เคยสงสัยไหมว่าทำไมเราถึงอ้วนทั้งที่ก็ไม่ได้กินเยอะ หรือควบคุมอาหารยังไงก็ไม่ผอมลงสักที เพราะความจริงแล้วความอ้วนไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาหารการกินเสมอไป
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สิ่งที่ทำให้อ้วน นอกจากอาหารแล้ว ฮอร์โมน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อน้ำหนักตัว มีฮอร์โมนหลายชนิดที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย เช่น การเผาผลาญ ความอยากอาหาร การย่อยอาหาร และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักตัว ซึ่งส่งผลตั้งแต่ความรู้สึกหิวจนถึงกระบวนการสะสมไขมัน ดังนั้น หากฮอร์โมนเหล่านี้ไม่สมดุลก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราอ้วนได้
ฮอร์โมนจึงไม่ใช่เป็นเพียงสารเคมีจากต่อมไร้ท่อที่คอยควบคุมการทำงานของร่างกายให้สมดุลเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับน้ำหนักตัวของเรา
ฮอร์โมนอะไรบ้างที่มีผลต่อน้ำหนักตัว...
อย่างแรก คอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด คอร์ติซอลจะถูกกระตุ้นให้หลั่งมากขึ้นเมื่อเราเครียด เพราะมันคือฮอร์โมนที่มีเพื่อต่อสู้กับความเครียดและฟื้นฟูร่างกาย ฮอร์โมนตัวนี้เป็นตัวกระตุ้นความหิวโหย เพื่อให้เรากินอาหารเข้าไปเป็นพลังงานให้กับร่างกาย ปลุกสมองให้ตื่นตัว โดยเฉพาะอาหารพลังงานสูง เพราะฉะนั้น เมื่อไรที่เรารู้สึกเครียด ร่างกายจะถูกสั่งการให้รู้สึกหิวและอยากหาอะไรที่หวานๆ มันๆ หรืออาหารจำพวกแป้งมากินมากขึ้น จนเป็นสาเหตุที่ทำให้อ้วนขึ้นโดยไม่รู้ตัว
...
อย่างที่สอง เลปติน (Leptin) หรือฮอร์โมนความอิ่ม ทำหน้าที่ควบคุมความอยากอาหาร ซึ่งหากร่างกายมีภาวะต้านฮอร์โมนเลปติน ฮอร์โมนนี้ก็จะไม่สามารถส่งสัญญาณไปยังสมองได้ ทำให้เรารู้สึกหิวตลอดเวลา และกินเท่าไรก็ไม่รู้จักอิ่ม จึงนำมาซึ่งโรคอ้วนและน้ำหนักเกินในที่สุด โดยภาวะการขาดฮอร์โมนเลปตินนั้นเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้น หากเรายิ่งนอนน้อยก็จะยิ่งอยากกินอาหารเพิ่มมากขึ้น
อย่างที่สาม เกรลิน (Ghrelin) เป็นฮอร์โมนความหิวที่ถูกหลั่งออกมาจากเซลล์กระเพาะอาหาร ช่วยกระตุ้นความหิว ทำให้เรารู้สึกอยากกินอาหารต่างๆ เกรลินจะหลั่งมากเป็นพิเศษในขณะที่เรารู้สึกเครียดหรือวิตกกังวล ทำงานหนัก นอนดึกหรือพักผ่อนน้อย ส่งผลให้เรารู้สึกหิวง่ายและอยากกินนู่นกินนี่ตลอดเวลา ทั้งๆที่กินจนอิ่มแล้ว
อย่างที่สี่ โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) เป็นฮอร์โมนทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตและการทำงานของร่างกาย ช่วยฟื้นฟูและซ่อมแซมกล้ามเนื้อขณะนอนหลับลึก ที่สำคัญคือช่วยในการเผาผลาญไขมัน หากนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะขาดโกรทฮอร์โมน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งอินซูลินมากขึ้น ทำให้สะสมไขมันมากขึ้น รวมทั้งระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานช้าลง ความอ้วนจึงมาเยือนในที่สุด
อย่างที่ห้า ไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid Hormone) ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่ผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด ช่วยควบคุมการเผาผลาญพลังงาน ระดับอุณหภูมิของร่างกาย ระดับไขมันในเลือด อารมณ์ความรู้สึก รวมถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ผลิตฮอร์โมนออกมาได้น้อย ความสามารถในการเผาผลาญพลังงานก็จะต่ำกว่าปกติ น้ำหนักตัวก็จะเพิ่มขึ้นได้ง่าย อาการอ้วนแบบบวมฉุก็จะตามมา
รู้จักฮอร์โมนที่ทำให้อ้วนขนาดนี้แล้ว คงต้องหมั่นสังเกตร่างกายของตนเอง หากพยายามควบคุมอาหารแล้วแต่น้ำหนักยังไม่ลดลง การปรับพฤติกรรมบางอย่างเพื่อเสริมสร้างสมดุลให้กับฮอร์โมนอาจเป็นอีกหนึ่งทางออก
...
เพราะหากต่อมผลิตฮอร์โมนตัวใดตัวหนึ่งบกพร่องไป ย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของต่อมอื่นๆด้วย โดยเฉพาะระบบเผาผลาญและไขมันสะสมในร่างกายได้ .