หลายคนคงเคยผ่านประสบการณ์ของความรู้สึกที่ว่า ตัวเองเริ่มจะมีรูปร่างอวบๆ แล้ว จากการขยับตัวทำกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ค่อยคล่องตัว เสื้อผ้าที่เคยหยิบใส่ง่ายเริ่มต้องขยับไซส์ขึ้น รวมถึงเสียงสะท้อนจากคนรอบข้างที่เริ่มกระเซ้าว่าจะขยันทำน้ำหนักเกินเบอร์ไปไหน จนหลายครั้งอาจเกิดคำถามกับตัวเองว่า นี่แค่ “อวบระยะสุดท้าย” หรือขยับไป ”อ้วนระยะเริ่มต้น” ไปแล้วกันแน่?
การมีรูปร่างที่แลดู “อวบ” หรือ “อ้วน” เป็นเส้นบางๆ ที่เหมือนจะฟันธงได้ยาก แต่ก็มีเกณฑ์ชี้วัดหรือวิธีการที่สามารถช่วยให้เราระบุพิกัดของความ “อ้วน” หรือการมี “ภาวะน้ำหนักเกิน” ได้ ให้เราระมัดระวังการใช้ชีวิตไม่ให้ถลำลึกจนกระทั่ง กว่าจะพบว่าเข้าสู่ภาวะ “โรคอ้วน” ก็เลย “อวบ” ระยะสุดท้ายไปไกลโข...
รู้ได้อย่างไรว่า..แค่..อวบ หรือ อ้วน?
“การประเมินสภาพร่างกายว่ามีภาวะน้ำหนักเกิน หรือเข้าข่ายอ้วน สามารถคำนวณได้จากดัชนีมวลกาย หรือ BMI: Body Mass Index โดยใช้น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร²) เพื่อตรวจสอบภาวะไขมันและความอ้วน รวมถึงดูอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ซึ่งโดยทั่วไปหากดัชนีมวลกายเกิน 25 ขึ้นไปจะถือว่าเริ่มมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน แต่หากตัวเลขถึงระดับ 30 ขึ้นไปจะถือว่าเป็นโรคอ้วน” นพ.วรพล สุขีวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณ กล่าวและอธิบายว่า “แต่ในคนไทยหรือคนเอเชียจะใช้ตัวเลขน้อยกว่านั้น คือถ้าค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 23 ขึ้นไป ก็ถือว่าเริ่มมีความเสี่ยงที่เกิดน้ำหนักตัวเกิน และมีความเสี่ยงสูงที่จะพัฒนาไปสู่โรคอ้วนได้ ดังนั้นการทำให้ร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยมีดัชนีมวลกายอยู่ในระดับไม่เกิน 22 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งกับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพในระยะยาว”
นอกจากนี้ การวัดขนาดรอบเอวก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ประเมินภาวะโรคอ้วนที่สามารถทำได้ง่ายๆ โดยหากตัวเลขรอบเอวของผู้ชายวัดออกมาแล้วเกินกว่า 35 นิ้ว และผู้หญิงเกินกว่า 31 นิ้ว ก็แสดงถึงการมีภาวะ “อ้วนลงพุง” รวมถึง จะต้องมีการตรวจในเชิงลึกจากการตรวจอัตราส่วน (%) ไขมันในร่างกาย ไขมันในเลือด และน้ำตาลสะสมในเลือดก็จะเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า เราอยู่ในภาวะโรคอ้วนหรือเปล่า?
เส้นทางของโรคอ้วน...จุดเริ่มต้นของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
หลายคนอาจไม่รู้และนึกไม่ถึงว่า สาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs นั้น ไม่ได้เกิดจากการเลือกใช้ชีวิตประจำวัน แต่ยังมีสาเหตุหลายอย่าง ทั้งพันธุกรรม โรคประจำตัว ความผิดปกติของฮอร์โมน สิ่งแวดล้อม ต่างๆ ที่เป็นสาเหตุที่แท้จริง ทำให้เกิดโรคอ้วน ดังนั้นความอ้วนจึงไม่ใช่แค่ภาวะหนึ่ง แต่เป็น โรคเรื้อรัง ที่ควรได้รับการรักษาและดูแลจากแพทย์อย่างเหมาะสม โดยโรคอ้วนยังนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ตามมา ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลของดัชนีมวลกายโดยองค์การอนามัยโลกพบว่า ประชากรในเอเชียที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 23 จะมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นนั่นหมายความว่า ถ้าเรามีภาวะน้ำหนักเกินก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
ไม่เพียงเท่านี้ ภาวะน้ำหนักเกินยังเป็นปัจจัยเสี่ยงในลำดับต้นๆ ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่จะเกิดหรือตามมาได้อีก เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หรือแม้แต่โรคนิ่วในถุงน้ำดี รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับปัญหาในการหายใจ เช่น หอบหืด โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ (Sleep Apnea) ซึ่งทางแพทย์ให้ความสำคัญมากอีกโรคหนึ่ง และโรคหลอดเลือดสมองซึ่งอาจจะตีบหรือแตกทำให้เสียชีวิตได้
ในผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนยังมีปัจจัยเสี่ยงในด้านฮอร์โมน เช่น ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS) อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ภาวะมีบุตรยาก หรือในบางกรณีการมีภาวะน้ำหนักเกินยังส่งผลให้ผู้ป่วย มีปัญหาทางด้านสังคม เช่น ขาดความมั่นใจ ภาวะซึมเศร้า หรือแม้แต่สุขภาพทางเพศที่ถดถอย เป็นต้น
“การมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ไม่ออกกำลังกาย นอนดึก มีความเครียดอยู่เสมอ เป็นสาเหตุสำคัญของการนำไปสู่การมีภาวะน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน ที่ไม่เพียงแต่จะพ่วงความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมา แต่ยังรวมถึงโรคซึมเศร้าอีกด้วย” นพ.วรพล กล่าวเสริม
ลดอ้วน...ต้องให้เวลา และ ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต
น้ำหนักตัวที่เริ่มไต่ระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาดูแลตนเองอย่างจริงจัง ก่อนที่ดัชนีมวลกายจะทะลุพิกัด หรือรอบเอวจะเพิ่มขึ้นจนเอาไม่อยู่ จนสุดท้ายกลายเป็นภาวะน้ำหนักเกิน การควบคุมหรือลดน้ำหนักอย่างจริงจังจำเป็นต้องเริ่มทำทันที ความตั้งใจ และมีวินัยเป็นสิ่งสำคัญของการควบคุมหรือลดน้ำหนัก
นพ.วรพล ให้คำแนะนำว่า “เมื่อเริ่มเข้าสู่โหมดของการควบคุมหรือลดน้ำหนัก การหาสาเหตุที่แท้จริงของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการปรับการรับประทานอาหารสามารถช่วยในการควบคุมน้ำหนักได้ สำหรับคนที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน แพทย์จะแนะนำให้ลดน้ำหนักให้ได้อย่างน้อย 5% ของน้ำหนักตัวตั้งต้น ซึ่งมีผลในการปรับให้โรคร่วมอื่นๆ ดีขึ้นได้ เช่น ควบคุมความดันโลหิตหรือระดับน้ำตาลในกระแสเลือด เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำในลำดับต่อมาคือ การปรับพฤติกรรมซึ่งเป็นสาเหตุของการมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น การควบคุมอาหารโดยพิจารณาจากปริมาณแคลอรีต้องทำอย่างเคร่งครัด ลดการรับประทานเครื่องดื่มและอาหารที่มีน้ำตาลสูง ลดอาหารรสหวาน มัน เค็ม รวมถึงอาหารประเภททอดหรือใช้น้ำมันในการปรุงมาก เลือกรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย ผัก ผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง ซึ่งจะช่วยให้อิ่มนานและการขับถ่ายดีขึ้น ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน หรือรวมแล้ว ให้ได้ 150 นาทีต่อสัปดาห์อย่างสม่ำเสมอ”
“หมออยากให้มองผู้ที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว หรือภาวะโรคอ้วนอย่างเปิดใจ อย่ามองว่าเป็นเพราะความไม่มีวินัย หรือการไม่พยายามออกกำลังกาย เพราะความจริงแล้วมีหลายคนที่มีความตั้งใจและความพยายามในการควบคุมน้ำหนัก แต่ไม่สามารถลดน้ำหนักให้ถึงเป้าหมายได้ เพราะไม่ใช่แค่เขาน้ำหนักเพิ่ม แต่เพราะภาวะอ้วนเป็นโรค ซึ่งสามารถเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อนำไปสู่กระบวนการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัย ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข” นพ.วรพล กล่าวทิ้งท้าย
การควบคุมและลดน้ำหนักเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ความตั้งใจ ค่อยเป็นค่อยไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ปัญหาน้ำหนักตัว กลายเป็นปัญหาน้ำหนักเกิน แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ด้วยการดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้เดินไปจนถึงอวบระยะสุดท้าย ที่พร้อมจะขยับเป็นโรคอ้วนระยะเริ่มต้นได้ตลอดเวลา.