที่ร่ม แดดไม่จ้ามาก
  • ISO 800 : เหมาะสำหรับถ่ายภาพในที่ร่ม ช่วงเย็นๆ ใกล้ค่ำ แสงน้อย
  • ISO 1600 : เหมาะสำหรับถ่ายภาพกลางคืน

สำหรับค่า ISO ที่ได้รับความนิยมสำหรับถ่ายกล้องฟิล์มในกลางวัน จะเป็น ISO 200 และ ISO 400 โดยเมื่อไปเลือกซื้อฟิล์มถ่ายภาพ ก็จะเลือกยี่ห้อของฟิล์ม ตามด้วยค่า ISO เช่น Fuji Japan 100, Kodak Gold 200, Kodak Color Plus 200, Agfa Vista 200, Fuji Superia X-Tra 400 เป็นต้น

ส่วนใครอยากรู้ว่าฟิล์มถ่ายภาพยี่ห้อไหน ถ่ายออกมาแล้วโทนสีเป็นแบบใด สามารถดูได้ง่ายๆ ผ่านแฮชแท็กชื่อฟิล์ม บน Instagram ที่บรรดาคนรักกล้องฟิล์มโพสต์ไว้บนโลกออนไลน์ เพื่อดูเป็นตัวอย่าง เช่น #KodakGold200 เป็นต้น

3. ตัวอย่างคำศัพท์เกี่ยวกับกล้องฟิล์มที่ควรรู้

  • ฟิล์มบูด หมายถึง ฟิล์มที่หมดอายุแล้ว เมื่อนำมาถ่ายสีอาจจะเพี้ยน 
  • ฟิล์มหนัง หมายถึง ฟิล์มที่ใช้สำหรับถ่ายภาพยนตร์ 
  • กลักฟิล์ม หมายถึง ช่องใส่ม้วนฟิล์ม
  • หนามเตย หมายถึง ส่วนที่ยึดขอบฟิล์มไว้
  • ตัวนับฟิล์ม หมายถึง ตัวแสดงผลจำนวนรูปที่ถ่าย
  • โหลดฟิล์ม หมายถึง การนำฟิล์มใส่ลงไปในกลักของกล้องถ่ายรูป
  • ล้างฟิล์ม หมายถึง การนำม้วนฟิล์มออกจากกล้อง แล้วนำไปให้ร้านล้างเพื่อจะได้เห็นรูปที่เราถ่ายทั้งหมด
  • สแกนฟิล์ม หมายถึง การนำฟิล์มที่ล้างแล้ว สแกนเป็นไฟล์ภาพดิจิทัล เพื่อสามารถดูได้ผ่านคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน

...

4. ค่าใช้จ่ายเมื่อถ่ายกล้องฟิล์ม
ปัจจุบันนี้ เทรนด์กล้องฟิล์มไม่เพียงได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น หรือคนทั่วไปเพียงเท่านั้น แต่เหล่าคนดังหลายคนก็หันมาเล่นกล้องฟิล์ม โพสต์ภาพฟิล์มลงบนโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ ก็ยิ่งทำให้กล้องฟิล์มได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่มือใหม่ควรรู้ไว้ก็คือ การถ่ายกล้องฟิล์มในแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าฟิล์ม, ค่าล้างฟิล์ม, ค่าแบตเตอรี่กล้อง แตกต่างกับกล้องดิจิทัลที่ซื้อมาเพียงครั้งเดียว ก็สามารถใช้งานโดยที่ส่วนใหญ่ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มแล้ว 

ราคาฟิล์มถ่ายภาพแต่ละแบบมีราคาแตกต่างกัน ฟิล์มที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่ ราคาเริ่มต้น ม้วนละ 200 บาทขึ้นไป โดย 1 ม้วน จะสามารถถ่ายได้จำนวน 36 รูป

เมื่อถ่ายเสร็จแล้ว ต้องนำไปล้างที่ร้านล้างฟิล์ม ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 100-300 บาท บางร้านอาจมีราคาสูงกว่านั้น ในขณะที่ฟิล์มบางประเภท เช่น ฟิล์มหนัง ก็อาจมีค่าล้างที่แพงกว่าฟิล์มทั่วไป (ควรสอบถามค่าบริการจากทางร้านก่อน)

หลังจากนั้น ก็ต้องรอทางร้านล้างเสร็จ อาจใช้เวลาเพียง 1-3 ชั่วโมง หรือนาน 1-3 วัน ขึ้นอยู่กับทางร้านว่ามีคิวล้างฟิล์มภาพถ่ายมากน้อยแค่ไหน (ช่วงเทศกาลและวันหยุด คิวอาจนานกว่าปกติ) ปัจจุบันหลายๆ ร้านมีบริการสแกนฟิล์มถ่ายภาพเป็น "ไฟล์ภาพดิจิทัล" แล้วส่งให้เราทางอีเมล โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปรับฟิล์มที่ร้านด้วยตัวเอง

หมายเหตุ : เนื่องจากกล้องฟิล์มเป็นกล้องที่ไม่มีการผลิตใหม่แล้วในปัจจุบัน กล้องที่วางขายในท้องตลาดล้วนเป็นกล้องฟิล์มมือสอง บางครั้งระหว่างการใช้งาน กล้องอาจมีปัญหาต้องซ่อมแซม ก็จะมีค่าซ่อมที่บวกเพิ่มไปอีก

...

...

5. ซื้อกล้องฟิล์มได้ที่ไหน ราคาเท่าไร?
นอกจากพิกัดร้านขายกล้องฟิล์มที่มีหน้าร้านแล้ว ปัจจุบันหลายคนนิยมซื้อกล้องฟิล์มผ่านออนไลน์ เช่น เพจเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เว็บไซต์ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยต้องเลือก "ซื้อกล้องฟิล์ม" จากร้านที่น่าเชื่อถือ มีรีวิว และมีราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพของกล้องฟิล์ม

ส่วนใหญ่กล้องฟิล์มจะอยู่ที่ ราคาประมาณ 2,000-5,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเภท รุ่น และสภาพการใช้งาน (บางคนอาจซื้อกระเป๋าใส่กล้อง และสายคล้องคอกล้องฟิล์มเพิ่มเติม) หากเป็นกล้องฟิล์มที่สภาพการใช้งานยังสมบูรณ์ มีตำหนิเพียงเล็กน้อย ราคาก็จะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกล้องฟิล์มรุ่นฮิต แบรนด์ดัง เป็นที่ต้องการของนักสะสม ก็จะมีราคาหลักหลายหมื่นบาทเลยทีเดียว

สำหรับมือใหม่ที่อยากหัดถ่ายกล้องฟิล์ม ลองศึกษาข้อมูล เลือกกล้องฟิล์มที่คิดว่าเข้ากับตัวเอง มีราคาเหมาะสมกับกำลังทรัพย์และการใช้งาน เลือกโทนสีฟิล์มถ่ายภาพที่ชอบ ลองหัดถ่าย หัดสังเกตแสง ฯลฯ เพียงเท่านี้ทุกคนก็สามารถสนุกกับการถ่ายกล้องฟิล์มได้ แถมยังได้ความรู้สึกใหม่ๆ ที่ต้องรอคอยจนกว่าจะฟิล์มหมดม้วน ถึงจะนำไปล้าง และได้เห็นผลงานการถ่ายภาพของตัวเอง