ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่นั้นสมองมนุษย์ไม่เพียงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่ยังคาดการณ์พฤติกรรมของผู้อื่นด้วย การจ้องมองคือสัญญาณที่ทรงพลังและสำคัญมากในการสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ในการถ่ายทอดความตั้งใจและแจ้งการตัดสินใจ แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อหุ่นยนต์และมนุษย์จ้องมองหน้ากัน

การจ้องมองของหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ซึ่งออกแบบจากพื้นฐานร่าง กายและการเคลื่อนไหวคล้ายมนุษย์จะมีอิทธิพลต่อวิธีที่ผู้คนใช้เหตุผลต่างๆในการตัดสินใจทางสังคมหรือไม่ ล่าสุด ทีมวิจัยจากสถาบันเทคโน โลยีแห่งอิตาลี เผยผลวิจัยจากโครงการ “InStance” ที่มีอาสาสมัคร 40 คนเข้าเล่นเกมเชิงกลยุทธ์กับหุ่นยนต์ iCub ผู้เล่นต้องตัดสินใจว่าจะให้รถขับตรงไปยังรถคันอื่น หรือเบี่ยงเพื่อหลีกเลี่ยงการชนกับหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่เป็นฝั่งตรงข้าม อาสาสมัครมีการมองหุ่นยนต์ บางครั้งก็มองย้อนกลับไป บางทีก็เบือนหน้า ในแต่ละสถานการณ์ นักวิจัยได้รวบรวมพฤติกรรมและกิจกรรมของระบบประสาทผ่านการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง ซึ่งทีมพบว่าการจ้องมองระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทในมนุษย์และมีผลต่อกระบวนการตัดสินใจ

...

ผลวิจัยชี้ว่าสมองมนุษย์ประมวลผลการจ้องมองของหุ่นยนต์เป็นสัญญาณทางสังคม สัญญาณนั้นส่งผลต่อวิธีที่มนุษย์ตัดสินใจ กลยุทธ์ที่ปรับใช้ในเกม และการตอบสนองของมนุษย์เอง การจ้องมองกันกับหุ่นยนต์ส่งผลต่อการตัดสินใจ พบว่ามนุษย์ตัดสินใจได้ช้ากว่ามากในเกมแข่งขัน ดังนั้น เมื่อเข้าใจว่าหุ่นยนต์กระตุ้นการปรับตัวทางสังคม ก็จะช่วยให้นักออกแบบหุ่นยนต์ตัดสินใจได้ว่าสภาพแวดล้อม และเงื่อนไขต่างๆที่รายล้อมเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ว่าแบบไหนที่เป็นที่ต้องการและเป็นประโยชน์สำหรับมนุษย์ และแบบไหนที่ไม่ควรเกิดขึ้น.