สำหรับผู้ที่ต้องใช้แขนหรือขาเทียมแล้ว หนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการควบคุมอวัยวะเทียมให้เคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกับธรรมชาติของแขนและขา ทว่าแขนขาเทียมส่วนใหญ่มักควบคุมด้วยคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography-EMG) แต่วิธีนี้จะให้การควบคุมอวัยวะเทียมที่จำกัดเท่านั้น

ล่าสุดทีมวิจัยจากมีเดีย แล็บ ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์ หรือเอ็มไอที ในสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาทางเลือกที่เชื่อว่าจะให้การควบคุมแขนขาเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า นั่นคือวิธี Magnetomicrometry (MM) ที่แสดงให้เห็นว่าสามารถวัดกล้ามเนื้อได้รวดเร็วและแม่นยำ หลังจากทดสอบสอดเม็ดแม่เหล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 มิลลิเมตรเข้าไปในเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อน่องไก่งวง โดยให้อยู่ห่างกันอย่างน้อย 3 เซนติเมตร หากอยู่ใกล้กว่านั้นแม่เหล็กมักจะเคลื่อนเข้าหากัน นักวิจัยเผยผลว่า วัดความยาวของกล้ามเนื้อได้อย่างแม่นยำในขณะที่หดตัว โดยสามารถส่งต่อการควบคุมไปยังอวัยวะเทียมได้ภายในชั่วเวลามิลลิวินาที

ทีมเชื่อว่า Magnetomicrometry คือความหวังที่จะมาแทนที่การควบคุมด้วยคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ เพราะเป็นวิธีที่โดดเด่นในคุณภาพสัญญาณสูงเหมาะต่อการเชื่อมโยงระบบประสาทส่วนปลายกับแขนขาเทียม ข้อดีอีกอย่างของ Magnetomicrometry คือรุกรานร่างกายน้อยที่สุด เมื่อใส่เข้าไปในกล้ามเนื้อ เม็ดแม่เหล็กจิ๋วก็จะอยู่กับที่ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ นักวิจัยหวังว่าจะทดสอบวิธีใหม่นี้ในผู้ที่ถูกตัดแขนขาภายในไม่กี่ปีข้างหน้า.

(ภาพประกอบ Credit : MIT Media Lab)